พลเอกธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมืองมรดกโลกอยุธยามีศักยภาพสูงทั้งในด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศในปีที่ผ่านมากกว่า 1,800,000 คน ตนจึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ร่วมถึงความร่วมมือกันของผู้ประกอบการ ร้านค้า ภาคเอกชน และส่วนราชการในการจัดระเบียบพื้นที่ให้มีความเป็นระเบียบร้อย มีความสะอาด สมกับเป็นเมืองมรดกโลก และเร่งรัดการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน การจัดระเบียบรานค้าบริเวณพระวิหารมงคลบพิตร ส่วนในระยะยาว ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บท และการปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งจะมีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นปัจจุบันในระยะ 5-10 ปี ใน 8 แผนงาน ได้แก่ การใช้ที่ดินและกฎหมาย งานโบราณคดีและอนุรักษ์ การพัฒนาสาธารณูปโภค การปรับปรุงชุมชนในเขตโบราณสถาน การพัฒนาสำนักงานและกำลังคน การบริการวิชาการ ท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และมาตรการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ เป็นต้น ทั้งนี้ จะได้เสนอแผนแม่บทดังกล่าวต่อคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกภายในเดือนธันวาคมนี้