ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์แรงงานชาติ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2559-2563) สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย วันที่ 22 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมใหญ่อาคารบางกอกเคเบิ้ล 2

27 Oct 2015
โดย ดร.ธนิต โสรัตน์

รองประธานและผู้จัดทำรายงานการศึกษา

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) เป็นองค์กรตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเกิดการการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทของการเชื่อมโยงการค้า-การลงทุนจากการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มการเข้าสู่ TPP (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) อีกทั้งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัวในปี 2559 ทำให้เกิดตลาดเดียวกัน (Single Market) และการเชื่อมโยงฐานการผลิตร่วมกัน (One Production Base) จากประเด็นดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิต-อุตสาหกรรม การค้าและบริการซึ่งจะต้องเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายโซ่อุปทานการผลิตทั้งระดับภูมิภาคและในระดับโลก จำเป็นที่กระทรวงแรงงานและภาคแรงงานจะต้องเปลี่ยนแปลงยกระดับเพื่อสนองตอบต่อความเป็นสากลรองรับรูปแบบการค้าใหม่

นอกจากนี้ในอนาคตในปี พ.ศ.2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนแรงงานสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ จะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังขาดแผนและยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นรูปธรรมในการรองรับปัญหาแรงงานสูงอายุที่นับจะมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

จากเหตุผลข้างต้นจึงเป็นที่มาของการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานฯ ซึ่งจะเป็นการมองบริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งการทำยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนะได้มีการจัดทำเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 16 องค์กร เช่น ค้าปลีก-ค้าส่ง บริการโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม เช่น อาหารสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสมาคมนายจ้างต่างๆ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงและหน่วยงานรัฐต่างๆ สรุปผลการศึกษา

ปัจจัยด้านแรงงานซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตและเป็นบริบทต่อการจัดทำยุทธศาสตร์แรงงานชาติ

แนวโน้มในอนาคตจากการเปิดเสรีในรูปแบบต่างๆทั้ง AEC, FTA และ TPP รวมทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) ในรูปแบบต่างๆ กระทรวงแรงงานจะมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการลงทุน FDI ในอนาคตจะมีความซับซ้อน อีกทั้งการลงทุนนอกประเทศ (TDI) ของนักลงทุนไทยไปลงทุนนอกประเทศจะมีสัดส่วนที่สูงขึ้น จำเป็นที่ (1) กระทรวงแรงงานจะต้องมีการปรับตนเองให้มีความเป็นสากล (2) แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในอนาคตจะสูงขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังไม่หลุดจากการผลิตซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ (3) นโยบายการแปรรูปเกษตรของรัฐขาดความเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อน ในอนาคตทั้ง 5 ปีและ 10 ปี ภาคเกษตรยังต้องพึ่งพาการใช้แรงงาน

อย่างไรก็ดี (4) ปัญหาแรงงานสูงอายุจะเป็นปัญหาของประเทศในอนาคต ทั้งภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเกษตรและประมง (5) ความต้องการแรงงานในภาคการผลิตเป็นปัจจัยตัวเร่งให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน เป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ (6) การขาดแคลนแรงงานระดับวิชาชีพเฉพาะทางและสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากการผลิตนักศึกษาสาขาเหล่านี้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี และยังต้องใช้เวลาเรียนรู้อย่างน้อย 2-3 ปี (7) ประมวลได้ว่าปัญหาการขาดแรงงานทักษะวิชาชีพเฉพาะทางจะเป็นปัญหาสำคัญและลดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ (8) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทยใน 5-10 ปีข้างหน้า จะส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะแรงงานเกษตร แรงงานคนขับรถบรรทุก แรงงานประมง ฯลฯ ซึ่งอัตราการทดแทนแรงงานมีอัตราที่ต่ำมาก (9) โอกาสการโยกย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเข้าสู่ภาคบริการ จนเลยความสมดุลและทำให้แรงงานขาดแคลนในบางสาขาอาชีพและว่างงานในบางสาขาอาชีพ (10) เศรษฐกิจไทยข้างหน้าจะพึ่งพิงการลงทุนนอกประเทศ ทำให้การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติจะทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้น เป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ส่งออกย้ายฐานการผลิต ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบต่อจำนวนการว่างงานในอนาคตที่อาจมีปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ (11) แนวโน้มอัตราค่าจ้างในอนาคตจะเร่งตัวสูงไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว (12) นอกจากนี้แนวโน้มแรงงานไทยจะมีการศึกษาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแต่คุณภาพกลับอยู่ในระดับรั้งท้าย เนื่องจากการผลิตของสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่เป็นเชิงพาณิชย์ ผลิตคนตามค่านิยม เน้นปริมาณ ขาดคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาของประเทศในอนาคตข้างหน้า (13) การเปิดเสรีการค้าจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง อาจทำให้อุตสาหกรรมในประเทศในอนาคตจะหาที่ยืนไม่ได้ ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในประเทศอาจแข่งขันด้านราคาไม่ได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาการว่างงานในอนาคต (กรณีของสหรัฐอเมริกาควรเป็นกรณีตัวอย่าง)ยุทธศาสตร์แรงงานชาติภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ.2559-2563) 1. การปฏิรูประบบค่าจ้างขั้นต่ำ

กฎหมายแรงงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมุ่งเน้นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งโครงสร้างแรงงานในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 19.7 ขณะที่ภาคบริการและภาคเกษตรมีการจ้างงานรวมกันเกือบร้อยละ 80 ซึ่งลักษณะงานจะมีความแตกต่างกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเกษตรไม่สามารถรองรับค่าจ้างและสวัสดิการแบบเดียวกับภาคอุตสาหกรรม โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

(1) โครงสร้างค่าจ้างควรแตกต่างกันตามคลัสเตอร์การจ้างงาน (2) ควรมีการทบทวนโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำ ควรมีการปรับให้ทันต่อสถานการจ้างงานและต้องมีความหลากหลาย (3) ควรทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า ซึ่งใช้ระบบค่าจ้างแรกเข้าเป็นค่าจ้างอ้างอิงไม่ต้องปรับกันทุกปี (4) ควรมีการกำหนดว่าการปรับค่าจ้างในแต่ละปีต้องไม่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยอ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์ (5) ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรเท่ากันทั้งประเทศ เนื่องจากต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายการผลิตไปทั่วประเทศ ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง อีกทั้งค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน (6) ค่าจ้างขึ้นต่ำจึงควรแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่โดยอาจใช้ตามคลัสเตอร์ของกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีการแบ่งกลุ่มจังหวัดค่อนข้างชัดเจน2. ค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ควรจะมีบทบัญญัติที่แตกต่างไปจากกฎหมายแรงงานปกติ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งชายแดนและในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย แรงงานซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับแรงงานต่างชาติแบบเช้ามา-เย็นกลับ รวมทั้งแรงงานไทยและต่างชาติซึ่งทำงานอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรจะมีกฎหมายแยกต่างหาก ทั้งด้านค่าจ้างขั้นต่ำ สวัสดิการและการคุ้มครองด้านสวัสดิการ ควรมีความแตกต่างไปจากแรงงานที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งขอบเขตอำนาจศาลแรงงานและหรือกรณีพิพาทแรงงาน3. นโยบายแรงงานต่างชาติต้องชัดเจนและรองรับการขาดแคลนแรงงานในอนาคต

ควรมีนโยบายแรงงานต่างชาติอย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับการขาดแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะ รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุซึ่งจะทำให้แรงงานไทยในอนาคตขาดแคลนอย่างรุนแรง จำเป็นที่ต้องนำแรงงานต่างชาติขึ้นทะเบียนอย่างโปร่งใสไม่ใช่ซ่อนเร้นอย่างที่เป็นอยู่ แนวทางคือการพิสูจน์สัญชาติซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมากโดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ควรใช้ขั้นตอนการตรวจสัญชาติฝ่ายเดียวจากประเทศไทยเพราะการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้างบางประเทศค่อนข้างมีความยุ่งยาก ทำให้แรงงานต้องออกสู่นอกระบบ และเป็นที่มาของการค้าแรงงานมนุษย์ผิดกฎหมาย4. การป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

สถานประกอบการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ ควรจะมีการกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อที่จะได้มีการสะดวกต่อการตรวจสอบ และควรมีการขึ้นทะเบียนและข้อกำหนดของสถานประกอบการที่มีการทำสหกิจศึกษาและการฝึกงาน ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยระยะ 5 ปีข้างหน้า ยังต้องการแรงงานไร้ทักษะมากน้อยเพียงใด จะมีนโยบายอย่างไรต่อสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากการค้ามนุษย์มีอยู่ในทุกภาคส่วนไม่ใช่มีแต่เฉพาะอยู่ในภาคประมง แต่การจดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องยังมีอุปสรรคและขั้นตอนที่ยุ่งยาก เป็นช่องทางส่งเสริมให้เกิดการคอรัปชั่นและความไม่โปร่งใส อีกทั้งประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศต้นกำเนิดและจุดหมายปลายทางรวมทั้งทางผ่านของการค้ามนุษย์ ทั้งเพื่อการใช้แรงงานและการค้าประเวณีในระดับภูมิภาค จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขทั้งด้านความโปร่งใสของเจ้าหน้าของรัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกหน่วยงาน5. การทบทวนการคุ้มครองแรงงานให้มีความเป็นสากล

ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตรเศรษฐกิจโลก ภายใต้ข้อผูกพันการเปิดเสรีในรูปแบบต่างๆ เช่น FTA, AEC, TPP, ACEP ฯลฯ รวมทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีในรูปแบบต่างๆ (NTMs) จำเป็นที่จะต้อง (1) ปฏิรูปกระทรวงแรงงานให้รองรับบริบทของการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง (2) การแก้ไขกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นสากล โดยจะต้องให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถทำงานร่วมกัน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของบริบทของการแข่งขันและสอดคล้องมาตรฐานแรงงานโลกและ (3) มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน ซึ่งจะต้องสร้างกฎเกณฑ์ให้เกิดมาตรฐานร่วมของอาเซียนในการยอมรับใบรับรองงานวิชาชีพบางประเภท (4) การสอบคุณวุฒิวิชาชีพในแต่ละสาขา จะต้องกำหนดเกณฑ์การทดสอบความรู้ความสามารถ เนื่องจากแรงงานอาเซียนเป็นแรงงานทักษะเกี่ยวข้องกับแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ทนาย ฯลฯ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งการให้บริการอื่นๆ6. การพัฒนาแรงงานในอนาคตต้องเน้นการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

แนวโน้มค่าจ้างในอนาคตของไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากจะคงขีดความสามารถในการแข่งขันต้องเพิ่มความสมดุลของค่าจ้างกับผลิตภาพแรงงานซึ่งควรเป็นบทบาทหลักของกระทรวงแรงงาน เช่น การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือคุณวุฒิวิชาชีพต้องครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ อีกทั้งการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานจะต้องมีมาตรฐาน และควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้เป็นศูนย์สอบและประเมินผล โดยต้องมีมาตรฐานเหมือนกันทั้งประเทศ การปรับเปลี่ยนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็น "วิทยาลัยและหรือสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์" โดยแรงงานไม่ใช่เฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมและบริการ แต่ต้องครอบคลุมทุกมิติของการจ้างงาน โดยเฉพาะด้านค้าปลีก-ค้าส่ง ก่อสร้างและแรงงานภาคเกษตร7. การปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

ควรทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมมากกว่าการกำกับตรวจสอบ โดยการทำงานเป็นเชิงรุก เช่น การวางแผนผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้ตอบสนองตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ มิติใหม่กระทรวงแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ควรเน้นพันธกิจด้านความมั่นคงเป็นหลัก อีกทั้งการมีส่วนในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตั้งแต่ระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย สายอาชีวะ และระดับปริญญาตรี รวมทั้งอบรมครู-อาจารย์ซึ่งเป็นผู้แนะแนวให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต

นอกจากนี้ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวังด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้นประเทศไทยจะมีอัตราว่างงานที่ต่ำ แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวจนถึงขั้นถดถอยติดต่อกันหลายปี อาจก่อให้เกิดการว่างงานเหมือนที่เกิดกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้ง สหรัฐอเมริกา อียูและญี่ปุ่น8. ปฏิรูปประกันสังคม

การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนและนายจ้างเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบองค์กรและความโปร่งใส รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ควรมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ทั้งด้านคุณภาพของสถานพยาบาล คุณภาพยาและมาตรฐานการรักษาของแพทย์ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการได้รับเงินหลังเกษียณและหรือการเกษียณตนเอง เพิ่มสิทธิประโยชน์ในอัตราที่ผู้เอาประกันจะสามารถดำรงชีพได้ และควรมีการพิจารณาการจ่ายบำนาญและบำเหน็จ โดยให้ลูกจ้างเพิ่มค่าประกันสังคมกรณีชราภาพ และรัฐบาลให้เงินสมทบเพื่อให้เกิดการออมผ่านกองทุนประกันสังคม นอกจากนี้ควรพิจารณาขยายเวลาการชราภาพของแรงงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี แต่ให้เป็นทางเลือกของผู้เอาประกัน9. การวางแผนรองรับแรงงานสูงอายุ

ในปี 2568 สัดส่วนแรงงานสูงอายุของไทยจะเป็น 1 ใน 5 ของประชากร จะต้องมีการจัดทำยุทธศาตร์แรงงานสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับแรงงานสูงอายุในอนาคต โดยมีบทกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับผลตอบแทนของแรงงานที่เกษียณอายุ ซึ่งควรอยู่ที่ 60 ปี และให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงการขยายระยะเวลาการจ้างงาน นอกจากนี้จะต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่แรงงานสูงอายุที่เกษียณ โดยให้มีรายได้ต่อเดือนที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิต การเข้าถึงระบบสุขภาพ การมีโรงพยาบาลของกองทุนประกันสังคม การมีศูนย์ดูแล-พักฟื้นแรงงานชราภาพทั่วประเทศ รวมถึงการฌาปนกิจแรงงานสูงอายุที่เสียชีวิตสามารถดาวน์โหลด "ยุทธศาสตร์แรงงาน" (ฉบับเต็ม) และรายงานพิเศษ "ค่าจ้างควรปรับเป็นค่าจ้างอ้างอิง" ได้ที่ www.tanitsorat.com หรือติดต่อสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าฯ

ได้ที่ 02-651-9182-3 หรือ e-mail : [email protected] ??