นพ.ศรายุธ กล่าวว่า มาตรการป้องกันการบาดเจ็บแบ่งเป็น กลุ่มเด็ก ได้แก่ 1. ห้ามให้เด็กๆ จุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ เองโดยเด็ดขาด 2. ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้บริเวณที่จุดประทัด ดอกไม้ไฟ หรือพลุ 3. ผู้ปกครองและโรงเรียนควรสอนให้เด็กรู้ว่าประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็ก เช่น ถ้าสะเก็ดเข้าตาจะทำให้ตาบอดได้ หรืออาจทำให้นิ้วขาดกลายเป็นคนพิการ 4. ผู้ปกครองควรสอนไม่ให้เด็กไปเก็บประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ระเบิดมาเล่น เพราะประทัดพลุและดอกไม้ไฟนั้นอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 5. ผู้ปกครองควรดูแลและคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันออกพรรษา 6. เด็กต้องได้รับการฝึกทักษะการหนีเมื่อเผชิญสถานการณ์อันตราย
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ใหญ่ ได้แก่ 1. เลี่ยงการเล่นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก 2. ก่อนเล่น ควรอ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ และคำเตือน 3. เล่นในที่โล่ง ราบ ห่างไกล จากบ้านเรือน ใบไม้แห้ง และวัตถุไวไฟ 4. ก่อนจุดมองดูรอบข้างให้ดี ต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดอยู่ เพื่อความปลอดภัย 5. อย่าให้ใบหน้าอยู่เหนือพลุและดอกไม้ไฟ เพราะอาจระเบิดหรือพุ่งใส่ใบหน้า 6. ห้ามเล่นประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ ที่ซื้อจากร้านค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ สินค้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เก่า และไม่มีฉลากภาษาไทย 7. ห้ามจุดประทัด พลุ และดอกไม้ไฟที่เสื่อมสภาพ หรือจุดแล้วแต่ยังไม่ระเบิด เพราะอาจระเบิดโดยไม่คาดคิด 8. ก่อนจุดควรเตรียมถังใส่น้ำ 1 ถัง ไว้ใกล้บริเวณที่จะจุดเผื่อกรณีฉุกเฉิน 9. ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดแล้วหรือยังดับไม่สนิท 10. ห้ามจุดหากไม่อยู่ในระยะที่ปลอดภัย คือ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน 11. ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด พลุ หรือดอกไม้ไฟไว้เล่นเอง 12.ห้ามเก็บประทัด พลุ และดอกไม้ไฟไว้ในบ้าน หากเก็บควรเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดฝามิดชิด เก็บในที่แห้งและเย็น และ 13. เลี่ยงการดื่มสุราแล้วมาเล่น
ทั้งนี้ประชาชนควรรู้จักวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการสื่อสารกับหน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ เบอร์ 1669 รวมทั้ง วิธีการส่งต่อเด็กในภาวะฉุกเฉินไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียง เพื่อลดการบาดเจ็บรุนแรง ความพิการ และการเสียชีวิต นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit