กสิกรไทย ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้จีน

03 Nov 2015
กสิกรไทย ธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (People's Bank of China) ให้เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินหยวนจีนในตลาดตราสารหนี้จีนได้โดยตรง (China Onshore Interbank Bond Market) จากคุณสมบัติเป็นธนาคารที่ให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินหยวนอย่างสม่ำเสมอตามนโยบายหนุนเงินหยวนเป็นสกุลเงินหลัก หวังสร้างทางเลือกการลงทุนตราสารหนี้ในจีนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าไทย

นายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน ได้อนุมัติให้ ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินหยวนจีน ในตลาดตราสารหนี้แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Inter Bond Market) ได้ นับเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในขณะนี้ที่ได้รับใบอนุญาตในการทำธุรกรรมตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในประเทศจีน เนื่องจากเป็นธนาคารที่สนับสนุนการให้บริการทางการเงินด้านเงินหยวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมทางการเงินของทางการจีน

สำหรับหลักเกณฑ์ในการขออนุมัติเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้สกุลเงินหยวนของจีนนั้น จะต้องเป็นธนาคารกลางของประเทศต่างๆ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ธนาคารที่ชำระดุลเงินหยวน ธนาคารที่ให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินหยวน องค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทประกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีเพียงธนาคารแห่งประเทศไทยไทยเท่านั้นที่ได้รับอนุญาต

นายพิพิธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ธนาคารกสิกรไทย ได้รับอนุญาตให้เข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้สกุลเงินหยวนได้ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับธนาคาร อีกทั้งเพิ่มทางเลือกในการลงทุนในรูปสกุลเงินหยวนให้แก่ลูกค้าของธนาคารโดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย ซึ่งโดยทั่วไปผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ของจีนจะสูงกว่าของไทย

ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยให้บริการด้านการค้าการลงทุนแก่นักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ต้องการทำธุรกิจในจีนหรือนักลงทุนจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย ด้วยการบริการทางการเงินและข้อมูลที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลและคำปรึกษาจากทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ การแนะนำคู่ค้าทางธุรกิจ ช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย รวมถึงร่วมกับธนาคารท้องถิ่นเพื่อพัฒนาบริการทางการเงิน การแลกเปลี่ยนความรู้ การร่วมมือจับคู่ทางธุรกิจ (Business matching) และเพิ่มศักยภาพของพนักงานให้มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและภาษา การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น