เบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป โรคเบาหวานที่พบบ่อยมี 2 กลุ่มคือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเบต้าเซลล์ในส่วนของตับอ่อนซึ่งสร้างอินซูลิน ทำให้ร่างกายหยุดสร้างอินซูลิน หรือสร้างได้น้อยมาก ดังที่เรียกว่า โรคภูมิต้านทานตัวเอง หรือ ออโตอิมมูน (autoimmune) ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตลอดไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็น เบาหวานที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่แท้จริงประกอบด้วยหลายปัจจัยมีส่วนที่เกี่ยวกับ พันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะ น้ำหนักตัวมาก และขาดการออกกำลังกาย อีกทั้งอายุที่เพิ่มขึ้น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เบต้าเซลล์ของผู้ป่วยยังคงมีการสร้างอินซูลิน แต่อินซูลินทำงานไม่เป็นปกติ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ต่อมาเซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆ ถูกทำลายไป อินซูลินลดน้อยลงจนอาจต้องฉีดอินซูลินเพื่อการรักษา
ด้วยวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นวันเบาหวานโลก สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ บริษัท เมอร์ค จำกัด จัดกิจกรรม "โรคชา ปลายประสาทอักเสบ…รู้ทันป้องกันได้" เพื่อการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และประชาชนทั่วไป ให้พึงระวังโรคปลายประสาทอักเสบภัยเงียบที่อาจมาควบคู่กับโรคเบาหวาน
"อย่าเฉย เมื่อชา" โรคชาปลายประสาทอักเสบ อาการแทรกซ้อนภัยเงียบที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องระวัง ส่วนมากมักจะพบในผู้สูงอายุบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นเบาหวานก็พบได้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ อาการที่เรียกว่าปลายประสาทอักเสบนั้น มีลักษณะเป็นระบบประสาทส่วนปลายทำงานผิดปกติ โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นซึ่งรูปแบบการอักเสบที่ไม่เหมือนกับการอักเสบติดเชื้อ แต่เรามักเรียกรวมๆ ว่าปลายประสาทอักเสบ แบ่งได้ดังนี้
กลุ่มแรก มีอักเสบจริงๆ ที่ระบบประสาทส่วนปลาย อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อที่กระทบถึงระบบปลายประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง ชา แต่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้ ทำงานได้ หรือในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงจนถึงกล้ามเนื้อสำคัญๆ บริเวณแขน ขา อาจมีอาการอ่อนแรง บางรายอาจถึงขั้นต้องทำกายภาพบำบัด
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ขาดวิตามิน เช่น วิตามินบี 1 บี 6 บี 12
กลุ่มที่ 3 เป็นผลมาจากสารพิษต่างๆ เช่น พิษจากตะกั่ว โลหะหนัก สุรา พิษเหล่านี้จะทำให้ระบบประสาทส่วนปลายเสียไป มักจะเป็นที่ปลายเท้า อาการขึ้นกับสาเหตุ
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักพบภาวะแทรกซ้อนตามระบบและอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาและวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นเหตุให้การทำงานผิดปกติหรือสูญเสียอวัยวะไป โดยผู้ป่วยควรสังเกตความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะเท้า เพราะเมื่อเป็นเบาหวานมานาน จะทำให้หลอดเลือดส่วนปลายที่มาเลี้ยงขาและเท้าตีบ ร่วมกับมีการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีโอกาสเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณแผล จึงมีโอกาสเกิดการลุกลามและเรื้อรังของแผล นำไปสู่การตัดขาในที่สุด ทั้งนี้ ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยเบาหวานมีประสบการณ์การเกิดแผลที่เท้า จำนวนนี้ร้อยละ 14-24 ต้องถูกตัดขา ผู้ป่วยเบาหวานชายมีความเสี่ยงเกิดแผลที่เท้ามากกว่าผู้หญิง
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ยังกล่าวอีกว่า ถ้าโรคชาปลายประสาทอักเสบเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาล และอาจต้องให้การรักษาอื่นร่วมด้วย โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 วิธี วิธีแรก คือ การรักษาด้วยกลุ่มวิตามินบี ที่มีความจำเป็นต่อการบำรุงระบบประสาท มีส่วนช่วยในการสร้างสื่อประสาท และช่วยซ่อมแซมเส้นประสาท จึงส่งผลต่อการลดอาการชาปลายมือปลายเท้าได้ กลุ่มวิตามินบีดังกล่าวได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 จากเอกสารตีพิมพ์เกี่ยวกับการศึกษาที่ทำในประเทศแถบเอเชีย ในปี 2556 มีการวิจัยในในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคปลายประสาทอักเสบร่วมด้วย จำนวน 310 คน ผู้ป่วยรับประทานวิตามินบี 1 บี 6 บี 12 พบว่า 87.4% มีการตอบสนองดีต่อการรักษา และยังมีงานตีพิมพ์ของการศึกษาอื่นในผู้ป่วย พบว่าการที่ร่างกายได้รับวิตามินบี 12 วันละ 1,500 ไมโครกรัม ต่อเนื่อง 24 สัปดาห์ สามารถช่วยรักษาอาการระบบประสาทอักเสบได้ เพราะวิตามินบี 12 มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อหุ้มประสาทและป้องกันการเสื่อมของเส้นประสาท วิธีที่สอง การรักษาด้วยกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ในผู้ป่วยเบาหวาน พบการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายปริมาณสูงมาก (oxidative stress) ทำให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เร็วขึ้น จากการศึกษาพบว่า แม้ผู้ป่วยเบาหวานจะพยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วก็ตาม แต่มากกว่า 20% ของผู้ป่วยก็ยังเกิดปัญหา ต่อมาจะทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ ไต การย่อยอาหารผิดปกติ การรับประทานผักผลไม้หลายหลากสีอย่างพอเพียงทุกวันสามารถป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระทำลายเซลล์ และงดการสูบบุหรี่ถ้าสูบอยู่ การใช้สารต้านอนุมูลอิสระได้ผลไม่แน่นอนที่จะอาจช่วยป้องกันหรือลดภาวะอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้
สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโรคชาปลายประสาทอักเสบ คุณหมอฝากเรียนเชิญเข้าร่วมสัมมนา "โรคชาปลายประสาทอักเสบ รู้ทันป้องกันได้" โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และบริษัท เมอร์ค จำกัดในวันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี สำรองที่นั่งได้ที่ 081 622 6444 ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ (มีที่นั่งจำนวนจำกัด)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit