AREA แถลง ฉบับที่ 312/2558: วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เศรษฐกิจจะกระตุ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง

15 Oct 2015
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

[email protected]; www.facebook.com/dr.sopon4

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรให้กำลังใจรัฐบาล เพราะหากสามารถทำได้สำเร็จ ประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้า ความผาสุกก็จะเกิดขึ้น ความสมานฉันท์ก็จะเกิดตามมา อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะประสบความสำเร็จค่อนข้างจำกัด และอาจกลายเป็นการสร้างปัญหาของประเทศในอนาคต

การที่เศรษฐกิจไทยจะไม่กระเตื้องนั้น ไม่ใช่เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกแต่อย่างใด ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในประเทศอาเซียนทั้งหลายนั้น ประเทศอื่น ๆ มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในอินโดจีน รวมทั้งเมียนมา ประเทศมาเลเซียที่แม้จะมีปัญหาการส่งออกน้ำมันซึ่งขณะนี้ราคาตกต่ำเป็นอย่างยิ่ง หรือแม้แต่ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ยกเว้นประเทศบรูไน ที่มีขนาดเล็ก ๆ ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครของเราเพียง 3 เท่าเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่อาจอ้างความตกต่ำทางเศรษฐกิจในยุโรปมาเป็นข้ออ้างถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศไทยของเรา ยิ่งกว่านั้นในสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวแล้ว

เศรษฐกิจที่ไม่กระเตื้องก็เพราะประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้ง ภาวะนี้คล้ายเมียนมาก่อนที่จะเปิดประเทศด้วยการจัดการเลือกตั้งเสรี และหลังจากนั้นประเทศต่าง ๆ ก็มาทำการค้า การลงทุนมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของเมียนมา แทบจะไม่เติบโต แต่ปรากฏว่าในขณะนี้เศรษฐกิจของเมียนมา นับว่าเติบโตสูงสุดในประเทศอาเซียนทั้งมวล นี่แสดงถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง

การที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงทำให้การค้ากับประเทศในยุโรปและอเมริกา ค่อนข้างถูกจำกัด และกีดกัน การเดินทางมาเยือนของผู้นำประเทศเหล่านี้ก็ไม่มี หรือไทยก็อาจไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในประเทศเหล่านี้ยกเว้นที่เป็นการประชุมในระดับนานาชาติ เช่นที่มีการจัดการประชุมองค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์กที่ท่านนายกรัฐมนตรีของไทยได้มีโอกาสเดินทางไป ในขณะเดียวกันจีนที่เป็นพันธมิตรสำคัญของไทย ก็อาจประสบปัญหาเศรษฐกิจในไม่ช้า โอกาสที่จะช่วยไทยได้เต็มที่ คงหวังได้ยาก

และโดยที่ไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 การซึมยาวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2557, 2558 และถึงปีหน้า 2559 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ในภาวะขณะนี้กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มประชาชนทั่วไป และภาคเอกชน แต่อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักในกลุ่มข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำที่แน่นอน และกลุ่มนักธุรกิจระดับสูง

โดยที่เศรษฐกิจยังไม่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในชนบท กลับอาจไม่ช่วยให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติม เพราะลู่ทางการลงทุนอาจตีบตัน เงินที่ให้กับท้องถิ่นไปจึงอาจนำไปก่อสร้างหรือทำอะไรก็ตามที่ไม่ได้เป็นการต่อยอดทางธุรกิจ แต่เป็นการสนับสนุนการรับเหมาก่อสร้างต่าง ๆ ที่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์อาจมีอยู่ในวงจำกัด การที่จะทำให้เงินสะพัดจึงไม่มี

การกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วยการผ่อนคลายกฎการอำนวยสินเชื่อ อาจทำให้สถาบันการเงินอ่อนแอลง ทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อาจทำให้หนี้ครัวเรือนในส่วนที่ไม่ได้เป็นทุนในการต่อยอดธุรกิจยิ่งพอกพูน และทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนอ่อนแอลง ประเทศชาติก็จะอ่อนแอลงไปด้วย แต่อาจทำให้การควบคุมอำนาจของรัฐเข้มข้นขึ้นเพราะในทางหนึ่งประชาชนระดับล่างอาจต้องพึ่งทางราชการมากขึ้น ไม่อาจที่จะประกอบเศรษฐกิจได้ดีเช่นในยุคก่อน ๆ ความกระด้างกระเดื่องอาจจะน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดได้ เช่น แม้ในสมัย 3 ทรราชจะมีอำนาจทางการเมืองเข้มแข็ง แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาได้เช่นกัน

รัฐบาลจึงควรจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ส่วนหนึ่งอาจทำให้เงินสะพัดในตลาดมากขึ้น ไม่ใช่การซื้อเสียง แต่เป็นการทำการรณรงค์ ป้ายโฆษณา การโฆษณาในสื่อต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งจะยังความคึกคักให้กับเศรษฐกิจ นานาชาติก็จะสนับสนุนมากขึ้น มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของชาติก็จะกระเตื้องขึ้นอย่างแน่นอนผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน