จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 27/2558 : พิจารณาการขอปรับปรุงการใช้คลื่น 2.4 GHz ของทีโอที, ทรูมูฟและดิจิตอลโฟนปฏิเสธการนำส่งรายได้ในช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ

28 Oct 2015
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 27/2558 วันพุธที่ 29 ตุลาคม 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาคือการพิจารณาคำขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.4 GHz ของ บมจ. ทีโอที โดย บมจ. ทีโอที มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ขอให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ช่วง 2306 – 2370 MHz ขนาดแบนด์วิธ 64 MHz เพื่อจะนำไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มเติมจากการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะชนบทที่ได้รับอนุญาตอยู่เดิม โดยจะขอใช้งานคลื่นความถี่จนถึงปี พ.ศ. 2568

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่นาน สำนักงาน กสทช. ได้มีการออกประกาศ สำนักงาน กสทช. เรื่องการขอเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือเพิ่มเติมเทคโนโลยีในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในส่วนของความเป็นกลางทางเทคโนโลยี โดยประกาศ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2558 เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาการอนุญาตปรับปรุงโครงข่ายโดยใช้เทคโนโลยีใหม่บนคลื่นความถี่เดิมที่ได้รับการจัดสรรแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อน่าสังเกตว่า การออกประกาศดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. อาจเป็นการกรุยทางให้กับคำขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที เนื่องจากมีการออกประกาศก่อนหน้าที่ บมจ. ทีโอที จะมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพียงไม่นาน ที่สำคัญไม่เคยมีการเสนอร่างประกาศให้ กทค. พิจารณามาก่อน และมิได้มีการนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งที่ประกาศฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นประกาศที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรผ่านมติที่ประชุม กทค. เสียก่อน รวมทั้งต้องมีการรับฟังความเห็นสาธารณะด้วย

ส่วนประเด็นเรื่องระยะเวลาการขอใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที จนถึงปี พ.ศ. 2568 นั้น ก็มีประเด็นน่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. ได้แก่ คณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการนำคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz และคณะทำงานเตรียมการเพื่อเจรจาขอคืนคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้เคยมีข้อเสนอแนวทางสำหรับกรณี บมจ. ทีโอที ว่า เห็นควรเจรจาเพื่อให้คืนคลื่นความถี่บางส่วนโดยสมัครใจภายในปี พ.ศ. 2560 – 2563 โดยจะอนุญาตให้ บมจ. ทีโอที ปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ที่เหลือเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเจรจา แต่จนขณะนี้ บมจ. ทีโอที ยังไม่เคยมีการเสนอที่จะคืนคลื่นความถี่บางส่วนให้กับ กสทช. แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ตามเงื่อนไขในใบอนุญาตของ บมจ. ทีโอที นั้น ไม่อนุญาตให้บริษัทขยายขอบเขตการให้บริการโดยตั้งสถานีวิทยุแม่ข่ายเพิ่มเติม แต่การขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ครั้งนี้ ย่อมต้องมีการติดตั้งโครงข่าย LTE เพิ่มเติมทั้งในเขตพื้นที่ชุมชนและชนบท ดังนั้นจึงไม่สอดคล้องกับสิทธิของ บมจ. ทีโอที ที่มีอยู่เดิมตามเงื่อนไขใบอนุญาต นั่นหมายความว่ากำลังเป็นการขอเพิ่มสิทธิ

นอกจากเรื่องการพิจารณาคำขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. ทีโอที แล้ว ในการประชุมครั้งนี้มีอีกวาระที่น่าจับตาคือเรื่อง บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟน ขอให้ทบทวนคำสั่งและปฏิเสธการนำส่งรายได้จากการให้บริการในช่วงบังคับใช้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือมาตรการเยียวยาฯ ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2558 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้มีมติให้ บจ. ทรูมูฟ และ บจ. ดิจิตอลโฟนนำส่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นย่าน 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการนับตั้งแต่วันที่มีการใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ จนถึงวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นความถี่ (16 กันยายน 2556 – 17 กรกฎาคม 2557) เป็นจำนวนเงิน 1,069,983,638.11 บาท และ 627,636,136.87 บาท ตามลำดับ เพื่อที่จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ทั้งนี้ หนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งของทั้งสองบริษัทระบุว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ยังไม่เคยมีโอกาสเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กทค. โดยตรง อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดวิธีการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยในส่วน บจ. ทรูมูฟ ระบุว่า การพิจารณาต้นทุนค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้ในการคำนวณไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะต้นทุนหลักเป็นต้นทุนคงที่ ดังนั้นแม้ยอดผู้ใช้บริการมีจำนวนลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ยังมีรายได้บางส่วนที่ไม่ได้เกิดจากการให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แต่เป็นรายได้ที่เกิดจากการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ออกหาประโยชน์ จึงไม่ควรนำรายได้ส่วนนี้มาคำนวณ ขณะที่ บจ. ดิจิตอลโฟน ชี้แจงว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทประสบภาวะขาดทุนจากการให้บริการกว่า 450 ล้านบาท จึงไม่มีรายได้คงเหลือที่จะนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ได้

ในการพิจารณาวาระนี้ ที่ประชุม กทค. คงต้องพิจารณาว่าจะรับทบทวนคำสั่งทางปกครองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็คงขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองบริษัทมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใหม่อะไรที่จะเสนอให้พิจารณาทบทวนมติหรือไม่ เพราะลำพังประเด็นที่โต้แย้งมาเกี่ยวกับรายได้ที่ต้องนำส่งรัฐ ก็เป็นประเด็นเดิมที่เคยโต้แย้งมาแล้ว ซึ่งในกรณี บจ. ดิจิตอลโฟนไม่มีการนำส่งเอกสารหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม จึงไม่น่ามีเหตุที่ กทค. ต้องพิจารณาทบทวนคำสั่ง ส่วน บจ. ทรูมูฟ มีการนำส่งเอกสารเพิ่มเติมจำนวนมาก ก็คงต้องใช้เวลาพิจารณาก่อนว่ามีส่วนของข้อเท็จจริงใหม่หรือไม่ หรือเป็นเอกสารหลักฐานที่บริษัทสามารถแสดงตั้งแต่ในชั้นการประชุมหารือกับคณะทำงานฯ แต่ไม่ได้นำส่ง ซึ่งหากเข้าข่ายลักษณะนี้ ก็ไม่สมควรพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองด้วยเช่นกัน