สวัสดีค่ะ "ฝน - ขนิษฐา ขวัญอยู่" ค่ะ เป็นผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "อาปัติ" ค่ะ
ฝนจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพค่ะ ตอนนั้นสมัยที่เรียนอยู่ปี 4 ก็ทำโปรเจ็คต์หนังสั้นขี้นมาเรื่องหนึ่งคือเรื่อง "เวลา...รัก" ตอนนั้นมีผู้กำกับฯ กับนักวิจารย์เยอะมากที่ได้ไปดูผลงาน มีการตัดสินชิงรางวัลกันในมหาวิทยาลัยฯ แล้วก็ดันไปเข้าตา ได้หลายรางวัลในปีนั้น แล้วหลังจากนั้นก็ส่งประกวดเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2551) ได้ Popular Vote อันดับ 4 มั้งคะ แล้วก็เลยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทาง GTH ก็เลยมาหยิบเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อเป็นหนังยาวเรื่อง "ความจำสั้น แต่รักฉันยาว"
หลังจากนั้น เราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมผลิตหนังไทย ถูกชักนำโดย "พี่อ๊อด-บัณฑิต ทองดี" กับ "พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว" ตอนนั้นก็เริ่มหนังเรื่องแรกด้วยการทำคอนทินิวเรื่อง "ฝัน หวาน อาย จูบ" ของพี่อ๊อดค่ะ แล้วก็ได้ไปทำผู้ช่วยผู้กำกับ "ความจำสั้น แต่รักฉันยาว" ที่ GTH ต่อจากนั้นเราก็เริ่มมีงานเขียนบทเรื่อยๆ มา แล้วปัจจุบันก็ได้เป็นอาจารย์พิเศษวิชาเขียนบทภาพยนตร์กับวิชาการเล่าเรื่องที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาภาพยนตร์ค่ะความทรงจำแรกเริ่มที่มีต่อภาพยนตร์
คือจริงๆ ฝนชอบดูหนัง แล้วที่บ้านเป็นธุรกิจหนังกลางแปลงด้วย แต่ตอนเด็กๆ มันเหมือนเป็นอะไรคาใจเฉยๆ ว่าบ้านเราฉายหนังกลางแปลง แต่พ่อไม่ให้เราไปดูหนังกลางแปลง มันก็เลยมีความอยากดูอยู่ตลอดอะไรอย่างนี้ คือเราเป็นลูกสาว (หัวเราะ) โตขึ้นมาแล้วเป็นอย่างงี้กระโดกกระเดก หนังกลางแปลงสมัยก่อน มันดึก ถ้าจะได้รับอนุญาตให้ดูเนี่ย ก็จะได้ดูเรื่องแรกที่จะฉายหัวค่ำ ซึ่งมันยังไม่ใช่เรื่องพีคๆ ที่มันสนุก เรื่องที่พีคมันคือประมาณเรื่องที่สามหรือเรื่องสุดท้ายอะไรอย่างงี้ มันก็จะต้องกลับดึก ก็จะมีแต่พวกพี่ชายไปดูกัน พ่อเค้าก็เหมือนหวงห่วงอ่ะค่ะ แล้วมันยิ่งทำให้เรารู้สึกแบบ..พี่ชายมันชอบกลับมาพูดกันแล้วเราไม่รู้เรื่อง จนเราเริ่มคลี่คลายความรู้สึกนี้เมื่อมันมีวิดีโอเข้ามา พ่อก็จะให้เราไปเช่าวิดีโอมาดูที่บ้านประมาณนี้ค่ะ พอโตขึ้นมามันก็เลยเหมือนเป็นเพื่อนไปเลย
ช่วงยุควิดีโอเข้ามานั้น ที่บ้านฝนก็ยังทำธุรกิจหนังกลางแปลงอยู่นะคะ นี่เพิ่งจะหยุดเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วเอง อันนี้คือที่ลพบุรีนะคะ ฝนเป็นคนลพบุรีค่ะ หนังกลางแปลงของเราก็จะฉายที่ประจำ แล้วก็เร่ไปที่ต่างๆ ด้วย แต่ช่วงหลังเราจะไม่ได้เร่ เราจะได้รับจ้างตามงาน แต่ช่วงสมัยก่อน ตอนที่เรายังเล็กๆ ก็เร่หนังกันค่ะ หนังกลางแปลงของที่บ้านที่ฉายนี่ก็ผสมกันไปค่ะ ส่วนใหญ่แล้วหนังแอ็คชั่นจะพีคมากตอนนั้นนะคะ แล้วก็จะเป็นหนังผีจีน แล้วก็พวกหนังกำลังภายในต่างๆ บินได้ เหาะได้ กระบงกระบี่ไรงี้ แต่ก็มักจะไม่ค่อยได้ดูค่ะ (หัวเราะ)ความชอบดูหนังจริงๆ ก็พูดได้ว่าได้อิทธิพลมาจากครอบครัวส่วนหนึ่ง
น่าจะเป็นอย่างนั้นนะคะ แล้วฝนก็กลายเป็นคนชอบดูหนังไทยเก่าๆ พวกยุคแบบอาเอก สรพงษ์อะไรเหล่านั้นเลย คือแบบว่าโตขึ้นมากับบ้านที่ข้างล่างมันเป็นออฟฟิศ มีโปสเตอร์แปะๆ อยู่ไรงี้ ตอนเด็กๆ ก็ชอบไปขูดเล่น (หัวเราะ) เค้าไม่ให้ไปดูหนังก็ฉีกโปสเตอร์ ทุกวันนี้เสียดายมาก ถ้ารู้ว่ามันมีมูลค่าขนาดนี้ จะไม่เอาความโมโหไปลงที่ใบปิดหนังเลยค่ะถ้าถามความชอบส่วนตัว แนวหนังที่ชอบดูจะเป็นแนวไหนเป็นพิเศษ
ฝนชอบหนังที่เหมือนหนังดราม่า เหมือนหนังที่มัน coming of age เติบโตขึ้นไปกับเค้าอ่ะค่ะ มันเหมือนแบบ พอดูแล้วเราอิน แล้วก็หนังรักต่างๆ เวลาดูแล้วแบบชอบจังเลย มันมีช่วงยุคนึงที่เป็นยุคหนังรักเลย จะมีหนังรักออกมาเยอะมาก แล้วก็ดีๆ ทั้งนั้นเลย เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย...เนี่ย ชอบหนังแบบนี้ แต่จริงๆ ก็ดูหนังได้ทุกประเภท จริงๆ ก็ชอบแบบ...พูดเป็นภาษาไงดี เหมือนหนังวายป่วง หนังจูราสสิค ปาร์ค หนังอะไรพวกนี้ที่แบบในยุคนั้นก็จะชอบหมดค่ะ แต่ถ้าเอาความรู้สึกจริงๆ ไม่ลังเลที่หยิบมาดูเลยก็จะเป็นหนังรักค่ะ
ตอนเด็กก็ดูหนังรักค่ะ ก็จะแบบว่าร้องไห้กับ "น้ำเซาะทราย" มาก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ดูตั้งแต่ยุค "นาท ภูวนัย" อะไรอย่างงี้ ดูแล้วก็...อ๋อ มันเป็นงี้นี่เอง มันเหมือนตื่นเต้นมากกว่าค่ะ หนังมันทำแบบนี้นี่เอง มันก็เลยเหมือนแบบว่าทำให้ชอบไปโดยปริยาย แล้วก็จะมาเจอยุคหลังๆ ที่แม่เค้าจะสงสารลูก ก็เลยพาเข้ามากรุงเทพฯ พามาเปิดโลกใหม่ที่เมเจอร์ปิ่นเกล้า ฝนจำได้ แม่พาไปดูหนังเรื่อง "จูราสสิค ปาร์ค ภาค 2" ภาพยนตร์มันเป็นแบบนี้นี่เอง เข้าไปในเมเจอร์ฯ แล้วแบบ...เราเป็นเด็กต่างจังหวัด มันไม่ใช่โรงเดี่ยว Stand Alone แบบที่บ้าน มันมีใบปิดหนัง มันมีโลกๆ นี้อยู่ รู้สึกเลยว่ามันใช่อ่ะ แล้วพอไปเจอจูราสสิค ปาร์คปุ๊บ มันมีไดโนเสาร์ ก็หาอ่านข้อมูล หลังจากนั้นมาเจออนาคอนด้า อุ๊ย เค้าทำอย่างงี้ได้ด้วย ก็เริ่มรู้สึกว่า เราคลั่งหนังมากๆ ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาค่ะจากความชอบดูหนังเลยเบนเข็มมาเรียนต่อสายภาพยนตร์ด้วย
ตอนแรกจะมาเรียนต่อวิศวะโยธา เรียนช่าง เรียนสายอาชีพ แต่มันก็มีความรู้สึกว่า เราจะเรียนมหาวิทยาลัยแล้วนะ เราควรที่จะเรียนอะไรที่มันเหมาะกับตัวเองจริงๆ เห็นเค้าแนบข้างหลังว่า "ภาพยนตร์" ของที่ ม.กรุงเทพ ก็เลยรู้สึกว่ามันตื่นเต้น มันน่าเรียน แต่ยังไม่ได้คิดว่าแบบฉันจะต้องมาเป็นผู้กำกับหรืออะไรอย่างนี้ ยังไม่ได้คิดขนาดนั้น คิดแค่ว่าเราแค่ชอบดูหนัง มันน่าจะเป็นเรื่องที่เราเรียนแล้วสนุก อยากเรียนแล้วสนุกมากกว่า ตอนนั้นนะคะ จนกระทั่งต้องทำหนังสั้นของตัวเอง
คือตอนนั้นปี 4 มันเป็นวิชาฟิล์มโปรดักชั่นค่ะ แล้วเราก็ต้องทำหนัง 4 ตัว ตัวแรกเป็น "หนังส่วนตัว" อาจารย์ให้โจทย์มาเล่า 3-4 นาทีสั้นมากๆ ฝนรู้สึกว่าตอนนั้นที่ฝนเรียนปี 4 เราเรียนไปซักพัก เรารู้สึกว่าเรามีเรื่องอยากจะทำอยากจะเล่า เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากจะเป็นผู้กำกับหรือว่าอะไร วิชานี้มันเป็นวิชาที่เด็กฟิล์มตอนนั้นจะได้ลงมือทำ เรารอคอยวิชานี้มาก ฝนก็เลยหนีเพื่อนแอบไปลงเรียนคนเดียว เพื่อที่ตัวเองจะได้เรียนแบบเต็มๆ แล้วดันไปเลือกลงวันจันทร์เช้า ซึ่ง นักศึกษาจะรู้ว่าวันจันทร์เช้า เราจะไม่อยากเรียน แล้วมันก็ประสบความสำเร็จมาก เพราะว่า section นี้คนน้อยมาก (หัวเราะ) อาจารย์เกือบจะปิด sec แล้ว แต่สุดท้ายก็เลยได้ทำคนเดียว ทุกงานได้ทำคนเดียว ก็มี "หนัง
ส่วนตัว" 3 นาที, "หนังไม่ตัด" เป็นหนัง long take 3 นาทีเหมือนกัน ต่อมาเป็น "หนังไม่พูด" 3 นาทีทั้งเรื่องจะต้องไม่พูดอะไรแล้วเล่าเรื่อง จนมาอันสุดท้ายเนี่ย "หนังไม่เล็ก" เป็นหนังสั้น 30 นาที ทุกคนต้องแข่งกันขายบท เรามีสิทธิ์เลือกเพื่อนในห้องมาอยู่ในทีมเราได้ ฝนรู้แต่ว่าฝนอยากทำหนังรัก เราก็มองโจทย์ว่า รักแบบเด็กก็มีแล้ว รักแบบวัยรุ่นมันก็มีแล้ว เราทำหนังรักคนแก่แล้วกัน ซึ่งตอนนั้นเขียนบทมา ผ่านตั้งแรก ตั้งแต่ขายรอบแรก ดีใจมาก หลังจากนั้นอาจารย์ที่ดูแลโปรเจ็คต์นี้คือ "อาจารย์เต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์" (ผกก. The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร) ค่ะ คือแกให้เราแก้บททุกวัน ทำบททุกวัน แก้จนฝนไม่รู้จะแก้ไรแล้ว ให้ขยับขวดน้ำปลา ยังรู้สึกว่าต้องมีความหมาย อาจารย์ให้หนูแก้อะไรคือหนูไม่รู้จะแก้อะไรแล้ว
จนถึงตอนถ่ายทำก็ต้องไปแคสติ้งนักแสดงมา เราก็เจอป้าอู๊ดกับลุงนพ ด้วยความที่เค้าดูแลเอาใจใส่กันเป็นพิเศษ เราก็เลยคิดว่าเค้าต้องเป็นแฟนกันแน่เลย ก็เลยแอบดูเค้ากระหนุงกระนิงกัน คุยกัน น่ารักมาก ด้วยความอยากรู้เราก็เลยคุณป้า ป้าอู๊ดเค้าใช้คำที่น่ารักมากๆ เค้าบอกฝนว่า ทุกคนต่างเข้าใจกันไปหมดเลยว่าสองคนนี้เป็นแฟนกัน เป็นสามีภรรยากัน ซึ่งจริงๆ แล้วเราทั้งคู่ต่างมีครอบครัว แล้วก็เป็นพ่อม่ายแม่ม่าย แล้วเราก็มาเจอกัน เค้าไม่ขอใช้คำว่าแฟนหรือกิ๊ก เค้าใช้คำว่าเราเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เราเป็นเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจกัน แล้วความเป็นเพื่อนในบางครั้งลูกก็ให้ไม่ได้ ลูกพูดไม่ได้ ลูกไม่เกิดความเข้าใจในจุดนี้ เราเลยรีบมาเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์รู้มั้ยเนี่ย นักแสดงหนูน่ารักมากเลยนะ อาจารย์เลยบอกว่าทำไมเธอไม่ทำเรื่องนี้ล่ะ แต่ว่าเราเปลี่ยนเรื่องมาเยอะแล้ว จนสุดท้ายฝนก็เลยไปขอว่าหนูอยากทำเรื่องนี้ได้มั้ย ทั้งคู่ก็อนุญาต แล้วก็เร็วมากในการเขียน แล้วพอเราไปถ่าย ตอนนั้นเราก็ทำหนังไม่เป็นเลย ถ่ายมา ถ่ายผิด ถ่ายพลาด ต้องแก้ใหม่ทั้งหมด สองคนนี้เค้าก็น่ารักมากยอมมาถ่ายใหม่ จนทุกวันนี้ป้าอู๊ดก็ถือเป็นญาติผู้ใหญ่ให้กับฝน ฝนก็เลยตีโจทย์ความรักนี้ว่า มันเป็นความรักที่คน 2 คนมาคบกันในแบบที่เข้าใจกัน มันไม่มีเรื่องเซ็กส์ มันไม่มีเรื่องอะไรที่มันมาครอบเค้าทั้งสองคน มันคือการดูแลซึ่งกันและกัน มันจึงเกิดเป็นหนังเรื่อง "เวลา...รัก" ขึ้นมา ซึ้งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ดีมากจนเรารู้สึกว่า นี่คือพลังของการเล่าอะไรสักอย่าง จนกระทั่งพี่เก้งสนใจ อยากจะเอามาพัฒนาต่อ เพราะเค้าก็เหมือนกับว่ามีโปรเจ็คต์หนังที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว มันก็คือการต่อยอดไป ก็เลยเป็นหนังที่แบบเหมือนคู่บุญกันเลยตอนนั้น ตอนนี้ฝนกับคุณป้าก็ยังเป็นลูกหลาน เป็นหลานรักกันอยู่ พอเรียนจบก็เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว
เข้าวงการมาแบบเต็มตัวก็คือมาทำโปรดักชั่นค่ะ มาทำคอนทินิว (ควบคุมความต่อเนื่อง) ก่อน แล้วก็มาทำผู้ช่วยผู้กำกับ หลังจากนั้นก็มีการเขียนบทค่ะ มันคาบเกี่ยวกับตอนที่เราเรียนจบพอดี พี่ปรัชกับพี่อ๊อดก็บอกว่า มันน่าจะถึงเวลาแล้วนะ ฝนก็เรียนจบแล้ว แล้วก็เหมือนกับเข้ามาทำงานตรงนี้ ฝนมองว่าพี่ๆ เค้าให้มาฝึกมากกว่าว่าเราจะทำได้มั้ย เพราะว่ามันเยอะมาก เยอะกว่าห้องเรียนจริงๆ พอถึงเวลาที่เรียนจบปุ๊บ พี่เค้าก็บอกว่า มีอะไรจะเสนอมั้ย ลองมาเสนอดู เราก็เสนอโปรเจ็คต์ไปแต่ว่าไม่ผ่าน (หัวราะ) พอหลังจากกนั้นก็มีการเขียนบทไปเรื่อย มีหนังสั้นมาก็เขียน มันก็เหมือนพัฒนาตัวเองไป แต่ว่าก็ได้สอน คือเรียนจบมาไม่นาน ก็ได้ไปเป็นผู้ช่วยสอนก่อนเทอมสองเทอม หลังจากนั้นก็ได้สอนจริงๆ ฝนว่าจริงๆ มันคือรวมๆ แล้วการได้ไปสอน เราก็ไม่ลืม มันก็พูดอยู่ทุกๆ วัน มันก็เลยฝึกไปเรื่อยๆ ก็ทำอยู่สองสามอย่าง ไปออกกอง ไปเป็นผู้ช่วยด้วย ไปกำกับเองบ้างที่เป็นตัวหนังสั้นตามโครงการต่างๆ ชอบอย่างไหนมากกว่ากันระหว่างเขียนบทกับการกำกับ
จริงๆ ถ้าถามความชอบเนี่ย ฝนชอบกำกับเพราะว่า ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ ชอบคุย เป็นคนชอบคุยมาก แล้วการเขียนบทนี่มันเป็นสิ่งที่เราไม่คิดว่าเราจะทำได้ แล้วดันทำได้ แล้ววันหนึ่งเราก็ เออ...เราชอบว่ะ แต่ถ้าถามว่าให้เรียงลำดับ เราชอบกำกับมากกว่า แต่การเขียนบทนะคะ บางครั้งมันก็เหนื่อย เรารู้สึกว่าแบบรสนิยมในการชอบของแต่ละคน แล้วเราต้องเขียนให้เค้า แล้วเรารู้สึกว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของไอเดียซึ่งมันยาก จนเวลาที่มันผ่านๆ มา มันทำให้เราค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ปรับทัศนคติว่า เราจะทำยังไงในโจทย์ที่เราไม่ถนัด ไม่ชอบ แล้วเราจะทำยังไงให้เราชอบ เพราะการเขียนบทมันคือเราต้องชอบก่อน และยิ่งมาสอนเขียนบทกับนักศึกษาด้วย มันจะเป็นตัวตอบโจทย์ทันทีว่า เราไม่อยากเขียนอะไรที่เขียนแล้วมันไม่ดี เราอยากเขียนที่อย่างน้อยๆ มันต้องดีนะ อย่างน้อยๆ มันต้องรู้เรื่อง มันต้องครบเครื่องนิดนึงในโจทย์ที่เราได้รับมา มันถึงมีภาวะความเครียดอยู่ แล้วมันต้องอยู่กับที่ (หัวเราะ) ต้องมีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง จุดเริ่มต้นโปรเจ็คต์ "อาปัติ"
คือจริงๆ แล้วมันเริ่มมาจากน้องคนหนึ่ง สมัยก่อนตอนน้องเค้าบวชเป็นสามเณรก็เล่าให้ฟังว่า สามเณรกับเพื่อนเค้าเนี่ยเห็นผู้หญิงห้อยขานั่งอยู่บนต้นไม้ สวยมาก ไม่ใส่เสื้อผ้าเลย ร่างสวยมาก ทุกอย่างสวย เป็นหญิงไทยแต่ไม่มีหัว เห็นตอนกลางวัน สามเณรวิ่งๆ ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด ด้วยความกลัวผี คนแถวนั้น คนเฒ่าคนแก่เค้าบอกว่า คือ "ผีเผต" ผีประเภทนี้คือ ผีผู้หญิงตอนก่อนตายไปมีอะไรกับพระ ตายไปเลยเป็นแบบนี้ เราก็แบบ 'มีแบบนี้ด้วยเหรอเนี่ย' อันนี้คือไอเดียตั้งต้นที่มันโอเคมาก เราก็เลยหยิบไอเดียนี้มา หลังจากนั้นมันก็ถูกพัฒนาเป็นโครงเรื่องประมาณ 1 หน้ากระดาษค่ะ ก็ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ก็มีการพูดคุยกัน แต่ก็ไม่รู้ทำไม มันถูกส่งกลับมาที่เรา ผู้กำกับที่ได้ไปเค้าติดอะไรไม่รู้ สุดท้ายเค้าก็ไม่ได้ทำ ก็เลยวนกลับมาที่เรา คือจริงๆ แล้วฝนพยายามจะเลี่ยง แต่มันเลี่ยงไม่ได้เรื่องพระพุทธศาสนา เพราะมันเป็นไอเดียตั้งต้นของเรา แล้วคำว่า "ผีเผต" มันคือผีอะไรวะ มันก็ขมุกขมัวอยู่มาก ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานก่อน กูกลัวแบบไหน กลัวผีประเภทไหน เรื่องนี้มีหลายเวอร์ชั่นมาก เวอร์ชั่นที่กว่าจะพอใจก็ประมาณที่4 ที่5 ได้แล้ว ถ้าฝนจำไม่ผิด พอได้เวอร์ชั่นที่มันโอเค ผ่านการปรับเปลี่ยน ผ่านการพูดคุย เออ...มันควรจะเพิ่มรสอะไร อะไรดีที่แบบทำออกมาแล้ว
บาลานซ์ความหนักเบา พี่ปรัชก็ให้คำแนะนำว่า ในเรื่องนี้เนี่ยเราอาจจะมีพระที่ไม่ดี แต่สุดท้ายฝนต้องมีพระที่ดี เพื่อที่จะสะท้อนให้คนดูเห็น มันเหมือนการปลดกุญแจบางอย่าง มันโอเคมากเลยค่ะที่พี่ปรัชพูด แต่หลังจากนั้นคือ มันกลายเป็นว่า เราทำการบ้านหนักกว่าเดิม หนักมากมันเหมือนรื้อทั้งหมดใหม่ มันไม่ใช่แค่ผีอย่างเดียวละ คำสอนของพระพุทธศาสนามันมีอะไรบ้าง ฝนต้องการอะไรที่มันเข้าใจง่ายที่สุดเลย เรื่องไหนที่เข้าใจง่าย ทำไมเราถึงไม่เข้าใจ และทำไมเราถึงเข้าวัดอย่างบริสุทธิ์ใจ บางครั้งเราก็แอนตี้กับคนบางกลุ่มที่ทำแบบนี้ ถามตัวเองก่อนเลย รู้สึกใช้เวลา 1 ปีกับการอยู่กับตัวเองอย่างนี้ ซึ่งมันจะมีข่าวนู้นนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วฝนเองบ้านติดวัด พ่อจะไปวัด ก็จะปรึกษาพ่อ อันนี้ทำไมเค้าทำแบบนั้นแบบนี้ พอสุดท้ายเราก็มาได้จุดตรงกลางว่า เราจะแค่เล่าแค่นี้เอง เล่าแค่ผิดชอบชั่วดี แค่นี้หนูว่าเบสิกที่สุดแล้ว เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่เก็ต ไม่ได้เข้าวัด มันเป็นนามธรรมมากๆ ซึ่งฝนก็ยังไม่เคยเห็นผี กลัวแต่ก็ยังไม่เคยเห็นผี สุดท้ายก็เลยรู้สึกว่า คำสอนมันสากลมากๆ มันฝังมาตั้งแต่ต้นเรื่องผิดชอบชั่วดี สติมันอยู่กับเราตลอด คำสอนจริงๆ มันฝังรากอยู่กับเราทุกๆ คน เพียงแต่เราไม่ได้มามองย้อนมัน และฝนว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด คนที่ทำไม่ดีไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดของเค้าจะทำไม่ดี และมีคนที่เค้าไม่ดีในสายตาคนอื่น แต่จริงๆ แล้ว เค้าปล่อยให้คนอื่นมองว่า เค้าเป็นคนที่ไม่ดีได้โดยที่เค้ารู้ตัวว่าเค้ากำลังทำอะไรอยู่ ฝนก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ผีจ๋า ฝนไม่ชอบผีหลอก แต่ว่าเราควรจะให้ความเป็นธรรมกับผีบ้าง บางครั้งผีอาจจะมาเพื่อที่จะบอกอะไรเรา ทำไมเราไม่ฟังเค้า ทำไมเราไม่มองย้อนตัวเองบ้าง หนังเรื่องนี้มันจะแบบ กลายเป็นหนังที่เราไม่ถนัด แต่สุดท้ายก็ชอบและรู้สึกว่ามันโอเคขั้นตอนการเขียนบท รวมๆ แล้วใช้เวลามากน้อยแค่ไหน
