ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การประชุมแถลงผลการทบทวนนโยบาย วทน. จากมุมมองของอังค์ถัดในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนการใช้นวัตกรรมในประเทศ ผลักดันจากระบบบริหารจัดการ วทน. พร้อมกับการการใช้นวัตกรรมในภาคเอกชน ณ ตอนนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการจัดกลุ่มเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคมในหลายเรื่อง อาทิ การจัดทำมาตรการและส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาด้าน วทน. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เช่น โครงการคูปองนวัตกรรม การส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในภาคอุตสาหกรรม มาตรการลดหน่อยภาษีด้านการวิจัยและพัฒนาจาก 200% เป็น 300% การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานและคุณภาพของประเทศ เรียกว่า MSTQ ที่เกี่ยวกับระบบมาตรวิทยา มาตรฐาน การทดสอบและการประกันคุณภาพ โครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ที่ส่งนักวิจัยภาครัฐเข้าไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน รวมถึงการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เช่น การจัดให้มีที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัดให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีในท้องถิ่น การพัฒนาโมเดลบริหารจัดการน้ำชุมชน การสร้างแก้มลิง การจัดสรรที่ดินแบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม และการเชื่อมโยงความร่วมมือด้าน วทน.กับต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือด้านไอทีกับเกาหลีใต้ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพกับประเทศบราซิล เป็นต้น
ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงสถานภาพ วทน.ของประเทศได้อย่างตรงไปตรงมา มีการวิเคราะห์ รวบรวมความคิดเห็นในวงกว้างทุกภาคส่วน มีความโปร่งใสและชัดเจนเป็นรายงานฉบับที่สมบูรณ์สามารถนำมาปรับใช้จริงได้ในทางปฏิบัติ
ด้าน Ms. Marta Perez Cuso จากอังค์ถัด กล่าวว่า อังค์ถัดได้จัดทำการทบทวนนโยบายในหลายประเทศ สามารถจัดลำดับความสำคัญในขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับประเทศไทย หลายประการ คือ 1. การปรับระบบบริหารจัดการ วทน. ลดความทับซ้อนในการทำงานของหน่วยงาน แบ่งบทบาทความรับผิดชอบในงานให้ชัดเจน กระจายนโยบายและโครงสร้างพิ้นฐานสู่ระดับภูมิภาค 2. การส่งเสริมนวัตกรรมในภาคเอกชน โดยสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง บริหารเงินอุดหนุนโครงการวิจัยและพัฒนา ปรับกฏหมายสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและแรงจูงใจต่าง ๆ ให้ภาคเอกชน 3. ยกระดับระบบการศึกษา โดยเฉพาะอาชีวศึกษา เน้นการจัดฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานด้านเทคนิค การเพิ่มความสามารถครู อาจารย์ และพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคธุรกิจ 4. พัฒนาระบบนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยเฉพาะการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นตัวแทนประชากรกลุ่มใหญ่ ซึ่งรัฐต้องเพิ่มการสนับสนุนองค์ความรู้และนวัตกรรมให้กระจายไปตามภูมิภาค
ขณะที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัด ให้ความเห็นว่า เรื่องเร่งด่วนของการพัฒนา วทน.ในประเทศไทย คือ การสร้างความตระหนักต่อสังคมให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือพึ่งพาตัวเลขการส่งออกและการใช้แรงงานราคาถูก มาเน้นการสร้างสังคมฐานความรู้และการใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภาพเหมือนประเทศรายได้สูงหลายประเทศ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit