นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์มีความยินดีและภูมิใจอย่างยิ่ง ที่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย ครั้งที่ 36 และการจัดการประชุมสัมมนานานาชาติ ครั้งที่18 (The 36th ARCASIA Council Meeting & ARCASIA Forum 18) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในการต้อนรับสถาปนิกชาวเอเชียกว่า 19 ประเทศ รวมทั้งจากทวีปอื่น รวมผู้มาร่วมงานกว่า 600 คน ทั้งสถาปนิกอาวุโส สถาปนิกรุ่นเยาว์ และนิสิตนักศึกษาสถาปัตยกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ มีการประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชียประจำปี การสัมมนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพ การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสังคม กรณีศึกษาการทำงานระดับนานาชาติ องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการก่อสร้าง อุปกรณ์การก่อสร้างยุคใหม่ นอกจากนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้นำเอาความงดงามของสถาปัตยกรรมของเมืองหลวงเก่าอย่างอยุธยามานำเสนอในรูปแบบของ งานเลี้ยงรับรองในแต่ละวัน สมาคมฯได้เลือกจัดให้แตกต่างกันในแต่ละวัน อาทิ อาหารเย็น ณ บ้านคลองสระบัว ด้วยอาหารไทยแบบดั้งเดิม พร้อมจัดแต่งแบบไทยงดงาม การจัดแสดงนาฏศิลป์แบบอโยธยา การแสดงโขน และการจำลองการลอยกระทงให้แขกต่างชาติได้รับรู้และซึมซับความงดงามของวัฒนธรรมไทย การล่องเรือสำราญพร้อมชมความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา ชมวัด โบราณสถานยามค่ำคืนและเกาะอยุธยา รวมทั้งการมอบรางวัลผลงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม อาเคเซียพร้อมดินเนอร์ ณ วัดชัยวัฒนาราม ที่มีสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลายที่มีเอกลักษณ์งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองอยุธยา
"สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ทุ่มเทอย่างสุดความสามารถที่จะจัดงานอาเคเซีย ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 10 ปี ให้ออกมาดี น่าประทับใจที่สุด ทั้งด้านวิชาการ ความร่วมมือต่างๆ ด้วยหวังให้เป็นการสร้างโอกาสในการสร้างงานให้กับสถาปนิกทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมาท่องเที่ยวภายในประเทศและจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 19 ประเทศสมาชิก ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี จีน มาเก๊า เนปาล บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย ลาว และภูฏาน การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นเวทีที่สถาปนิกไทยจะได้แสดงศักยภาพ ที่พร้อมจะเปิดรับการเปิดตลาดAEC และเป็นการอวดความงดงามของประเทศไทย ในมรดกสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติอีกด้วย"
นายสถิรัตร์ ตัณฑนันทน์ ประธานสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย กล่าว ในฐานะที่ได้รับเกียรติให้เป็นคนไทยคนแรกในการดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาปนิกแห่งเอเซีย ว่า นอกจาก การสัมมนา " Future of the Past" แล้ว การประชุมครั้งนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU)ที่สำคัญกับ 2 องค์กร หลักประกอบด้วย 1.ด้านภัยพิบัติ ที่สภาสถาปนิกแห่งเอเชียจะร่วมมือกับ ศูนย์เตรียมการภัยพิบัติแห่งอาเซีย (Asian Disaster Preparedness Center-ADPC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการนำองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมมาช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 19 ประเทศ จากปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ด้านภัยพิบัติเกิดขึ้นมากในหลายประเทศในเอเชีย การมีศูนย์กลางความร่วมมือดังกล่าว แต่ละประเทศ จะได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ด้านการแก้ไข การออกแบบสถาปัตยกรรมให้เอื้อต่อการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 2.ต่ออายุความร่วมมือฉบับใหม่ ระหว่างสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA)กับสมาคมสถาปนิกอเมริกา (AIA) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและการปฏิบัติการวิชาชีพ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ และสมาชิกในกลุ่มประเทศ
อีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้คือ งาน ARCASIA AWARD Night ซึ่งเป็นงานประกาศรางวัลการประกวดแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นของเอเชีย ที่จัดการประกวดและมอบรางวัลมายาวนานกว่า 30 ปี โดยการมอบรางวัล ARCASIA Awards for Architecture 2015 (AAA2015) ถือเป็นรางวัลด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของโลก แบ่งเป็น 10 ประเภท ปีนี้มีผู้ส่งผลงาน 237 ชิ้น ทั้งสถาปนิกชาวไทยและต่างประเทศทั่วเอเซีย การมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้สถาปนิกในภูมิภาคเอเซียได้เผยแพร่ผลงานศักยภาพด้านการออกแบบ และแสดงให้โลก เห็นว่าผลงานด้านสถาปัตยกรรมล้วนมีผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ หลายชิ้นงานเป็นงานสถาปัตยกรรมระดับโลก อันเป็นความน่าภาคภูมิใจของชาวเอเชีย ตบท้ายด้วยรางวัลสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเซีย (Best Architecture of the Year) อันเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดจากรางวัล 10 ประเภทในครั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลของผู้ได้รับรางวัลในประเภทต่างๆได้จาก http://www.arcasia.org/awards/arcasia-awards-for-architecture
อนึ่ง การประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย หรือ ARCASIA Council Meeting จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2513 ที่ประเทศมาเลเซีย และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจัดร่วมกับการประชุมสัมมนานานาชาติ (ARCASIA Forum) และการจัดประชุมวิชาการ (ARCASIA Congress of Architect) สลับกันปีเว้นปี เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ด้านความรู้ ประสบการณ์ และหลักการคิด ในการสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรม ผ่านบุคคลผู้เชี่ยวชาญหลากหลายกลุ่มที่น่าสนใจสู่สาธารณะ โดยมีสถาปนิก นักออกแบบ นักวิชาการ นิสิต และผู้สนใจ ในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมกิจกรรม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit