ปูนอินทรีขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ในการผลิตปูนซีเมนต์เป็น ร้อยละ 25 ภายใน 5 ปี

05 Nov 2015
เปลี่ยนกากอุตสาหกรรมเป็นพลังงานทดแทนเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ ลดของเสียจากการผลิตสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ –

บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เผยแผนธุรกิจสีเขียว เติบโตอย่าง ยั่งยืนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานหลัก คิดค้นนวัตกรรม การใช้กากอุตสาหกรรมกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Sludge) และใช้กระบวนการเผาร่วม หรือ Co-Processing แปรรูปกากอุตสาหกรรมที่คัดแยกแล้วผลิตเชื้อเพลิงทดแทน ลดของเสียจากการผลิต สู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ ตั้งเป้า เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงาน ทดแทนเป็นร้อยละ 25 ภายใน 5 ปี

นายอมรศักดิ์ โตรส รองประธานกิจการสระบุรี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "ปัจจุบันแนวโน้มการพัฒนาธุรกิจสีเขียว กำลังเป็นสิ่งทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อันสืบเนื่องมาจาก ภาวะวิกฤติภูมิอากาศของโลกที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมไป ถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะความเป็นอยู่ของคนในสังคม ซึ่งปูนอินทรีตระหนัก ถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้กำหนด แผนงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี2553 โดยเน้นเป้าหมาย สำคัญ 6 ด้านด้วยกัน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยมุ่งเน้นด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและ ลดของเสียจากการผลิตสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill)"

"เราตั้งงบประมาณ มากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านการบริหารจัดการพลังงานทดแทน สำหรับใช้ในกระบวนการ ผลิตปูนซีเมนต์ โดยมีการลงทุนก่อสร้างโรงเตรียมเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทน (AFR Platform) ที่มีขนาดใหญ่ด้วย เงินลงทุน 733 ล้านบาทในจังหวัดสระบุรี ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ในปี 2557 มีการใช้เชื้อเพลิง ทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ 137,312 ตัน เทียบเท่าการใช้ ถ่านหินลิกไนต์ 151,930 ตัน ช่วยลดการ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 220,678 ตัน และลดพื้นที่ฝังกลบอีกด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 2557 เราเพิ่มโรงเตรียมเชื้อเพลิงทดแทนแห่งใหม่ในจังหวัดชลบุรี ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเปลี่ยนของเสียให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน"

นวัตกรรมการใช้กากอุตสาหกรรมกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Sludge) เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

ปัจจุบันการจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาระดับประเทศที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ อันสืบเนื่อง มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบกว่า 10 ปี โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มจำนวนขึ้น อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กากอุตสาหกรรม

ประเภท กึ่งแข็งกึ่งเหลว (Sludge) ที่มีต้นทางจากอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ปิโตรเคมี สี อิเล็กทรอนิกส์ อาทิเช่น โคลนจากการ ขุดเจาะน้ำมัน กากตะกอนน้ำมัน กากสี ซึ่งส่วนใหญ่จะมี องค์ประกอบที่เป็นสารอันตราย จากพวกสารอินทรีย์ ระเหยง่าย และโลหะหนัก ทั้งนี้การนำ Sludge มาใช้ เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ในเตาเผาปูนซีเมนต์ด้วยกระบวนการ เผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ (Co-processing) เป็นวิธีการที่ยอมรับในสากล ว่าเป็นวิธีการจัดการของเสียที่ส่งผล กระทบต่อสุขภาพชุมชน และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีความปลอดภัย ในการกำจัดกากของเสียทั้งที่เป็นอันตรายและ ไม่เป็นอันตราย ล่าสุดในปี 2557 ปูนอินทรีได้มีการใช้ Sludge เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงหลักในกระบวนการผลิต ปูนซีเมนต์ปริมาณสูงถึง 15,897 ตัน เทียบเท่าการใช้ ถ่านหินลิกไนต์ 9,885 ตัน นับเป็นความสำเร็จของโครงการ สร้างสรรค์ด้านการประหยัดพลังงาน อีกทั้ง ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 13,839 ตัน

กระบวนการเปลี่ยนกากอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน จะต้องนำกากอุตสาหกรรมนั้น มาผ่าน กระบวนการคัดแยก โดยจะจัดการตามลักษณะทางกายภาพของกากของเสีย เช่น ของแข็ง จะนำไปตัด บด ย่อยและควบคุมคุณภาพก่อนที่จะนำส่งไปยังเตาเผาปูนซีเมนต์ ของเหลว จะนำไปผสมและลำเลียงตรงไปยังเตาเผาปูนซีเมนต์ และสำหรับกากกึ่งแข็งกึ่งเหลว จะนำไปผสม และลำเลียงผ่านเครื่องอัดแรงดันสูงไปยังเตาเผาปูนซีเมนต์ โดยกากอุตสาหกรรมดังกล่าวจะถูกเผาด้วยอุณภูมิสูงกว่า 1,800 องศาเซลเซียสในระบบปิด จึงไม่มีการปล่อย สารก่อมะเร็ง เช่น ไดอ็อกซิน ฟิวแรน และเถ้าลอยออกสู่อากาศ ในขณะเดียวกันสาร อนินทรีย์ที่ไม่ย่อยสลายก็จะถูกหลอมรวมเป็นผลึกในสภาพที่เสถียรอยู่ในปูนเม็ด และไม่เหลือเถ้าหนักจากการเผาที่ต้องนำไป ฝังกลบ ดังนั้นกระบวนการนี้จึงเป็นกระบวนการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เป็น เชื้อเพลิงทดแทนได้ในเวลาเดียวกัน โดยกากอุตสาหกรรมจำนวน 1 ตัน สามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ 5,250 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หรือเทียบเท่ากระแสไฟฟ้าครัวเรือนถึง 35 ครัวเรือน

"ขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ต้องกำจัดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้เองภายใน เช่น น้ำมันเครื่องใช้แล้ว เศษผ้าปนเปื้อนน้ำมัน ซึ่งสามารถนำมาผ่านกระบวนการและแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อใช้ในกระบวนการเผาปูนซีเมนต์ ส่วนขยะที่รับมากำจัด ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยึดมั่นใน หลักการการลดปริมาณกากของเสียจากการผลิตที่ใช้ฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ในปีที่ผ่านมา เราจัดการกับกากของเสียปริมาณราว 640,000 ตัน ราวครึ่งหนึ่งของกากของเสียนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ และ อีกครึ่งหนึ่งถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในเตาเผาปูนของปูนซีเมนต์นครหลวง" นายอมรศักดิ์ กล่าว

ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน ปูนอินทรีนำลมร้อนจากเตาเผาซีเมนต์ ที่แปรสภาพ ลมร้อนทิ้งเหลือใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงและพลังงานในกระบวนการผลิต สามารถลดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงานจาก 540 ล้านบาท ในปี 2557เป็น 590 ล้านบาทในปี 2558 และไม่ปล่อยลมร้อนสู่อากาศที่จะส่งผล ถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังได้สร้างสวนสาธารณะชุมชนต้นแบบสวนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริม จิตสำนึกด้านพลังงานสะอาด ให้กับประชาชนทั่วไป โดยใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่กังหันลม และพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในโครงการเพื่อลด การใช้พลังงานไฟฟ้าหลัก รวมทั้งมีการออกแบบอาคารต่าง ๆ ให้มีช่องแสง โปร่ง โล่ง รับกับทิศทางลม เพื่อลด การใช้ไฟฟ้าทั้งจากไฟส่องสว่าง และเครื่องปรับอากาศ ปัจจุบันร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานไฟฟ้า ในสวนมิ่ง มงคลมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ และร้อยละ 30 มาจากพลังงานลม

จากผลการดำเนินนโยบายด้านการกำจัดของเสียและการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจังด้วยหัวใจสีเขียวของพนักงานทุกคนมากว่า 15 ปี ปูนอินทรี มีอัตราการใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงทดแทนในปี 2557 ร้อยละ 11.3 ช่วยลด สัดส่วนการใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงหลัก (เทียบเท่าการใช้พลังงานทดแทน 1 เดือน ต่อระยะเวลา 12 เดือน) และยังช่วยลดการซื้อไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีอยู่ร้อยละ 70 ลงไปได้ถึงร้อยละ 25 ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ สามารถลดของเสียจากการผลิตสู่หลุมฝังกลบได้จนเป็นศูนย์ (จากตัวเลข 56.4 % หรือ ลดจาก 2.8% ของการผลิต เหลือเพียง 1.2 % ในปี 2557)

ทั้งยังได้รับรางวัลอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทน ในระดับประเทศ และระดับอาเซียนถึง 6 รางวัลได้แก่ 1."ผลงานนวัตกรรมการใช้กากอุตสาหกรรมประเภทกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Sludge) เป็นเชื้อเพลิงทดแทน" รางวัลดีเด่น ด้านพลังงานสร้างสรรค์ และรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2015 ประเภท Special Submission 2."โครงการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเตาเผาปูนซีเมนต์" รางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ประเภท โครงการ พลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบ สายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) และรางวัลรองชนะ เลิศอันดับ 1 ASEAN Energy Awards 2015 ประเภท Off-Grid Thermal Category และ 3."อาคารสวนมิ่งมงคล (Green Park)" รางวัลดีเด่น ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารสร้างสรรค์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2015 ประเภท Tropical building

"เรามีเป้าหมายระยะยาวคือเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เป็นร้อยละ 25 ภายในปี 2563 และมีแผนสร้าง โรงเตรียมเชื้อเพลิงทดแทนเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขยายงาน ด้านการจัดการของเสีย ให้ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อช่วยลด ผลกระทบด้านสุขชีวอนามัย ต่อชุมชน ลดการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกของเราเป็น โลกที่น่าอยู่ คู่กับหัวใจสีเขียวของเราทุกคน" รองประธานกิจการสระบุรี สรุป