ประมาณ 3 ปีโดยประมาณนะคะ การหาเวอร์ชั่นที่ใช่ หาเวอร์ชั่นที่ชอบ ก็อยู่ประมาณเกือบ 2 ปีได้ละ พอได้เวอร์ชั่นที่ชอบเสร็จ ก็แก้ไป 10 ร่างฝนจำได้ มีร่างที่ 11 ที่ไฟนอล มันแก้ด้วยยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยน คำคอมเมนต์ต่างๆ ในความหนักเบาของตัวละคร บางอันหนักไป บางอันแรงไป หรือวิธีเล่า เล่ายังไงที่เรื่องมันเรง แต่เราจะเลือกนำเสนอยังไง ให้ภาพมันดูเบา สตอรี่นั้นมันยังอยู่ สุดท้ายก็ปรับเกี่ยวกับทุนสร้างด้วย คือตอนเขียนเราเหมือนพระเจ้าเลย เนรมิตมันได้ พอมีเรื่องเข้ามา ตอนถ่ายทำฝนไม่อยากไปปรับหน้ากอง จึงมีการปรับเพื่อให้ซัพพอร์ตกับทุนที่เรามี ให้ภาพมันใกล้เคียงที่สุด เรื่องนี้เลยใช้เวลารวมๆ แล้ว 3 ปีกว่าน่าจะได้ค่ะ เวอร์ชั่นที่ปรับแก้ก็ประมาณปีกว่าๆ ได้ นอกจากเป็นคนกลัวผีแล้วต้องมาจับเรื่องวงการศาสนา รู้สึกกดดันมั้ย
ฝนไม่ถือเป็นเรื่องกดดันนะ ฝนรู้สึกว่าเป็นการสู้กับตัวเอง คือตลอดระยะเวลาทำบท ฝนจะมีคนสำคัญคือ "อาจารย์เต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์" แกจะคอยมาจังหวะที่เราแย่ๆ เสมอ อาจารย์จะสอนว่า เราต้องกดดันกับงานนะ เราอย่ากดดันตัวเอง คือมันดีพอหรือยัง แต่ถ้าเรากดดันตัวเอง เราจะทำงานไม่ได้ เราเองจะไม่เกิดความกดดัน แต่ทุกครั้งมันจะเขียนออกมายากมาก มันดีหรือยัง มันใช่หรือยัง ส่วนที่เราไปทำประเด็นนี้ เราเป็นผู้หญิง ฝนจะรู้สึกว่าคนจะเข้าใจทัศนคติที่เรามองหรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้วการที่สีกามีอะไรกับพระ ฝนมองว่าความรักมันไม่ผิดนะ ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก มันเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน บางครั้งเราเห็นข่าว เขาอาจจะรักกันก็ได้ แต่มันผิดวินัย ต้องแยกออกมาก่อนว่า ความรักมันไม่ผิด คุณรักใครก็ได้ แต่การที่เราจะทำหรือไม่ทำ มันคือความผิดชอบชั่วดีที่เรารู้ว่าจะทำหรือไม่ทำดีกว่า คุณรักได้มั้ย ได้เลย แต่ถ้าคุณไม่กระทำ ไม่ก้าวเข้าไป คุณผิดมั้ย ไม่ผิดนี่ แต่ถ้าจะบอกว่ารักนะ สึกได้มั้ย รออยู่นะ อันนี้ฝนว่า
มันผิดละ มันล้ำเส้นไปแล้ว แล้วเราก็ทำอะไรก็ได้ให้คนดูรู้สึกว่าความรักมันไม่ผิด อยากให้เข้าใจว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งฝนมองว่าความรักมันไม่ผิด มันเกิดขึ้นได้ อันนี้ก็เลยไม่กดดัน แต่แค่เราจะเขียนยังไงดี เพราะเวลาไปนั่งคุย เออ...พี่หนูรู้สึกแบบนี้ อาจารย์หนูรู้สึกแบบนี้ ทุกคนแบบโอเคหมดเลย แต่ทีนี้จะเขียนยังไงล่ะ เออนั่นน่ะสิ จะเขียนยังไงดี ไปกดดันตรงนั้นมากกว่า
ฝนรู้สึกว่าในแง่ของคนเขียนบท คือเราต้องรู้สึกต้องเข้าใจเค้ามากๆ สร้างตัวละครขึ้นมาตัวหนึ่ง ถามว่าทำไมต้องทำวะ จริงๆ มันมี Back Story ของตัวละครทุกตัวที่ฝนสร้าง แต่ด้วยข้อจำกัดของหนัง มันจะต้องถูกเล่าเท่านี้ มันไม่สามารถมาเล่าตั้งแต่ต้นว่าทำไม เพราะอะไร ในบทเราพรรณนาเยอะ ทัศนคติที่ฝนถือคือเราจะเล่าอะไร กำให้มั่นเลยว่าเราจะเล่าอะไร แล้วเราจะรู้ว่าเราจะถ่ายยังไง พอมันได้แบบนี้ เรานั่งอยู่หน้ามอนิเตอร์ สุดท้ายไอ้สิ่งที่เราจะเล่า พอยัง ถ้ามันโอเคคือพอ แต่ข้อดีของบทก็คือ มันทำให้ทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน ทำงานง่ายมาก ทุกคนเห็น Mood & Tone เหมือนกัน เวลาดูโลเกชั่นดูอะไรต่างๆ มันเป็นประมาณนี้ มันจะคุยกันง่ายมาก ทำไมตัวละครตัวนี้เป็นแบบนี้ เค้าจะเข้าใจหมดเลย เหมือนพอคนในทีมงานเข้าใจ เหลือแต่เราละ ชั้นจะเล่าอะไรยังไง ต้องกำให้แน่นๆถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขียนยากที่สุดมั้ย
ด้วยความที่พอเราเริ่มทำงานเยอะขึ้น การเป็นมืออาชีพ เราควรจะทำโจทย์ที่ได้รับได้อย่างมีความสุขสิ คิดอย่างนั้น เราน่าจะภูมิใจตัวเองว่าเราทำได้ พอเรารู้อะไรที่มันลึกกว่าคนอื่น มันมีพลังอยากจะบอกอยากจะเล่ามาก ก็เลยตื่นเต้นมากขึ้น ด้วยจังหวะมันเหมือนหนังโรแมนติก-ดราม่าที่เล่าอยู่กับตัวละคร เรื่องนี้มันมีสิ่งที่มันซ่อนอยู่ที่เราจะเล่าแค่ไหน อันนี้คือความยาก ลีลาในการเล่าเราจะเล่าได้มั้ย ออกมาน่ากลัวมั้ย มีเหตุผลมั้ย ซึ่งรู้สึกว่าพอทำได้ปุ๊บ อยากให้คนอื่นรู้ว่าเราเขียนได้แล้ว ทำได้แล้ว พอกลับไปเขียนหนังรักมันง่ายมาก เหมือนเรื่องนี้มันยาก ตรงวิธีเขียน แล้วอินเนอร์มันเยอะกว่าเหตุการณ์ที่เราเจอมา ประสบการณ์มันเยอะ บางอันมันเยอะเกินไป ไม่เห็นภาพ ต้องทำให้เห็นภาพขึ้นมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขียนยากที่สุด สู้กับตัวเองด้วย หลายๆ อย่าง แล้วเรื่องนึ้คนเราเชื่อไม่เหมือนกัน ทำยังไงดีให้ดูแล้วโอเค ให้มันสากล
ความตั้งใจก็คืออยากเล่าให้มีความน่ากลัว มันตกใจ เรารู้สึกว่าเราไปดูหนัง เราจะจำหนังเรื่องนี้ได้แล้วต้องพูดต่อ เราอยากได้หนังแบบนั้น หนังที่ออกมาแล้วแบบเราขนลุกอันนี้มากเลย เราจะชอบหนังแบบนี้มากกว่า เพราะอะไรเราถึงชอบแบบนั้น สุกท้ายมันคือการเล่าเรื่อง เราอินไปแล้ว เค้ากลัวเรากลัว เค้าเจอเราเอาใจช่วย อยากให้คนดูดูแล้วอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ เรื่องมันคืออะไรกันแน่ นี่น่าจะเป็นความสนุก แล้วบรรยากาศก็เป็นตัวเสริมขึ้นมา หลักสำคัญมากคือเขียนเรื่องอะไรก็ได้แล้วอยากรู้ต่อ ในแง่ของบทถือว่าสำเร็จ เวลาใครที่อ่านบทมาแล้ว คุยกันจะได้คำคอมเมนท์ที่ดี จะได้ไปปรับแก้ พี่ปรัชเคยพูดว่าหนังที่ดีคืออะไร คือมันสนุกในแบบของมัน หนังผีคืออะไร ความสนุกของหนังดราม่าคืออะไร เออ...เราตอบโจทย์เค้าว่าหนังมันสนุก สุดท้ายคนอ่านเข้าใจว่าเราต้องการจะเล่าอะไร กลายเป็นว่าคนอ่านแล้วเอาใจช่วย ต้องทำออกมาให้ได้นะ ในแง่ของบทคือฟินไปแล้ว ที่เหลือก็ต้องไปดู (หัวเราะ)ช่วงเขียนบทมีการรีเสิร์ชค้นหาข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
เยอะค่ะ ตั้งแต่ชื่อเรื่องเลย อาบัติคืออะไร การผิดวินัย การสวดวันพระใหญ่ ที่แน่ๆ คือเรื่องของงานบุญข้าวประดับดิน ความหมายของมัน มันมีเรื่องท้องถิ่นที่เป็นอีสาน แล้วก็หาจากคนใกล้ตัวด้วย บางครั้งเราสงสัยเราก็ถาม ประสบการณ์ส่วนตัวด้วย อย่างเช่นตอนที่เสียคุณแม่ เอ๊ะ ทำไมเขาถึงเอาใบชามาโรย ใบชามันสามารถดูดกลิ่นได้ มันจะได้ดีเทลอะไรเยอะๆ ที่มันสำคัญกับเรื่องเราพอดี วันพระใหญ่ มันมีความศักดิ์สิทธิ์อะไร การมีฤกษ์สึก ไม่มีฤกษ์สึก มันสำคัญตรงไหน มันเป็นเรื่องที่แบบทำการบ้านมาเลย เณรต้องถือศีลกี่ข้อ พระแบบนี้มีมั้ย วัดป่าเป็นยังไง จีวรแบบไหน การนุ่ง มันมีกี่แบบ เยอะค่ะเยอะมาก เรื่องของการปลงอาบัติ ทำไมต้องมีการปลงอาบัติ ปลงอาบัดคืออะไร แต่ว่ามันไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น เพราะว่าเราเป็นวัยรุ่น เราเป็นคนทั่วไป ลึกมากกว่านี้เราจะไม่อยากรู้ มากกว่านี้มันยากเกินละ มันยากไป เอาอะไรที่แบบคลอดออกมาแล้วเราย่อยงาน ทุกคนพูดกันรู้เรื่อง ทำไมต้องทำบุญ ทำไปทำไม เอ๊ะ...ทำไมคนเข้าวัดทำบุญยังทำผิดได้ อะไรประมาณนี้โลเกชั่นก็เป็นส่วนสำคัญของเรื่อง
ส่วนของโลเกชั่นคือจินตนาการขึ้นมาค่ะ คือวัดป่าน่าจะเป็นแบบนี้ กุฏิน่าจะเป็นแบบนี้ เราก็วาดในหัวเราว่ามันน่าจะมีห้องแบบนี้ สถานที่หนึ่งที่หลุดออกมา เป็นที่ที่เรานิยามว่า "นรกมันสร้างสวรรค์ขึ้นมา" ก็คือกิเลส เรามองมันว่ามันสวยงามจังเลย มันสุขสบาย มันเป็นที่ที่ให้เราทำผิด ทำบาป จินตนาการขึ้นมาหมดเลยค่ะ ตอนถ่ายทำจริงๆ อยากถ่ายที่อุดรธานี สองจังหวัดที่อยากไปมากคืออุดรฯ กับอุบลราชธานี ไปไกลๆ ชนบทๆ แต่ไม่ได้ด้วยข้อจำกัด พี่โอ๋โลเกชั่นก็พยายามหาที่ที่มันใกล้เข้ามา ก็ไปเจอสถานที่แห่งนี้ ซึ่งมันได้หมดเลย มาเจอที่นี่ปุ๊บ เค้ามีศาลานี้อยู่ มีกุฏิ มีทุกอย่างมันได้หมดเลย จนเรารู้สึกว่าเอาอยู่มากๆ โลเกชั่นของเรื่องอยู่ที่วัดนี้หมดเลย ชื่อ "วัดนาบุญ" จ.นครนายก มีพระจำวัดอยู่รูปเดียว ประสบการณ์ส่วนตัวมีส่วนช่วยในการเขียนบทหรือกำกับหนังเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
มีผลมาก เพราะว่าเป็นช่วงที่ฝนเสียแม่ มันทำให้เราอยู่กับงานนั้นตลอด แล้วเราก็ได้เห็นความเสียใจ ครั้งหนึ่งที่ฝนไปเคาะโลงแม่ เพื่อเอาข้าวไปวาง พระรูปหนึ่งพูดขึ้นมาว่าตอนอยู่เรากินข้าวกับแม่เค้าน้อยมากใช่มั้ย ตอนนี้เราเคาะไปก็ไม่รู้เค้าจะได้กินรึเปล่า เค้าพูดแล้วโดนใจเรามาก เราเคาะไปเราก็ไม่รู้นะว่าเค้าจะได้ยินได้กินได้เห็นรึเปล่า มันจับความรู้สึกมาหมดเลย ถูกอัดมาในเรื่องนี้ ทำไมเพิ่งรู้สึกว่า ทำไมต้องทำบุญ หรือทำไมต้องทำดี มีคนพูดกัน ไม่รู้แม่ไปดีรึเปล่า จนมาถึงคนสนิทเรา เค้าก็สูญเสียเหมือนกัน จริงๆ ฝนเจองานศพใหญ่ๆ 3 งานในช่วงนั้น ครอบครัวฝนแล้วก็คนสนิท มันเลยเก๊ตสัจธรรมไปเรื่อยๆ ว่า นั่นแหละทำไมถึงสอนเรื่องนี้ ทำไมถึงให้มีสติ ทำไมต้องคิดให้มากขึ้น ผ่อนลมหายใจให้มากขึ้น ครั้งนึงเราได้ถูกให้ไปเขียนบทหนังสั้นของเสถียรธรรมสถานเกี่ยวกับการสอนกำหนดลมหายใจ เดินอย่างมีสติ ก็ไปนั่งฟัง พอเค้าให้เราฝึก จะได้เขียนบทและเข้าใจ มันช่วยได้ ฝนว่าจริงๆ แล้วมันคือสติ มันคือสมาธิ แล้วเราก็จะรู้และเข้าใจแล้วว่า มันแค่นี้แหละที่อยากรู้ ฝนคงไม่เอาตัวเองเข้าไปงมงายจนแบบว่า โห..เราเชื่อทั้งหมด เราก็เอามันออกมาให้มันอยู่ตรงกลาง
อีกอย่างคือที่บ้านฝนชอบการทำบุญ มันเหมือนเป็นอีเวนต์กิจกรรมหนึ่ง ฝนชอบกินข้าวที่วัด เวลามีงานศพหรืองานอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนจะรวมตัวกัน มันซึมซับ พอตอนแรกที่รู้สึกว่ามันไกลตัว มาคิดจริงๆ หรือเราต้องทำ งั้นเราก็เลยเลือกถามตัวเองว่าเราเชื่ออะไร อะไรที่เรากลัว ทำไมเราไม่ทำอันนี้ บาปหน้าตาเป็นยังไง วัยรุ่นจะถาม เพราะไปสอนเจเนเรชั่นใหม่ๆ จะรู้ทันทีเลยว่า เค้าไม่ได้อิน มันเปลี่ยนไปทุกวัน ข้อดีมากๆ ในการได้รับโอกาสให้ไปสอน รุ่นใหม่เค้าคิดแบบนี้ เลยถูกเอามาใช้ เอามาปรับ ตั้งคำถามว่าทำไมเด็กวัยรุ่นบางคนชนแล้วหนี เกิดอะไรขึ้น โดยข่าวต่างๆ ลงแบบนี้ จริงๆ มันมีดีเทลมากกว่านี้ก็ได้ เราไม่เคยมองย้อนกลับไป บาปหน้าตายังไง ยังไม่เคยเห็นเลย เออใช่ แล้วเราจะชอบโกรธ ชอบแช่งกัน มึงเป็นคนไม่ดี ทำไมมึงไม่ได้รับผลอะไรเลยวะ กูไม่รวยซักที แต่มึงรวยเอาๆ โดยที่มึงเอาเปรียบคนอื่น มันพูดกันเยอะมาก ทำไมไม่ได้รับผลอะไร สัจธรรมมากโลกปัจจุบัน กูทำดีแต่กูไม่ได้ดีซักที แล้วก็เริ่มไม่อยากทำดีละ เพราะทำไปแล้วมันไม่ได้ดี เราว่าจริงๆ แล้ว สุดท้ายมันมีผลของมันแน่ๆ มันอาจจะไม่ใช่ตอนนี้ ตายไปแล้วอาจจะเป็นผลของมันก็ได้ จะมีสัมภเวสีกันทำไม เราจะสร้างตัวผีประหลาดขึ้นมาทำไม ประเด็นนี้สำคัญมาก สุดท้ายแล้วเอาพระพุทธศาสนามาพูดยังไงให้มันดูเข้าใจง่าย ให้มันดูสนุก ก็เลยเข้าไปอยู่กับมันเต็มๆ เรื่องนี้ สิ่งที่ฝนได้เรียนรู้มันมากๆ เลย มันทำให้ฝนให้อภัยคนอื่นเยอะขึ้นอีก มันเหมือนมีความเข้าใจเกิดขึ้นเยอะ อินไปกับเรื่องนี้ แบบเดี๋ยวเขาก็มีผลกับเค้าละ บางอย่างเราไม่รู้ เราไม่ต้องเอาตัวเองไปเป็นอารมณ์ก็ได้ ทำไมเราถึงไปทำบุญ ทำไมถึงไปปล่อยปลา เวลาไปวัด ไปนั่งสมาธิเข้าวัด เพราะอะไรเขาถึงต้องไป มันกลายเป็นว่าเราเย็นลง ตลอดเวลาที่เขียนเรื่องนี้ รู้สึกว่ามันฝังเข้าไปเอง มันเรื่องง่ายมากๆ เรื่องราวของ "อาปัติ"
มันเป็นเรื่องของ "ซัน" เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่บ้านรวย ใช้ชีวิตอย่างคึกคะนอง จนโดนพ่อบังคับให้บวชเพื่ออะไรบางอย่าง วัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาบวชอยู่แล้ว ก็มาบวชในวัดป่าแห่งหนึ่ง เค้าโลกส่วนตัวสูง ไม่สนใจใคร อยากจำวัดแบบสันโดษ ทำตัวพร้อมที่จะอาบัติตลอดเวลา ก็จะมี "พระทิน" เป็นพระพี่เลี้ยงที่คอยดูแลเณรคนนี้ให้รู้ผิดรู้ชอบตลอดเวลา ซึ่งเณรก็ไม่ได้อยากอยู่ที่วัดนี้อยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่มันยึดเค้าไว้นั่นคือ "ฝ้าย" เด็กสาวท้องถื่นที่นั่น เป็นเด็กที่อยู่กับยาย ทั้งคู่มาเจอกัน ชอบพอกัน พูดคุยกันรู้เรื่องด้วยความที่เณรก็เหมือนคนที่เหงามาจากบ้าน ขณะที่ฝ้ายก็รู้สึกว่าเณรคือคนที่เปิดโลกใหม่ให้กับเค้า ในขณะที่เริ่มจะล้ำเส้นความสัมพันธ์ ทำให้เณรเข้าไปรู้เรื่องราวความลับภายในวัดมากขึ้น สุดท้ายสิ่งที่เจอทำให้เณรซันรู้ในตอนท้ายว่าจะเลือกแบบไหน เพราะในขณะที่กำลังจะหนีความผิด ความผิดนั้นก็เข้ามาตอกย้ำตัวเองเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเองก็ต้องมารู้เรื่องราวซึ่งคนในละแวกนี้กำลังต่อกรรมกันอยู่ แล้วเค้าก็กำลังชดใช้มันอาปัติคืออะไร
อาบัติคือการผิดวินัย คือเวลาที่เป็นพระก็จะมีการรักษาศีล มีกฎของเขาซึ่งจริงๆ แล้วมันมีเยอะมาก ถ้าเข้าใจง่ายๆ มันก็คือการทำผิด พระทำผิด ไม่ควรฉันเวลานี้ แล้วก็จะมีการปลงอาบัติ คือการสารภาพ มีคนรับแล้วเราก็ปลง แล้วก็รักษาศีลใหม่ ซึ่งการอาบัติมันมีหลายข้อมากจริงๆ แล้ว หนักเบาแตกต่างกันไปตัวละครในเรื่อง
คนแรกคือ "เณรซัน" (แน็ก-ชาลี ปอทเจส) เป็นวัยรุ่นยุคใหม่ที่อยู่ในครอบครัวที่ตามใจ เอาแต่ใจตัวเอง ใจร้อน มีโลกส่วนตัวสูง มีเหตุและผลที่เขาสร้างมาเอง จริงๆ แล้วเป็นตัวละครที่น่าสงสาร เพราะว่าเค้ารู้สึกว่า เค้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคนที่เค้ารักซึ่งตัวละครชองเณรซัน เวลาทำอะไรจะมีความคิดเป็นของเค้า จะเชื่อจะทำแบบนี้ ถ้าอยากสอนหรือบอกอะไรเค้าคือ ต้องทำให้เค้ายอมรับให้ได้ มีเหตุผลมากพอ
