เพราะเชื่อมั่นว่าพลังแห่งการสร้างสรรค์สังคมมีอยู่ในตัวของทุกคน การที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่สามารถทำได้เพียงคนใดคนหนึ่ง ทว่าเราต้องร่วมมือกันจึงจะสามารถทำให้สังคมมีความสุข และเกิดรอยยิ้มได้ แนวการทำงานเพื่อสังคมของกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงจึงเริ่มจากการพัฒนาคนผ่านโครงการที่ส่งเสริมแนวความคิด สนับสนุนให้หลายภาคส่วนในสังคมได้มีส่วนร่วม และแสดงพลังสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนสิ่งดีๆ สู่สังคมที่ยั่งยืน ภายใต้การทำงานที่เข็มแข็ง มุ่งเน้นความต้องการของชุมชนเป็นหลัก พร้อมทั้งส่งต่อแนวคิด และสร้างทางเลือกเรื่องอาหารปลอดภัยสู่ภาคประชาสังคม จึงได้มีการพาตัวแทนเกษตรกรที่เป็นภาคีเครือข่าย และนักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์สู่ภาคสังคมเข้าร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ผ่านกิจกรรมนี้
คุณสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง กล่าวว่า "เราเห็นว่าการขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเราพาเกษตรกรเครือข่ายไปร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดวิถีอินทรีย์ เกษตรกรที่เป็นภาคีเครือข่ายจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นผลดี ถ้าเราสามารถนำองค์ความรู้ หรือแนวคิดที่ได้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเราก็จะเกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต เช่น กระบวนการแปรรูป การเชื่อมโยงผู้บริโภค ช่องทางการตลาด เป็นต้น
หลายคนอาจจะมองว่าทำไมเราถึงหันมาส่งเสริม หรือเอาจริงเอาจังในเรื่องอาหารปลอดภัย ต้องขออธิบายว่าความจริงแล้ว กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง ได้มีการสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารมาก่อนนี้หลายปีแล้ว สำหรับกิจกรรมนี้ถือเป็นการต่อยอดแนวความคิด และลงลึกในเรื่องความปลอดภัยของอาหารซึ่งเป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงทางด้านอาหารเท่านั้น ซึ่งหากเราได้นำภาคีเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรเครือข่ายของเรา อีกทั้งเรายังอยากให้กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายและนักวิชาการได้นำแนวคิด และประสบการณ์ ที่ได้แลกเปลี่ยนกลับมาปรับใช้ ซึ่งภาคีเครือข่ายที่เราเชิญมานั้นเราเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มสามารถที่จะนำองค์ความรู้กลับไปต่อยอดได้
ส่วนมุมของผู้สนับสนุนอย่างกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เรามองว่าตัวเองก็คือหนึ่งในผู้บริโภค เราต้องการสร้างอีกหนึ่งทางเลือกให้ภาคสังคมได้บริโภคสินค้าอินทรีย์ ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนการหันมาบริโภคอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพของตัวเราเอง และเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เห็นได้ว่าการสนับสนุนเรื่องอาหารปลอดภัยนั้นสามารถเชื่อมโยงทั้งความมั่นคงด้านอาหาร ไปพร้อมๆ กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วย"
ในส่วนของเครือข่ายสำคัญอย่างมูลนิธิข้าวขวัญ มีเป้าหมายขององค์กรในการทดลอง พัฒนา อบรมให้ความรู้ด้านการทำการเกษตรอินทรีย์ ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากเกษตรอินทรีย์มาเป็นเกษตรเคมีมาโดยตลอด อาจารย์เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า "กว่า 30 ปี ที่ประเทศไทยทำเกษตรด้วยระบบอินทรีย์ จะมีความแตกต่าง และเหมาะสมไปตามแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่เป็นนา บางพื้นที่เป็นพืชสวน ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งคนไทยมีองค์ความรู้ด้านเกษตรมาแต่เดิม จนเมื่อมีการนำเข้าสารเคมีที่ใช้ในการทำการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม หรือพืช GMO เข้ามามาก เกษตรกรจึงหันมาทำเกษตรด้วยระบบเคมีเนื่องจากความเชื่อที่ว่าพวกเขาจะได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น การทำเกษตรอินทรีย์จึงลดลง แต่ผลผลิตของการทำเกษตรเคมีนั้นไม่ยั่งยืน เนื่องจากพอทำแล้วมีแต่ส่งผลเสียต่อทั้งสภาพดิน สุขภาพของเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะได้ผลผลิตในปริมาณที่มาก ก็ยังไม่เท่าผลดีจากการทำเกษตรอินทรีย์ที่แม้จะได้ผลผลิตที่น้อย แต่สามารถเก็บไว้ได้นาน ราคาก็ดีด้วย สุขภาพของเกษตรกร สภาพดินและสิ่งแวดล้อมก็ดีตามมา ผู้บริโภคก็สนใจผลผลิตในระบบอินทรีย์มากขึ้นทำให้มีตลาดรองรับที่หลากหลาย กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศที่มีความต้องการผลผลิตอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
และสำหรับแผนงานในปีหน้า เรายังคงมีแผนในการอบรมเรื่องการทำเกษตร ซึ่งมูลนิธิข้าวขวัญดำเนินการอยู่แล้ว แต่จะเสริมความรู้จากที่ได้ไปศึกษามาจากประเทศญี่ปุ่น และขยายการฝึกอบรมให้กับเครือข่ายผู้สนใจการทำเกษตรต่อไป แต่อยากทำในระดับนานาชาติด้วย ตอนนี้เราทำได้ในระดับภายในประเทศ เราสามารถนำวิธีการทำเกษตรแบบเมืองหนาวที่ญี่ปุ่นมาปรับใช้แบบเมืองร้อนบ้านเรา นำเอาระบบการจัดการของเค้ามาตั้งเป็นต้นแบบอย่างสถาบัน ARI เลือกมาปรับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ของเราเป็นนานาชาติเน้นประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกัน ให้เป็นอีกสถานที่ส่งต่อการทำเกษตรอินทรีย์ให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น"
อีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ทางภาคอีสานอย่างเข้มข้นและจริงจัง ได้มีการทำข้อตกลงซื้อขายข้าวอินทรีย์ร่วมกันกับกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมนี้ อย่างเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อสังคม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ตำบลกำแมด จังหวัดยโสธร ซึ่งนำทีมโดย คุณอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า "เรามีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ และเราทำการถอดบทเรียนจากปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้อีกชั้นหนึ่ง โดยในกลุ่มก้อนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำทั้งในด้านความคิดและการปฏิบัติ แนวคิดในระยะแรกที่ใช้ในการขับเคลื่อนกลุ่มคือหลักคิดของ เศรษฐศาสตร์การเมือง นั่นคือ รายได้และปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย ในระยะหลัง เริ่มมีแนวคิดเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซึ่งทั้งสองแนวคิดก็นำไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือการพึ่งตนเองของชุมชน หรือชุมชนจัดการตนเองที่ถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของการรวมกลุ่ม โดยสมาชิกจะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในระบบเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่การจัดการดิน เทคนิคการผลิตปุ๋ย การจัดการแปลงนา การคัดเมล็ดพันธุ์ การป้องกันศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การตลาด จนถึงการเชื่อมโยงผู้บริโภค ในแต่ละเรื่องราวก็จะมีวิธีการที่หลากหลาย ได้แก่ การทดลอง การประชุม การอบรม การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กับทั้งภายในชุมชนกันเอง และกับหน่วยงานภายนอก
สำหรับแผนงานในอนาคต เรามีความสนใจในเรื่องการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรอินทรีย์ คือ จะต้องไม่มีแค่ข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ แต่จะต้องมีผักและผลไม้อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ปรับปรุงเทคนิคการผลิตเพื่อให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น การเชื่อมโยงผู้บริโภคต้องมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ การสร้างความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการจัดตั้งสหกรณ์ร่วมเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ชุมชนความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค"
ในเรื่องแนวคิด และแนวการทำงานอีกหนึ่งเครือข่าย ที่มองว่าเครือข่ายควรจะต้องสร้างตลาดของตัวเองขึ้นมาให้ได้ เพราะระบบการค้าตามปกติมีเงื่อนไข และอุปสรรคต่างๆ มากมายที่ไม่เอื้อต่อเกษตรกรรายย่อย อย่างเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า ที่มองว่ากลุ่มควรจะมีแผนการทำงานที่สามารถยกระดับการบริหารจัดการกลุ่มสู่ความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
"การมีร้านขายประจำเป็นของตัวเอง หรือมีศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับผลผลิตอินทรีย์ของกลุ่มต่างๆ ในเครือข่าย เราควรมีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่เราได้มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในครั้งนี้ ถือว่าได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้เราได้เห็นรูปแบบการทำงาน และแนวคิดของญี่ปุ่นว่ามีการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคในลักษณะใด ที่ประทับใจคือ ฟาร์มไอโยะ เรื่องรูปแบบของการจัดการกลุ่มที่แยกส่วนการทำงานของฝ่ายผลิต และฝ่ายตลาดอย่างชัดเจน อีกทั้ง เรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีความหลากหลายน่าสนใจ และร้านเต้าหู้ ที่มีเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย ซึ่งทั้ง 2 ที่นี้ เราสามารถนำแนวคิดมาเป็นต้นแบบได้ การทำความเข้าใจถึงเงื่อนไข และอุปสรรคในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์อินทรีย์ของผู้บริโภคจะทำให้เราสามารถจัดการตอบสนองผู้บริโภคที่หลากหลายได้ นอกจากนี้ หากเราสามารถเจรจาพูดคุย หรือเสนอแนวความคิด กับทางภาครัฐเรื่องนโยบายของต้นทุนในการขนส่งผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์คงจะดีไม่น้อย ซึ่งในอนาคตกลุ่มเราวางแผนจะทำการโปรโมตข้าวหอมนครชัยศรีในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อที่จะเป็นของขวัญ หรือนำไปเป็นของที่ระลึกในงานทางสังคมต่างๆ ได้แก่ งานแต่ง งานบวช งานศพ เป็นต้น" ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่ปรึกษา วิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า กล่าว
เห็นได้ว่าแนวคิดในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภคที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า ได้ดำเนินการในปัจจุบันนั้น นอกจากจะมองเห็นช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ที่มีทั้งกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่รักสุขภาพ ตลาดสีเขียวตามสถานที่ต่างๆ สื่อสังคมออนไลน์ ขายโดยตรงกับผู้สนใจในบริเวณใกล้เคียง และซื้อขายข้าวกับภาคเอกชนอีกด้วย นอกจากนี้ ทางกลุ่มเครือข่ายยังมีกิจกรรมที่ชักชวนคนภายนอกมาร่วมทำกิจกรรมในแปลงนาของผู้ผลิต เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภคอีกด้วย และอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่ครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงด้วย คือ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
"แนวคิดการผลิตสินค้าที่ใส่จิตวิญญาณ การเอาใจใส่ เพื่อการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ให้สินค้าไม่ได้เป็นเพียงสินค้าบนชั้นวางขายหน้าร้าน ควรจะมีองค์ความรู้ด้านระบบการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องกระบวนการแปรรูป การจัดการการตลาด และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น เช่น การเอาใจใส่ผลผลิตแต่ยังให้ความสำคัญกับคุณค่าต่อจิตใจตนเอง และการดำเนินกิจกรรมที่ดีต่อผู้บริโภค สังคมและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น กระบวนการของคนท้องถิ่นที่ร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งองค์กรท้องถิ่น เกษตรกรผู้ผลิต ร้านอาหารผู้บริโภค และการแบ่งหน้าที่กันอย่างเหมาะสม
ส่วนแผนงานต่อจากนี้ เราได้มีการวางแผนว่าหลังจากได้ไปศึกษาดูงานในครั้งนี้แน่นอนว่าทุกคนจะเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยกลับมาเราจะปรับปรุงต่อเติมเป็นโรงงานแปรรูปเล็กๆ แต่ให้ได้มาตรฐาน เหมาะสมกับทุนของชุมชนที่มี ทั้งทุนคน ทุนวัตถุดิบ ทุนเครือข่าย ทุนทางการตลาด และทุนทางความรู้ โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกับที่ดูมาแต่นำมาวิเคราะห์ให้เข้ากับท้องถิ่น และเหมาะสมกับผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้กลับคืนถิ่น เพื่อสืบทอดแนวคิดเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน" ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ ที่ปรึกษา เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำแม่ฮาว อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
ด้วยแนวคิดการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น บนรากฐานของทรัพยากรที่มี พื้นที่แม่แตงที่มีเยาวชน มีลูกหลานของชุมชนในท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ให้ทุกคนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสร้างชุมชนของตนเอง ด้วยการสร้างงานธุรกิจขนาดเล็กที่เหมาะกับพื้นที่แม่แตง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit