นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันจากไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียที่พัดปกคลุมในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้ ว่า สถานการณ์หมอกควันเริ่มดีขึ้น ปริมาณฝุ่นละอองลดลงกว่าวันที่ผ่านมา คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม พื้นที่ภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นและมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้หมอกควันเบาบางลง ซึ่งจากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับ กรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2558 พบว่า พื้นที่ภาคใต้มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่าระหว่าง 58 - 87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งลดลงกว่าวันที่ผ่านมา โดยสงขลา มีปริมาณละอองสูงสุด ค่า PM10 87 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ภูเก็ต มีค่า PM10 81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พังงา มีค่าค่า PM10 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ยะลา มีค่า PM10 61 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สตูล มี ค่าPM10 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัตตานี มีค่า PM10 59 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรและนราธิวาส มีค่า PM10 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เร่งแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ จะคลี่คลาย โดยดำเนินมาตรการคุมเข้มการเผา และขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อมิให้สถานการณ์ หมอกควันวิกฤตมากขึ้น รวมถึงระดมรถดับเพลิงหอน้ำพร้อมบันไดสูง 35 เมตร เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว และชุดเผชิญเหตุสถานการณ์วิกฤต สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ โดยฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณ หมอกควันฝุ่นละอองในอากาศ นอกจากนี้ ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขจัดหา หน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย เพื่อจะได้ป้องกันและดูแลตนเอง อย่างถูกต้อง โดยให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะ สูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากเจ็บป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าปกติ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นละออง เข้าสู่ร่างกาย
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th