ซึ่งไม่ต่างจาก "ฝ้าย" (พลอย ศรนรินทร์) ก็คือเด็กผู้หญิงบ้านๆ ใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่สิ่งหนึ่งคือฝ้ายมีความคิดเป็นของตัวเองสูงเหมือนกัน มีเหตุและผลในตัวเอง แล้วไม่ได้พอใจกับความเรียบง่ายที่มี อยากที่จะหาสิ่งตื่นเต้น ที่ไม่เคยพบเคยเจอ ทำให้เค้าหลุดออกจากสิ่งที่เขาเป็น ฝ้ายนี่เป็นตัวละครที่ชัดเจนมาก เค้ารู้สึกว่าบาปนั่นแหละ หน้าตาแบบไหน เค้าไม่เคยเห็น เพราะสิ่งที่เค้าโดนกระทำ มันไม่เห็นส่งผลถึงคนที่กระทำเลย เพราะฉะนั้นเรามาทำวันนี้ให้มีความสุขดีกว่า ทำให้สองคนนี้จูนกันง่าย คนที่ชีวิตไม่เคยเรียบง่าย โลดโผนมากๆ กลับมาเจอคนที่ชีวิตเรียบง่าย แต่อยากจะโลดโผน ก็มาเจอกัน ใช้ชีวิตบางส่วนร่วมกัน ต่อมา "พระทิน" (กิก-ดนัย จารุจินดา) เป็นพระหนุ่มที่ผ่านเรื่องราวในชีวิตมากพอสมควร ครอบครัวแตก เค้าถูกทิ้ง มาเจอคนที่ดี มาเจอเพื่อนที่ดี แต่มันไม่ได้จีรัง เค้าเพิ่งมาค้นพบว่า มันไม่ใช่ มันไม่จริง พระทินจึงเป็นตัวละครที่อยู่ระหว่างกลางของการดำเนินชีวิตของเค้า เค้าเป็นคนดี คิดดี เจตนาดี ด้วยความที่เข้าอกเข้าใจวัยรุ่น เค้าจึงรู้ว่าจะแข็งเมื่อไหร่ จะอ่อนตามเณร ให้เณรเชื่อใจไว้ใจได้เมื่อไหร่ เณรซันก็จะค่อนข้างที่จะเชื่อใจพระรูปนี้ เพราะเข้าใจวัยรุ่น
"พระอาจารย์ศีล" (หนุ่ม-อรรถพร ธีมากร) คือพระอาจารย์ที่พูดน้อยจนเราไม่เข้าใจว่า ทำไมเค้าถึงไม่พูดหรือว่าเค้ารู้สึกอะไร บางครั้งสิ่งที่เค้าเจอ ทำไมเค้าถึงตัดสินใจแบบนี้ ดูไม่ออกว่าเค้าดีหรือร้าย บางครั้งพระที่ดูน่าเลื่อมใสก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอย่างที่เราเห็น
เหมือนกับที่ "คนบ้า" (สรพงษ์ ชาตรี) มันอยากทำไรก็ทำ อยากกินไรก็กิน อยากพูด หัวเราะเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ได้มีจริตกับตัวเองว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งต่างกับพระอาจารย์ศีลที่เลือกแบบนี้ ดำรงแบบนี้ เมื่อท่านพูดมีคนฟัง แต่คนบ้าเวลาพูดไม่มีใครอยากฟัง ตัวละครของสองตัวนี้เหมือนเปรียบเทียบ เหมือนแย้งกันอยู่ว่านี่พูดน้อย นี่พูดเยอะแต่ไม่มีใครฟัง คนบ้าถ้าเค้าหัวเราะ เค้าคงหัวเราะแค่ความทรงจำเดียวที่มันมีความสุขมากๆ ถ้าร้องไห้ก็คงร้องไห้แค่ความทรงจำที่ทุกข์มากๆ ซึ่งทุกวันมันจะหัวเราะกี่ครั้ง ก็จะจำได้แค่เรื่องเดียวที่สุขที่สุด ร้องไห้ก็จะจำแค่เรื่องเดียวที่ทุกข์ที่สุด เราเลยมองว่าเราเลือกที่จะเชื่อคนดี แล้วดูถูกคนบ้า ซึ่งจริงๆ คนบ้าอาจจะพูดอะไรที่ถูกต้องกว่าก็ได้ "พิณ" (พิม-พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์) เป็นตัวละครที่ตั้งต้นของไอเดีย เป็นตัวละครที่ฝนค่อนข้างรักมาก สวย ใจดี ดูเป็นคนโอบอ้อมอารี เป็นผู้หญิงไทย แต่เป็นคนที่เชื่อเรื่องความรักมากๆ ซึ่งมันคล้ายกับฝ้ายที่มีความรู้สึกว่าความรักหรือครอบครัวมันสำคัญมาก พิณจึงเป็นคนที่น่าสงสาร เค้าห้ามตัวเองไม่ได้ แล้วเค้าก็ถลำลึกลงไป และอยู่กับสิ่งที่รอคอยว่ามันจะต้องโอเคสำหรับครอบครัวของเรา ก็รักตัวละครนี้มาก เพราะรู้สึกว่าเป็นอีกมิติของตัวละครผู้หญิงดี ทีมนักแสดง
มีนักแสดงคนหนึ่งที่เราเขียนไว้เป็น Reference ตั้งแต่ตอนเขียนบทคือ "อาเอก สรพงษ์" เราชอบอาเอกอยู่แล้ว แล้วก็อยากให้อาเอกมารับบท "คนบ้า" เรื่องการแสดงเรารู้อยู่แล้วว่าอาเอกสุดยอดมากๆ พอช่วง Pre-Pro เตรียมงานก็มีเสนอนักแสดงกันมาโน่นนี่นั่น ฝนก็พยายามตัดสินใจที่จะกล้าพูดว่าจริงๆ อยากได้อาเอก ลองติดต่อดูได้มั้ยคะ อย่างน้อยๆ ก็ลองเสนอดู อาจะเป็นคนอ่านบทก่อนถึงจะตัดสินใจว่าจะเล่นหรือไม่เล่น ลองดูเนอะ เนื่องจากหนังมันมีประเด็นพระพุทธศาสนา เราโดนคนในทีมบ่นๆ ว่าจะดีเหรอ อาเอกแกจะเล่นเหรอ มันแรงไปมั้ย อันนี้เป็นอย่างหนึ่งที่เราแอบเชื่อลึกๆ ว่า เรื่องเรามันบอกอะไรอยู่นะ ลองหน่อยละกัน ก็ส่งไป ฝนบอกว่าฝนไปหาได้นะ ไปหาที่วัดที่โคราช ไปได้เลย จนสุดท้ายเจอกัน อารมณ์แบบประหม่า ตื่นเต้น กลัว นี่พระเอกในดวงใจของเรานั่งอยู่ตรงหน้า มีแอบบอกพ่อว่าอยู่กับใคร ตื่นเต้นไปหมด แต่อาเอกเป็นคนละเอียด อาถามเยอะมาก ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ทำไมถึงอย่างนี้ จนสุดท้ายอาเอกบอกว่า นี่เธอบวชได้แล้วนะ อาเอกเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอ คุยกัน 4-5 ชั่วโมงได้มั้ง แล้วอาเอกก็พูดว่า อยากเล่น ตัดสินใจที่จะเล่น ก็ถามด้วยว่าใครกำกับเราก็ยิ่งตื่นเต้นหนักไปอีก คือฝนก็ไม่กล้าบอก เพราะเราเป็นผู้กำกับใหม่มากๆ พี่ไก่โปรดิวเซอร์ไปด้วย พี่เขาเลยบอกว่า น้องนี่แหละกำกับ อาพูดว่าถ้าเธอกำกับฉันโอเค เพราะเธอคือคนที่เข้าใจเรื่องมากที่สุด วันนั้นมันเหมือนมีพลังบางอย่างที่ถูกส่งมาแล้วแบบเป็นอาเอกพูดคำนี้มันมหัศจรรย์มาก แล้วเค้าก็น่ารักมากๆ เค้าบอกว่าจะทำให้ดีที่สุด จะเป็นตัวละครตัวนี้ให้ดีที่สุด อันดับแรกก็ได้อย่างที่เราอยากได้ อย่างที่เราฝัน อยู่ในลิสต์ตั้งแต่แรก กลับมาบอกทุกคนว่าอาเอกยอมเล่นนะ เลยรู้สึกว่าความเป็นนักแสดงเค้าก็พูดว่ามันน่าสนใจดี ดีใจค่ะที่เห็นเรื่องเราแล้วอยากเล่น
คนต่อมาคือ "พี่พิม พิมพ์พรรณ" ที่ทุกคนลงความเห็นว่า เธอนี่แหละคือ "พิณ" คือผู้หญิงคนนั้น ฝนเห็นพี่พิมปุ๊บ ฝนมองว่าผู้หญิงคนนี้สวย ดูใจดี ในขณะที่เค้าก็ดูมีมิติหลายมิติอยู่ในตัวเองมาก แล้วก็ไม่มีตัวเลือกอื่นเลย พี่พิมคืออันดับหนึ่งที่อยู่ในใจ เราพยายามหาสำรองไว้เผื่อพี่พิมไม่เล่นให้เรา แล้วพอคุยเสร็จ พี่พิมก็น่ารักมากเช่นกัน อยากเล่นมาก คำพูดเหมือนอาเอกเลย จะเป็นตัวละครตัวนี้ให้ดีที่สุด มีอะไรต้องให้แชร์กันนะ พี่พิมเหมือนโอเคมาก อยากเล่น ซึ่งคาดหวังมากๆ ด้วย
ต่อมา "แน็ก ชาลี" ฝนนึกไม่ออกว่าใครจะมาเป็น "เณรซัน" พี่ที่รู้จักกันก็บอกว่าลองเอาชาลีมาดูมั้ย เราลืมชาลีไปแล้ว แต่จำได้ว่าเป็นแว้นอยู่นะ เลยแบบเจอกันหน่อยมั้ย โจทย์ของเราคือเราอยากได้คนที่โกนหัวให้เราจริงๆ แต่เรารู้ว่ามันยากมาก เดี๋ยวหาวิธีแก้เอาแล้วกัน ชาลีมาเจอกันวันแรกที่บาแรมยูค่ะ ชาลีก็พูดมาในรถว่าผมไม่โกนนะ ตามสไตล์ชาลี มาถึงวันนั้น ชาลีพูดน้อยมาก ก็เล่าเรื่องกัน เรื่องมันเป็นแบบนี้ๆ ชาลีบอกว่าผมโกน แต่ไม่โกนคิ้วนะ เราก็นั่งมองเค้า เนี่ยคือเณรอ่ะ มีความเป็นโลกส่วนตัวสูงมาก จนมองเข้าไปแล้วชาลีดันนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งนั่นแน่นอนเค้าจะไม่ได้อินอะไร มองปุ๊บแล้วแบบ ใช่อ่ะ มันใช่มากๆ พอเล่าเรื่องราว โครงสั้นๆ ก็เลยเล่าเรื่องตัวละครตัวนี้ ชาลีเลยบอกว่าเอาคิ้วไปด้วย ยอมโกนให้ หลังจากนั้นที่แก้บทเรื่อยๆ เราจึงเริ่มที่จะเห็นตัวละครเณรซันมากขึ้น เขียนจากการเป็นเค้าเยอะขึ้นๆ
"น้องพลอย ศรนรินทร์" มารับบท "ฝ้าย" ฝนรู้แต่ว่านางเอกของฝนเรื่องนี้ ฝนอยากได้นางเอกที่ใส่ผ้าถุงสวย เป็นเด็กวัยรุ่นที่ใส่ผ้าถุงแล้วน่ารัก หน้าไทย ไม่มีจริต แล้วก็หายากมากเลย คนที่ได้ก็มันไม่ได้ด้วยคิวด้วยอะไรเยอะแยะมากมาย วันหนึ่งพี่ผู้จัดการกองให้ดูรูป นี่คือบุพเพของชั้น เป็น Destiny ของชั้น วันนั้นเห็นแค่ภาพนิ่ง น้องมาผมตรงแบบหน้าเหมือนพี่แหม่ม จินตหรามากๆ ถ้าน้องไม่เล่นเรื่องนี้ เรื่องหน้าน้องต้องเป็นนางเอกของฝน ติดต่อไป ด้วยความที่น้องอายุ 13 เอง แล้วคือบทมันแรงจังเลย คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างเครียด มันจะโอเคมั้ย บทแรงมากจริงๆ ก็ถูกปฏิเสธ ก็เสียใจเหมือนคนอกหัก ก็หาใหม่แต่มันไม่ได้ ยังไม่เจอสักที จนผ่านไปประมาณ 1-2 เดือนก็ลองคุยใหม่ ฝนยอมที่จะปรับบท ความแรงลงมาเพื่อน้องพลอย คือเข้าใจพ่อแม่ของน้องเลย ก็ลองมาคุยกันใหม่ ก็บอกว่าฝนยอมตัดฉากนี้ออกเลย ฝนรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้ที่เราเห็นแล้วเราชอบเลย เห็นแล้วถูกชะตา ไม่งั้นเณรซันคงไม่ชะงัก เป็นแบบดอกไม้งามๆ ที่อยู่ในทุ่งหญ้าแห้งๆ พอสอนเสร็จก็รีบขับรถมาตอนเย็น มาเจอคุณแม่ น้องมากับคุณแม่ ก็เล่าเรื่องให้ฟัง คุณแม่บอกเล่นค่ะเล่น แล้วก็ไม่ต้องปรับไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย คือพอมาคุยกันเค้าก็เข้าใจ รู้ว่าทำไมถึงมีซีนนี้เกิดขึ้น สุดท้ายมันคืออะไร ต้องขอบคุณคุณแม่น้องมากๆ ที่สุดท้ายเค้าเชื่อใจฝน พยายามคุยกับน้องว่า วันหนึ่งเมื่อหนังมันออกไป มันต้องมีคนว่าแน่ๆ ตัวละครตัวนี้ คนมันว่าฝ้ายนะ มันไม่ได้ว่าพลอย อย่าไปคิดว่าคนจะว่าพลอย พลอยเป็นคนที่จะมาสวมตัวละครตัวนี้ ฝนก็จะแซวขนาดอยู่ในกอง นางฝ้ายเธอร้ายมากเลยนะ คือในกองจะแซวกันอยู่อย่างนี้อยู่แล้ว
