รัฐมนตรีเกษตรฯ เน้นทุกหน่วยงานส่งต่องานวิจัยให้เข้าถึงเกษตรกรนำองค์ความรู้ไปใช้ได้จริง สนองนโยบายลดต้นทุนการผลิต พร้อมต้องเชื่อมหน่วยเกี่ยวข้องเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพ โดยเฉพาะพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อสร้างรายได้เกษตรกรฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

05 Nov 2015
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานวันถ่ายทอดผลงานวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ว่า นอกจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร จะจัดงานวันถ่ายทอดผลงานวิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี เพื่อระลึกถึงการจัดตั้งศูนย์ครบรอบ 50 ปี แล้ว ยังนำเทคโนโลยี ผลงานวิจัยพันธุ์พืชใหม่ๆ มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง สามารถนำความรู้ไปปรับใช้หรือใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับไร่นา เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ด้วยการใช้เทคโนโลยีผสมผสาน ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันทางการตลาดได้ ซึ่งรัฐบาลได้ความสำคัญในงานด้านการวิจัยค่อนข้างมาก โดยในปีนี้มีงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศในภาพรวมถึง 25,000 ล้านบาท อย่างที่ไม่เคยมีในรัฐบาลไหนมาก่อน ดังนั้น ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ จะต้องส่งต่องานวิจัยไปให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้จริง

"การจัดงานดังกล่าว นับเป็นการแสดงผลงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ฯลฯ ลงพื้นที่ติดตาม ช่วยเหลือ และสนับสนุนเกษตรกรในการนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่ทุกอำเภอจำนวน 882 ศูนย์ ซึ่งจะเป็นเครือข่ายที่ช่วยให้ความรู้และคำแนะนำแก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

ส่วนมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนในช่วงฤดูแล้ง แทนการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จะต้องมีการบริหารจัดการให้เพียงพอกับการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ จนสิ้นสุดฤดูแล้งและมีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อฤดูเพาะปลูกถัดไป ซึ่งจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ดังนั้น พื้นที่ที่สามารถปลูกพืชใข้น้ำน้อยได้จากปริมาณฝนที่ตกมาและอยู่ในคูคลอง ระบบชลประทาน แหล่งน้ำตามธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำในไร่นา ก็สามารถทำการเกษตรได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับ เช่น ถั่ว ข้าวโพด อ้อย ซึ่งยังมีความต้องการของตลาดอีกมาก และไทยต้องนำเข้าเพื่อผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น

ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานวันถ่ายทอดผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี นอกจากเกษตรกรได้เรียนรู้ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านพืช และเครื่องจักรกลการเกษตรของกรมวิชาการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จและใช้ได้ผลจริงในระดับไร่นา รวมถึงแนวทางการลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชแล้ว การปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นประเด็นหนึ่งที่กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมแผนช่วยเหลือสนับสนุนและมีทางออกให้กับเกษตรกร โดยได้มีการจัดแสดงนิทรรศการการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน และพืชผัก เป็นต้น ทั้งยังมีนิทรรศการการปลูกพืชไร่หลังนา ซึ่งคาดว่า จะเป็นแนวทางช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงหน้าแล้งทดแทนการทำนาปรังโดยเฉพาะในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา สมัครเข้าร่วมกิจกรรมสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง ภายใต้โครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตรแล้ว จำนวน 155,183 คน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์พืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และถั่วเขียว เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯแล้ว