นิด้าโพล เผยผลสำรวจเรื่อง การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น สิทธิ หรือ หน้าที่

02 Nov 2015
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น สิทธิ หรือ หน้าที่ ?" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 – 29 ตุลาคม 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ว่าควรเป็น "สิทธิ" หรือ "หน้าที่" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.48 ระบุว่า ควรเป็น "สิทธิ" ขณะที่ ร้อยละ 49.52 ระบุว่า ควรเป็น "หน้าที่"

ความคิดเห็นของประชาชน (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น "สิทธิ") ต่อแนวทางที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการกระตุ้นให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.11 ระบุว่า ควรรณรงค์ปลูกจิตสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 6.66 ระบุว่า รัฐบาลควรจ่ายค่าเดินทางหรือค่าตอบแทนในระดับที่เหมาะสมกับประชาชนทุกคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 1.90 ระบุว่า รัฐบาลควรแจกลอตเตอรี่ให้กับประชาชนทุกคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 0.48 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และนักการเมืองควรตั้งใจทำงานให้มากขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาเลือกตั้ง และร้อยละ 2.85 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน (เฉพาะผู้ที่ตอบว่าการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งควรเป็น "หน้าที่") ต่อแนวทางที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.19 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 28.11 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียสิทธิทางสวัสดิการสังคม ร้อยละ 6.30 ระบุว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งควรเสียค่าปรับในอัตราที่สูง ร้อยละ 3.07 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ เห็นด้วยกับบทลงโทษทุกข้อที่กล่าวมา ขณะที่บางส่วนเห็นว่าไม่ควรมีบทลงโทษ ควรชี้แจงถึงเหตุผลในกรณีที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ และร้อยละ 5.33 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.44 เป็นเพศชาย และร้อยละ 48.56 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 9.20 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 18.32 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.88 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.32 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 11.04 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.52 นับถือศาสนา พุทธ ร้อยละ 3.20 อิสลาม ร้อยละ 0.88 คริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 20.80สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 74.00 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.40 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุสถานภาพ การสมรส

ตัวอย่าง ร้อยละ 29.52 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 31.44 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.96 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.28 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.68 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 11.68 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.16 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.08 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.60 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.76 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 11.92 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.68 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 13.20 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ร้อยละ 33.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ร้อยละ 13.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 6.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 6.40 ไม่ระบุรายได้