"พี่หนุ่ม อรรถพร" มาแสดงเป็น "พระอาจารย์ศีล" พี่หนุ่มนี่อยู่ในใจมาก กลัวมากด้วย คลาดกันบ่อยมาก ถึงเวลานัดแล้วไม่ค่อยได้เจอกันสักที รู้มาว่าพี่หนุ่มซีเรียสกับการทำงานมากๆ แล้วก็กลัว เราเป็นเด็กจะยังไงดี อยากได้มาแสดงมากๆ จนก่อนเปิดกล้องได้ไม่นาน พี่หนุ่มก็ถามมากับคนดูแลว่าสรุปจะเอาเค้าเล่นมั้ย จะให้เล่นมั้ย เราก็กังวล จะมีกังวลหลายๆ อย่าง มีปัจจัยหลายอย่าง ก็เลยแอบบอกพี่ไก่โปรดิวเซอร์ว่า พี่ไก่คะเราคุยดีกว่า แล้วถ้าไม่รับเล่นก็ยอมรับได้ ขอให้ได้เจอ สุดท้ายก็ได้เจอ พี่หนุ่มพูดน้อยแต่เข้าใจ เหมือนอ่านบทมา ทำการบ้านมาตลอด แล้วอยากเล่นแล้ว คือรอเราว่าเราจะตัดสินใจเมื่อไหร่ ฝนนึกไม่ออกว่าพอสวมจีวรแล้วจะเป็นยังไง แต่พอคุยรู้เลยว่าเข้าใจพระอาจารย์ศีลมากๆ พอได้ร่วมงานกัน ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าเวลาที่กำกับรุ่นใหญ่ๆ เราจะมีความเกร็งอยู่แล้ว แล้วคาแร็คเตอร์ของพระอาจารย์เหมือนเราเข้าใจอยู่คนเดียว หาวิธีพูด พอเค้าเล่นเสร็จปุ๊บมันเหมือนมีพลังมหัศจรรย์ วิ่งไปบอกพี่หนุ่มคะ สายตาเมื่อกี้มันเหมือนพระอาจารย์เลย พี่หนุ่มทำได้ยังไง พี่หนุ่มบอกชั้นไม่บอกแกหรอก อยู่ในกองพี่หนุ่มน่ารักมาก พี่หนุ่ม, อาเอก, พี่พิมช่วยพวกเราเยอะมาก ทำให้เราทำงานง่าย นักแสดงสามคนนี้เป็นนักแสดงที่ให้สมาธิกับทีมงาน เหมือนทำให้เรามีพลังที่จะทำต่อเยอะขึ้น
ส่วน "พี่กิก ดนัย" แสดงเป็น "พระทิน" เป็นตัวละครที่ไม่มีอ้างอิงอะไรอยู่ในหัวเลย เป็นตัวละครที่เราสร้างขึ้นมา จินตนาการจริงๆ หายากมากๆ เป็นตัวละครที่เรารัก หลายคนจะรักตัวละครตัวนี้ เราหาพระทินนานมาก หาไม่ได้ คนที่ได้คิวไม่ได้ ไม่โกนให้ ไม่ได้สักที มันยากเหลือเกินยากมาก วันหนึ่งก็เล่นของ ก็พูดกับตัวเอง บ่นๆ เนี่ยเจตนาหนูเป็นงี้ๆ นะ คือได้หมด ส่งพระทินมาให้หน่อยได้มั้ย ใครที่เหมาะสมจริงๆ หรือให้หนูเจอหน่อยได้มั้ย แล้วเค้าก็มาจริงๆ ไม่ได้รู้จัก เคยเห็นเค้าแค่ในทีวี เค้ากับเราไกลกันมาก จนไปเจอพี่ที่เค้าดูแลพี่กิกอยู่ บอกว่าเอาพี่กิกมั้ย พอดีว่าพี่กิกอยากเล่นหนัง ลองเสนอดู ถ้าโอเคกัน พี่กิกยอมโกนให้ แล้วเจอกันก็คุยกัน พี่กิกก็อยากเล่นมาก ยอมเล่น ข้อจำกัดอะไรต่างๆ ไม่มีปัญหาเลย คือวันนั้นความรู้สึกของเรา เรามองพี่กิกคือเค้าอยากเล่นมาก เค้ายอมโกน ไม่รู้ว่าเค้าเป็นพระทินได้รึเปล่า แต่เราตัดสินใจเป็นพี่กิกเพราะว่าการถูกคอกัน ฝนชอบทัศนคติของพี่เค้า เวลาทำงาน คุยกัน สบายๆ สุดท้ายแล้วพอมีการฟิตติ้ง พอพี่กิกสวมจีวร เค้าสง่ามาก พี่กิกกับฝนจะชอบนินทาพระทินกัน เข้าใจพระทินตรงกัน รู้สึกตรงกัน แล้วมันทำให้พิ่กิกเป็นพระทิน
เรื่อยๆ คนในกองบอกทำงานง่ายมาก พี่กิกเข้าใจไปเรื่อยๆ แล้วซึมซับไปเรื่อยๆ เค้าเป็นพระทินของเราเลย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่เราก็จะเรียกพระทินมาแล้ว จะชอบไปแหย่เณรซันว่าดูพระทินเป็นตัวอย่างนะคะ อะไรประมาณนี้
การร่วมงานกับทีมนักแสดง มีการฝึกซ้อมการแสดงก่อนถ่ายทำจริงอย่างไรบ้าง
เรามีเวิร์กช็อปกับพลอย, ชาลี, พี่กิก ก็มาเจอกัน เฮฮาตลก จริงๆ ก็เป็นการมาคุยกันว่าตัวละครตัวนี้เป็นยังไง มาลองเล่นกันดูมั้ย มันทำให้การมาเจอกันก็รู้ว่าตรงไหนที่ยังไม่ใช่ เรามองเห็นพลอยเป็นฝ้าย แล้วมันทำให้การกลับไปแก้ไดอะล็อคมันง่ายขึ้น อย่างน้องพลอยจะมองว่ามุมไหนที่น่ารักเลยเลือกดึงมุมนั้นเอามาปรับ เณรซันเหมือนกัน ตอนแรกที่ซ้อมบทถามแน็กไปว่าเล่นรึยัง อ๋อ เมื่อกี้ผมซ้อมบทเฉยๆ ครับ ถ้าแสดงจะนิ่งกว่านี้ งั้นไม่ต้องแสดง เป็นตัวของตัวเองไปเลย เค้าจะนั่งจะเดิน คือมันใช่เลย ส่วนพี่กิกก็จะคุยกันแบบมันต้องเป็นแบบไหน สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ นักแสดงเราคุณภาพมาก
ส่วนอาเอก, พี่หนุ่ม, พี่พิม 3 คนนี้เป็นมืออาชีพมากๆ เลย พี่ๆ เค้ามาช่วยให้เราไม่เกร็ง เราตื่นเต้นตลอดเวลาที่พวกพี่เค้าเข้าฉาก เค้าจะเล่นยังไง มันตื่นเต้นว่าเค้าจะเล่นตัวละครที่เราวาดมายังไง แล้วมันดีมาก สนุกมาก มีอะไรประหลาดใจเยอะมาก อาเอกนี่แบบทุกครั้งที่เข้าซีนนี่เหมือนโดนหยุด ตีตั๋วใบละหมื่นมาดู บางครั้งไม่อยากสั่งคัท อยากดูไปเรื่อยๆ อาเอกมีความละเอียด มีพลังมาก ถึงเวลาที่ต้องถ่ายกับอาเอก ฝนต้องทำการบ้านเยอะมาก แล้วอาเอกก็จะช่วยเรา เป็นแบบนั้นแบบนี้ดีมั้ย อาเอกจะมีเหตุผลในการทำแต่ละอย่าง หยิบอันนี้ทำไม จับทำไม ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เหมือนกันกับพี่พิมที่จะถามเราตลอด พี่พิมจะช่วยแม้กระทั่งอยู่หน้าเซ็ต พี่หนุ่มก็เหมือนกัน ตอนแรกจะกลัวมาก ตอนหลังก็ยังกลัวอยู่แต่เริ่มเล่นมากขึ้น พี่หนุ่มมีความจริงจังในเรื่องงาน พี่ๆ เค้าทำให้เราไม่เกร็งที่เราจะพูดกับเค้า เรื่องนี้เหมือนได้นักแสดงที่ดี ต้องขอบคุณทุกคนเลย เค้าทำการบ้านมาดี เค้าเข้าใจ บางอันมันมีความยากในการถ่าย แต่เค้าทำให้การทำงานง่ายมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่กับเราทุกคิวคือชาลี ตอนแรกมาเกร็งๆ พอตอนหลังจากเกร็งเป็นเกรียน สนิทกันมาก เล่นกัน สร้างความประหลาดใจให้ฝนอยู่เหมือนกัน เพราะเค้าเล่นตลอดเวลา แต่พอแอ็คชั่นปุ๊บ เค้าเป็นอีกคนหนึ่งเลย เค้าจำได้ เค้ามีรายละเอียดในอารมณ์ของตัวละครตัวนี้ มีความสามารถมาก นี่แอบชม เพราะอยู่ในกอง จะชอบเล่นกันแบบทำตัวดีๆ เทคเดียวผ่านได้มั้ย มีความสุขมากกับนักแสดงทั้งหมดทั้งเซ็ตเด็กและผู้ใหญ่ พวกเค้าทำให้เราทำงานง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะฉากประทับใจ
ฉาก "งานบุญข้าวประดับดิน" เป็นฉากที่ฝนชอบมากเลย มันเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ประเพณีความเชื่อ รู้สึกว่าคนต่างจังหวัดเราจะชอบไปทำบุญ เป็นกิจกรรมที่เราได้รวมตัวกัน พูดคุยกัน แต่นี่มันคืองานบุญมารวมตัวกัน เพื่อทำให้คนที่ตาย ความรู้สึกมันไม่ใช่งานศพ บอกไม่ถูก งานนี้เป็นงานที่สวย ให้ความรู้สึกหม่นๆ รู้สึกว่าทุกคนมีคนที่เค้าคิดถึง มารวมตัวกันทำกระทงข้าวน้อย ลึกๆ ในใจคือมีความผิดบางอย่าง มีบางอย่างในใจ องค์ประกอบใหญ่ที่สุดคือ แต่ละคนมีคนที่เค้าคิดถึง นี่คือสิ่งที่เค้าคิดว่าช่วยคนเหล่านั้นได้จริงๆ งานบุญนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดในเรื่อง ประเพณีนี้เป็นสิ่งเชื่อมระหว่าง 2 มิตินี้เข้าด้วยกัน จริงๆ ตอนนี้ก็ถูกปรับไปตามยุคสมัย จะมาทำกระทงห่อข้าวน้อยกัน มียาสูบ มีข้าวเหนียว พอเข้าแรม 14ค่ำ เดือน 9 ข้ามไปเที่ยงคืน จะเอากระทงไปวางไว้ตามต้นไม้ กำแพง มีความเชื่ออย่างหนึ่ง พื้นที่ที่มีบุญคือ
วัด เพราะฉะนั้นพวกเปรตหรือสัมภเวสีต่างๆ ที่อยากได้บุญก็จะมาที่วัด เค้าก็เอาอันนี้ไปวาง ก็แล้วแต่คน บางคนเยอะหน่อย บางคนก็มาทำให้ญาติพี่น้องตัวเอง แล้วพอหนึ่งปีมีครั้งเดียว มันเลยสำคัญสำหรับเค้า ซึ่งจริงๆ ดูเป็นประเพณีเล็กๆ มากในหมู่บ้าน ปัจจุบันยังมีอยู่ในภาคอีสาน
"ฉากในวัด" นี่ก็ชอบหมดเลย วัดนี้มีพระจำนวนน้อย แต่ก็มีพระหลายแบบ มีพระทิน มีเณรจริตเยอะ มีพระอาจารย์ศีลอยู่ในบรรยากาศความเงียบเหงา มันก็จะมีเรื่องราวของมันอยู่ ชอบฉากบิณฑบาต เห็นเดินกันแล้วอยากใส่บาตร ฉากในวัดทั้งหมดเป็นบรรยากาศเล็ก หมู่บ้านเล็กๆ ใส่บาตรกับข้าวเหนียว มันมีเสน่ห์ดี โชคดีที่มีน้องคนหนึ่งที่เค้าจะรู้เรื่องราวเค้าจะคอยช่วย ฉากในวัดก็เลยรวมๆ เป็นอะไรที่เรียบๆ ง่ายๆ พยายามพาคนหลุดเข้าไปอีกพื้นที่หนึ่ง อีกโลกๆ หนึ่งที่เราอาจจะไม่เคยเข้าไปสัมผัส คนไปฟังเทศน์ เหมือนวัดเป็นสถานที่ที่มันเป็นตัวเชื่อมต่อ อย่างกุฏิพระ ฝนนิยามมันว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เราอาศัยอยู่ มันคือบ้าน แล้วจะมีเรื่องราวของมัน ชอบทุกฉากที่อยู่ในกุฏิเลย เมื่อเราอยู่ในบ้าน เณรซันได้อยู่ในกุฏิเหมือนบ้านเค้า พื้นที่ส่วนตัวที่เราทำอะไรก็ได้ บางทีก็เหงา บางทีก็กลัว หลายอารมณ์นี้เกิดขึ้นที่กุฏิ แล้วเณรซันก็เป็นตัวสะท้อน มีเรื่องราวไหลผ่าน ที่นี่มีสิ่งที่เกิด มีสิ่งที่ดับไป หรือตั้งต้นขึ้นมาใหม่
สำหรับ "ฉากต้นไม้" มันเป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตาย พี่ผู้กำกับภาพให้คำจำกัดความกับสถานที่นี้ว่า "เป็นที่ที่นรกมันสร้างสวรรค์ขึ้นมา" มันเป็นที่ที่สวยงาม สบาย โลเกชั่นมันฉากที่หลุดออกมาจาก Mood & Tone ของหนังทั้งเรื่อง ที่ที่ตัวละคร 3 ตัวคือ พระทิน, เณรซัน และฝ้าย เค้ามาผ่อนคลาย มามีเรื่องราวที่นี่ มีคนมาที่นี่ มีเรื่องให้คิดถึง มีเรื่องให้ทำต่อ เหมือนเป็นที่พัก ที่สงบร่มรื่นห่างไกลจากวัด ทำอะไรก็ได้ เป็นที่ที่มาทำผิด แต่มันคือที่ที่ปลอดภัยในความไม่ปลอดภัยหรือเปล่าฉากปะทะกันทางการแสดง
มีฉากที่บางครั้งมันอาจจะไม่ใช่การปะทะที่รุนแรง มันเป็นการปะทะกันด้วยอินเนอร์สูงมาก เค้าสู้กันด้วยอะไรบางอย่าง คนบ้าเลือกที่จะแอ็คชั่นแบบนี้ พระอาจารย์ศีลอีกแบบ คือถ้าเราไปดูหนังเรื่องนี้ เราจะต้องเห็นฉากการปะทะกัน ทางการแสดงที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว หรือฉากของพระทินจะเรียบง่าย แต่ว่ามีบางอย่างที่จะเห็นถึงความรู้สึกในสิ่งที่เค้าจะพูด เหมือนทุกครั้งที่เข้าฉากจะเห็นการแสดงที่น่าประหลาดใจ อย่างฉากเณรซันกับคนบ้า เค้าไม่ยอมกัน ฟัดกัน มันมีพลังมาก ไม่ได้เห็นแบบนี้มานานมาก เป็นการเล่นที่ละเอียดมากของทุกตัวละครและนักแสดง ฉากยากที่สุด
ฉากยากนี่จริงๆ จะกังวลเรื่องฉากที่มีเทคนิคอะไรเยอะๆ ถึงแม้จะวางแผนแต่สุดท้ายหน้างานมันก็คงมีพลาด ก็เลยเกิดความกังวล ฉากที่ว่ายากที่สุดคือทุกฉากที่สร้างด้วยการเคลื่อนไหว ด้วยทุกอย่าง ฉากนั้นเป็นการถ่ายทำที่ยาก มีสลิง รื้อหลังคาออก รื้อกุฏิออก ฉากนั้นมีทั้งผีทั้งเอฟเฟ็กต์เยอะแยะไปหมดเลย เครียดมากวั้นนั้น แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี
อีกฉากอารมณ์ที่ยากอีกคือฉากอ้วก คือให้ชาลีอ้วก เราเตรียมอ้วกมา เพื่อจะให้หลอกกอ้วก ทำปุ๊บรู้สึกว่ามันไม่ได้เลย เราจะเล่าอะไร อ้วกด้วยความรู้สึกอะไร วันนั้นอยู่กับชาลีแล้วก็เป็นที่เราสองคนมีสมาธิมากๆ เราได้ยินเค้าพูดว่า ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการติดคอว่าการแสดงมันเป็นยังไง ด้วยการถ่ายกล้องเดียว มันต้องมาเล่นซ้ำหลายรอบ พยายามทำคัทติ้งให้น้อยเพื่อจะได้ให้เค้าเล่นน้อยๆ วันนั้นคุยกันเยอะ แล้วฝนต้องติดคอด้วยเหมือนกัน คุยจนเค้าเล่นได้ จนคนรู้สึกว่าอะไรติดคอชาลี พอถึงจังหวะที่มันจะอ้วกพุ่งออกมา สิ่งต่างๆ ที่เราเตรียมมา มันไม่เวิร์ก เราก็มองตาชาลี ชาลีบอกผมเข้าใจสายตานี้ดีว่าพี่จะพูดอะไร ผมอ้วกได้ ชาลีจะอ้วกจริงให้ แต่มันใม่ใช่อ้วกธรรมดาไง มันต้องอ้วกออกมาเป็นข้าวเหนียว เราก็คิดกันว่าจะอ้วกยังไงให้มันออกมาเป็นข้าวเหนียว ทีมงานก็ช่วยกันคิด เราก็ปั้นข้าวเหนียวให้มันเป็นกัอน ก้อนไม่ใหญ่มาก 3-4 ก้อนแล้วก็กลืนลงไปทั้งก้อน หลังจากนั้นก็กินนมเข้าไป พอสั่งแอ็คชั่นปุ๊บก็พุ่งพรวดออกมา มีบางก้อนที่สลาย และมีบางก้อนที่หลุดออกมา คือทรมานมาก วันนั้นประทับใจชาลีมาก พอคัทปุ๊บ เราตะโกนบอกชาลีทำอะไรก็ได้ ชาลีไม่ผิด (หัวเราะ) เค้าก็ดีใจด้วยที่เล่นได้ เราให้เต็มที่เลย 2 เทค แค่ไหนก็แค่นั้น พอมาตัดดู มันก็ได้จริงๆ ถ่ายอยู่ 3-4 ชั่วโมง สุดท้ายมันก็ผ่านมาได้ อันนี้คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นหน้ากองแล้วเราจะต้องทำให้ได้ วันนั้นขอบคุณชาลีมาก ชาลีก็สามารถอ้วกข้าวเหนียวออกมาเป็นก้อนให้เราได้ มันไม่น่ายากแต่มันยาก ซีนนี้ประทับใจมากแล้วก็จดจำมากบรรยากาศการถ่ายทำโดยรวม
บรรยากาศในกองเราตลก สนุกสนานมาก ดีใจด้วยที่มีพลังบางอย่าง น้องๆ ฝึกงานก็น่ารักมีทัศนคติในการทำงานที่ดี หนังเรื่องนี้ข้อจำกัดมันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค งบประมาณ เวลา เราต้องวางแผนกันมามากๆ เพื่อที่จะไม่ต้องมาแก้ไขตอนหลัง แต่บรรยากาศในกองมันกลับสนุกมากๆ แล้วทุกคนช่วยเหลือกัน ทุกคนต่างไม่โกรธกัน ไม่ถือโทษกัน มีอะไรเล่นผ่อนคลายตลอด อาจเพราะเป็นโลเกชั่นมันน่ากลัว เราต้องอยู่กันดึกๆ บางทีพี่ๆ เค้าก็จะมีธีมคอสตูมเป็นลายจุดบ้าง ธีมฟรุ้งฟริ้งบ้าง ใครไม่ใส่มาไม่มีสิทธ์ถ่ายภาพ มีการจับฉลากปีใหม่กัน เลยทำให้บรรยากาศในกองมันสนุกมาก มันเลยไม่เครียด นักแสดงก็เฮไปกับเราด้วย พี่กิกเห็นนิ่งๆ หลังๆ เริ่มปล่อยมุข เริ่มเฮ เริ่มสนุกกัน
การถ่ายทำจริงในกองถ่าย การทำงานแข่งกับเวลามีปัญหา-อุปสรรคอะไรบ้าง
ด้วยความที่เราอยู่กับมันมาหลายปี เราเลยไม่ตื่นเต้นอะไร ฝนอยากให้พี่ๆ ที่มาทำงานร่วมกับเราทำงานง่ายสุด มีความสุขกับเรา เพราะฉะนั้นปัญหาที่มันเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วก่อนการถ่ายทำ ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นว่าเราจะได้ทำหนังใหญ่แล้ว มีแต่ความรู้สีกว่าจะทำยังไงให้มันได้ดี ข้อจำกัดเยอะที่สุด ทำยังไงให้ทำงานแล้วโอเคกับเราที่สุด ทำแล้วไม่ล่ม แต่พอถึงวันที่เราได้ถ่ายจริงๆ แล้ว พอรู้ใกล้วันเข้ามาเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกตื่นเต้น แต่เราก็ปรับจากที่นั่งอยู่ในมุมของการเขียนบท วันนี้เรามานั่งในมุมของผู้กำกับ แทบจะไม่จับบทอีกเลย จะดูเป็นซีนๆ ตอนถ่าย ความรู้สึกก็ต่างกัน มันมีเทคนิคใหม่ที่เราไม่รู้ พอเรารู้ปุ๊บมันก็ง่าย สนุกมาก คนละแบบกันเลยในแต่ละวัน แล้วมันมีปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน มีพี่ปอ-ผู้ช่วยผู้กำกับพูดว่า ฝนจะถ่ายยังไง จริงๆ เรารู้ว่าเราจะเล่าอะไร แต่บางครั้งเราไม่รู้ว่าเราจะเล่าออกมาด้วยวิธีไหน เรามีคนที่รู้ มีพี่ที่น่ารักมาช่วยเรา บางทีเรานึกภาพไม่ออก พยายามนึกภาพแล้ว การถ่ายคัทนี้ๆ เพื่อมาต่อ ก็ไม่เข้าใจ แต่พอทำงาน อ๋อ...มันเป็นแบบนี้ มันเข้าใจ หลังจากที่เราประหม่า มันตื่นเต้นตลอดเวลา ไปเรียนทุกวัน มาเจอนักแสดง มาเจอทีมงาน เลยเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่งเลย เป็นการเรียนรู้มากกว่าที่จะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคนะคะ การร่วมงานกับทีมนักแสดง
รู้สึกว่าเราโชคดีตรงที่พี่ๆ เค้ามืออาชีพ เราศึกษาจากเค้า แล้วเค้าก็เลือกที่จะแชร์แล้วก็รับจากเรา ความกลัวมันค่อยๆ หายไปเมื่อพี่ๆ และนักแสดงเค้าบอก แล้วความกลัวก็ค่อยๆ หายไป รู้สึกว่าเราเป็นเด็กประสบการณ์น้อย อยู่ท่ามกลางพี่ๆ ที่เขามีประสบการณ์มากกว่า พี่เค้าจะน่ารัก เค้าบอกว่าให้พูดมาก่อนว่าต้องการยังไง แล้วเค้าจะบอกว่าจะต้องทำยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ แล้วเราก็มาเจอน้องๆ ฝึกงานที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ มีทัศนคติในการทำงานที่ดี เราไม่แน่ใจว่าเค้าได้อะไรไปเยอะมั้ยในการมาอยู่กับพวกเรา แต่ที่แน่ๆ เรารู้สึกว่าเราให้ความสุขกับเค้า ให้ความเป็นพี่เป็นน้องกัน แล้วมันเป็นจังหวะเดียวกับที่น้องเค้าต้องเสนอโปรเจ็คต์จบเหมือนกัน พอเราพยามจะบอกเค้า นี่คือวิธีการทำงานเป็นการรวมGenเก่ากับGenใหม่ได้ดี มีการพูดคุย การสอนแบบพี่น้อง ด้วยความที่นักศึกษาเด็กรุ่นใหม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างมาก แต่ว่าพอกลับมาสู่โลกของการทำงานจริง อุปกรณ์เหล่านั้นบางทีมันไม่ช่วยอย่างที่เราทำด้วยมือ หรือวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ในตอนนั้น เป็นสิ่งที่ในห้องเรียนไม่มีสอน เราว่าทุกคนน่าจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ค่อนข้างเยอะในฐานะผู้กำกับหนังเต็มตัวเรื่องแรก การทำงานในหนังเรื่องนี้ให้อะไรกับตัวเราบ้าง
รู้สึกว่าชนะตัวเองแล้ว ทำได้สักที แล้วเราก็ทำในเรื่องที่เราชอบแล้ว เรารักมัน หลงรักมันมากแล้ว เราอยากเห็นมันเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ได้ประสบการณ์เหมือนเป็นห้องเรียนใหม่ มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องรู้ และต้องแก้ปัญหาโดยที่มันไม่สูญเสียอะไร เราอาจจะต้องยอมรับบ้าง เรียนรู้การทำงานด้วยกัน หนังเรื่องนี้มีเทคนิคอะไรที่เยอะ ได้เรียนรู้ มีข้อมูลใหม่ เรื่องของการกำกับ เรื่องของการเล่าเรื่อง มันช่วยได้มาก ทำให้ฝนมีแรงในการที่จะไปสอนในเทอมหน้า เราได้โตขึ้น เหมือนมีประสบการณ์มากขึ้นที่จะไปบอกเค้า ไปส่งต่อให้เค้าอีกที แล้วก็ได้ทำงานกับคนดีที่ได้จากเรื่องนี้คือได้เจอกัลยาณมิตรที่ดี ได้เจอผู้ใหญ่ที่สนับสนุน ให้กำลังใจ มีคนคอยช่วย มีแต่ได้หมดเลย เลยรู้สึกว่าหลังจากนี้คงไม่มีบทเรื่องไหนที่เราจะชอบที่จะอยู่กับมันขนาดนี้ต่อจากนี้ ก็ยังจะทำหนังต่อไปมั้ย
ฝนมีคำพูดหนึ่งที่เตรียมจะมาบอก คือฝนไม่ได้คิดที่จะทำหนังหรือคิดที่จะเขียนบท เป็นแค่คนชอบดูหนัง ขี้โม้ เล่านู่นนี่ตลอดเวลา วันหนึ่งตอนที่เราเรียนก็มีอาจารย์เต้ยนี่แหละ เค้าเป็นคนแรกที่มาจี้ศักยภาพเรา บอกว่าแกไม่แค่ดูหนังได้ แกทำหนังได้ มันเหมือนเป็นจุดประกาย ว่าเราจะทำได้จริงๆ เหรอ แล้วมันก็เลยเกิดข้อพิสูจน์ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะท้อหรืออะไร เราก็จะผ่านมันไปให้ได้ มีน้องที่จบมาคิดว่าจะได้ทำหนังมั้ย ฝนจะบอกว่าไม่เคยรอพร้อมเลย บอกแค่ว่าจะทำถึงเมื่อไหร่ ถึงตอนที่เราอายุเท่านี้ แล้วถ้ายังไม่ได้ทำสักที เราก็จะทำอย่างอื่นแล้ว ทุกวันที่อยู่กับมัน จะได้ทำหนังใหญ่แล้ว ตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว มันผ่านการผิดหวังเรื่อยๆ สุดท้ายเมื่อถึงเวลาแล้วมันก็ได้ทำจริงๆ ฝนเลยรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ทำแล้วได้ดีจริงๆ จะทำไปจนตายมั้ย ไม่รู้ แต่มันสนุกจริงๆ เจอคนเยอะ มีความสุขกับการคุยกับนักแสดง อยากทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าพอหนังออกไป ผู้ชมจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ แค่เราได้ทำในสิ่งที่เราถนัด เรามีความสุข แล้วทำมันได้ดี มันมีเรื่องหนึ่งที่เราอยากทำ เคยบอกพี่ปรัชกับพี่อ๊อดว่าเราอยากทำ อยากทำมากที่สุด แล้วเรายังไม่ได้ทำ อันนี้มันเหมือนการเปิด จริงๆ ยังมีเรื่องที่เราอยากทำมากๆ ถ้าได้ทำก็คงถึงความฝันจริงๆ ค่ะเสน่ห์-ความน่าสนใจของเรื่องนี้
ความน่าสนใจของหนังผีระทึกขวัญเรื่องนี้คือ เรื่องราวของมันหรือประเด็นของเรื่อง แค่คำว่า "อาบัติ" มันก็คือการกระทำผิด ทำให้มันอยากรู้ว่าทำไม เพราะอะไร แต่ว่าหนังผีเรื่องนี้จะแตกต่างจากหลายๆ เรื่องตรงที่มันเป็นหนังผีที่ไม่ได้โฉ่งฉ่างอะไร มันเป็นหนังผีที่กำลังเล่าเรื่องของผี และเล่าเรื่องของคน เลยมองว่าอันนี้น่าจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เรามาดูเรื่องของผีด้วย มาดูเรื่องของคนด้วยเนื้อหาแรงๆ ฝนไม่ได้คิดถึงขั้นโดนแบน แต่คิดถึงกระแสที่มันต้องมีมา ก็ต้องยอมรับกันไป ว่ากันด้วยเหตุผล แต่กระแสนี่คงจะต้องโดนอยู่แล้ว ประเด็นมันแรงไปมั้ย ซึ่งฝนคิดว่าสุดท้ายมันตอบในหนัง หน้าหนังที่มันแรง มันแรงอยู่แล้ว แต่ว่าฝนเชื่อว่า เมื่อดูในหนังมันจะตอบคำถามหมดแล้วความคาดหวังต่อหนังเรื่องนี้
ก็คาดหวังนะคะ แต่ก็เข้าใจอย่างหนึ่ง พอหนังฉายนี่ก็ไม่ใช่ของเราแล้ว มันเป็นของผู้ชม ฝนอยากคาดหวังให้เป็นหนังที่น่าเอ็นดู ไม่ได้คาดหวังว่ามันต้องเป็นหนังดีหรือหนังที่ได้เงินเยอะ ได้เงินเยอะมันก็ดี อยากให้เป็นหนังที่ทำให้คนอยากดู ดูแล้วก็อยากที่จะให้ความเอ็นดูกับมันว่า มันกำลังจะเล่าอะไร คาดหวังตรงนี้มากกว่า ไม่อยากให้ไปตั้งแง่หรือเห็นแล้วมันต้องเป็นประเด็นแบบนั้น มันไม่น่าดูแน่ๆ อยากให้ลองดูก่อนแล้วอยากให้คนเปิดใจว่าจริงๆ แล้วหนังมันอาจจะแรง แต่เหตุการณ์จริง และข่าวที่เกิดขึ้นจริงมันแรงกว่าในหนังมากผู้ชมจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้บ้าง
สิ่งที่ฝนอยากนำเสนอมากๆ เลยคือบาป บุญ กรรม เวร มันคืออะไร มันเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การจะทำหรือไม่ทำ สิ่งที่อยากให้คนดูดูหนังเรื่องนี้แล้วเข้าใจคือทั้งหมดเหล่านี้ที่เป็นนามธรรมมากๆ ที่ศาสนาสอนมา ไม่ต้องไปมองหามันคืออะไร สุดท้ายมันก็ฝังอยู่กับเราตลอด เรารู้ตัวเองว่าเราจะทำอะไร เราเลี่ยง เราไปทำสิ่งนี้เพราะอะไร การทำบุญทำทาน มันคือการสร้างสติ คือเราไม่ต้องไปคาดหวังว่าเราจะได้ผลอะไรกลับมา แต่เราแค่คุยกับตัวเองดีกว่าว่าเรารู้แล้วหรือยังว่าเรากำลังทำอะไร ผิดชอบชั่วดีคืออะไร และทำไปเพื่ออะไร ฝนว่าคือสิ่งที่อยากให้คนดู ดูแล้วมันสะท้อนกลับมา ดูแล้วบันเทิง สนุกกับมัน ถึงแม้ว่าจะมีดราม่าแต่อยากให้สนุก นอกจากจะได้แง่คิดแล้ว อยากให้คนดูเข้าใจทุกตัวละคร อันนี้สำคัญ เมื่อเข้าใจตัวละครแล้ว เราจะเข้าใจว่ากรรมเวรหรือบาปบุญคืออะไร เราน่าจะอยู่กันได้ง่ายขึ้น เพราะเราจะมีความให้อภัยกันมากขึ้นหนังมันมีความสนุกของมันอยู่ มีแง่คิดสอดแทรกเข้าไป ความตั้งใจและความมุ่งหวังของฝน ฝนอยากให้มันเป็นเหมือนหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ที่แจกตามวัดที่อ่านง่ายๆ รู้และสำนึกโดยตัวเราเองสำคัญที่สุด ให้คนดูได้รู้จริงๆ สุดท้ายคนเรามันทำผิดกันได้ สังคมมันจะนอยู่ยิ่งขึ้นถ้าเราให้อภัยกัน คนเรามันมีผิดพลาดกันได้ ไม่ต้องไปโยนหาว่า ทำไมไม่ได้รับผล บาปหน้าตาเป็นยังไง จริงๆ มันอยู่ที่เรา มันอยู่ที่จิตสำนึกของเรามากกว่า ก็อยากให้สนุกไปกับหนังเรื่องนี้ค่ะ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit