คุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กล่าวว่า การจัดทำกรณีศึกษาการใช้ซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจไทยเป็นกิจกรรมที่ซิป้าจัดขึ้นเป็นปีแรก โดย ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษากรณีศึกษาการใช้ซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ของการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้ ตลอดจนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs หันมาใช้ซอฟต์แวร์และเห็นประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ให้มากขึ้น ผ่านการประชาสัมพันธ์และนำเสนอกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ธุรกิจที่ยังไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์
จากผลการศึกษาที่ได้ พบว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจไทยได้มีการนำซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพ/ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพิ่มรายได้ และลดต้นทุน ดังนั้น ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ในธุรกิจไทยโดยเฉพาะ SMEs ซึ่งได้พบว่าธุรกิจไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ SMEs ยังขาดความตระหนักในเรื่องประโยชน์ที่ได้จากซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ ยังมีการสะท้อนความต้องการสนับสนุนมาถึงภาครัฐ ให้มีการสนับสนุนผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยภาครัฐอาจใช้มาตรการจูงใจด้านการเงิน เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการทางภาษีดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ และ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในการศึกษาและวิจัย TDRI ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือน ตุลาคม ซึ่งทำการศึกษาผ่านการทบทวนวรรณกรรม ทั้งจากวารสารวิชาการและวารสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วารสารด้านการตลาด และวารสารด้านเทคโนโลยี และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากธุรกิจและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยในการสัมภาษณ์เชิงลึกนี้ได้สัมภาษณ์ผู้ใช้บริการซอฟต์แวร์จำนวนทั้งสิ้น 5 กรณีศึกษาและเจาะกลุ่มตัวอย่างในหลากหลายธุรกิจ ดังต่อไปนี้
ธุรกิจบริการท่องเที่ยวและโรงแรม การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อบริหารจัดการห้องพัก รวมถึงการจองห้องพักออนไลน์ และการบริหารจัดการงานภายใน (เช่น บัญชี การเงิน และการส่งเสริมการตลาด) ทำให้โรงแรมมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และประหยัดค่าจ้างพนักงานได้ เช่น โรงแรมคอลัมน์ แบงค็อก ที่ใช้บริการซอฟต์แวร์ไทยในการบริหารจัดการ จนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 38.4 ล้านบาทต่อปีจากการมีระบบจองห้องพักออนไลน์และมีข้อมูลในการวางแผนการตลาด รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน 0.4 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังสามารถลดขั้นตอนตรวจสอบด้านบัญชีและการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า ขณะที่มีต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์และบุคลากร IT เฉลี่ยประมาณ 1.7 ล้านบาทต่อปี
ธุรกิจบริการขนส่ง ธุรกิจแท็กซี่นำซอฟต์แวร์มาใช้ในการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ รวมถึงการบริหารจัดการ ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพบริการ รวมทั้ง ลดเวลาวิ่งรถเปล่าและเปลี่ยนกะ จึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น บริษัทออลไทยแท็กซี่ ซึ่งพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้เองเพื่อแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพและคุณภาพของแท็กซี่ จนทำให้สามารถเพิ่มเวลาให้บริการได้มากกว่า 42.8% เมื่อเทียบกับรถแท็กซี่ทั่วไป หรือคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 900 บาทต่อคันต่อวัน นอกจากนี้ ผู้โดยสารได้รับบริการที่ดีขึ้นด้วย ทั้งในด้านความปลอดภัยและความตรงไปตรงมา ขณะที่มีต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์และบุคลากร IT เฉลี่ยประมาณ 162 บาทต่อคันต่อวัน
ธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง การใช้ซอฟต์แวร์ช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเกิดความสะดวกในการจัดการกับข้อมูลวัสดุ การวางแผนการรับงาน การจ่ายค่าจ้างคนงาน รวมถึง การจัดทำบัญชี ทำให้รู้ต้นทุนชัดเจน และทำกำไรได้ดีขึ้น เช่น บริษัท ศุภกร วิศณุศิลป์ นำซอฟต์แวร์บิลค์ (builk) ซึ่งคิดค้นโดยคนไทยและเปิดให้ใช้งานฟรีมาใช้ในกิจการ จนทำให้สามารถลดต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างได้มากกว่า 2% ต่อโครงการ และลดค่าบริหารจัดการ (overhead cost) ได้ประมาณ 0.8% ต่อโครงการ เนื่องจาก ซอฟต์แวร์ช่วยให้บริหารจัดการโครงการให้เสร็จเร็วกว่าแผน 39%
ธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย การใช้ซอฟต์แวร์ในการบริการจัดการทรัพยากรบุคคลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และลดค่าใช้จ่าย เช่น บริษัท เอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด นำซอฟต์แวร์มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เช่น การจัดเก็บประวัติบุคคล และการบริหารจัดการระบบจ่ายค่าตอบแทนบุคคล จนทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการจ่ายค่าจ้างผิดพลาดได้โดยเฉลี่ย 83.4 ล้านบาทต่อปี และลดจำนวนบุคลากรฝ่ายบุคคลและฝ่ายบัญชีได้ 20 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการได้ดีขึ้น เนื่องจาก การรายงานข้อมูลแบบ real time ทำให้บริษัทสามารถจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น ขณะที่มีต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์และบุคลากร IT เฉลี่ยปีละประมาณ 6.7 ล้านบาท
ธุรกิจผลิตสิ่งพิมพ์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งในด้านการผลิต การขาย การจัดซื้อ การบัญชี บุคลากร และคลังวัตถุดิบ จนทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการภายในองค์กรได้ เช่น กลุ่มบริษัทศิริวัฒนา ที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการภายในองค์กร จนทำให้สามารถมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในเวลา 4 ปี ลดต้นทุนการจัดเก็บวัตถุดิบได้ 165 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 200 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้การผลิตสินค้ามีมาตรฐานมากขึ้น ผู้บริหารมีข้อมูลที่ช่วยทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น และลดตำแหน่งพนักงานที่ไม่จำเป็น ขณะที่มีต้นทุนการใช้ซอฟต์แวร์และบุคลากร IT เฉลี่ยปีละประมาณ 7 ล้านบาทติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)คุณปิยะฉัตร สำเร็จกาญจนกิจ ([email protected]) โทรศัพท์ 02 141 7253
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit