การสำรวจของกรีนพีซเปิดเผยการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงนอกน่านน้ำของไทย

09 Nov 2015
รายงานสืบสวนของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่า แม้ว่าจะมีรายงานการตรวจสอบอย่างละเอียดของเรื่องนี้โดยสื่อมวลชน

ในรายงาน กรีนพีซสัมภาษณ์แรงงานประมงผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในอินโดนีเซีย พวกเขาเผชิญกับการกดขี่ขูดรีดและไม่ได้รับอาหารบนเรือประมงนอกน่านน้ำจากประเทศไทย เรือประมงนอกน่านน้ำเหล่านั้นขนถ่ายปลาทูน่าและปลาทะเลอื่นๆ ส่งให้เรือมารีนวัน(Marine one) ของบริษัท ซิลเวอร์ซี ไลน์ จำกัดที่ดำเนินการโดยคนไทย และยังเป็นบริษัทเดียวกับที่สำนักข่าวเอพีรายงานว่าทำการขนส่งอาหารทะเลจากการบังคับใช้แรงงานประมงและเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับไทยยูเนี่ยน

"ขณะนี้แรงงานประมงจากกระบวนการค้ามนุษย์นับพันที่ถูกบังคับใช้หาปลารวมถึงปลาทูน่า หากไม่ใช่เป็นคนตกเรือ ก็ถูกทิ้งไว้ในอินโดนีเซียอย่างไร้อนาคต" มาร์ค เดีย ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ไทยยูเนี่ยนรับปลาทูน่ามากกว่าร้อยละ 96 จากพื้นที่การทำประมงอื่นๆ นอกน่านน้ำไทย แต่บริษัทให้คำมั่นในการตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่าที่จับในน่านน้ำไทยซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 แม้ไทยยูเนี่ยนหยุดรับซื้อปลาทูน่าจากเรือประมงที่มาจากการขนถ่ายกลางทะเลในน่านน้ำไทย แต่ไม่ได้พิจารณาถึงประเด็นเดียวกันคือการขนถ่ายปลาทูน่ากลางทะเลที่มาจากแหล่งทำการประมงทูน่าอื่นๆ การขนถ่ายปลากลางทะเลยิ่งทำให้ความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขยายเพิ่มขึ้นจากการที่เรือประมงกักตัวแรงงานไว้บนเรือและอยู่ในทะเลโดยไม่มีกำหนด

"ไทยยูเนี่ยนยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของตนมาจากเรือประมงที่ปลอดจากการบังคับใช้แรงงาน บริษัทจะต้องแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่มากไปกว่าเพียงธุรกิจกุ้ง และไม่รับสินค้าประมงจากการขนถ่ายกลางทะเลในน่านน้ำไทย เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง หากไม่ลงมือทำมากกว่าที่เป็นอยู่ อาหารทะเลที่มาจากการกดขี่ขูดรีดแรงงานประมงก็จะยังคงผ่านห่วงโซ่อุปทานแล้วเข้าไปสู่มือผู้บริโภคในที่สุด" มาร์ค กล่าวเสริม

สืบเนื่องจากการเปิดโปงของสำนักข่าวเอพีในช่วงต้นปีนี้ ไทยยูเนี่ยนประกาศหยุดรับซื้อปลาทูน่าจากบริษัทผู้จัดหาวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานประมงที่ระบุในรายงานข่าว อย่างไรก็ตามบริษัทไม่ได้ระบุว่าจะหยุดรับซื้อปลาทูน่าจากเรือแม่ของบริษัท ซิลเวอร์ ซีไลน์ จำกัด ที่ทำการขนถ่ายปลากลางทะเลจากเรือประมงที่บังคับใช้แรงงาน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องไทยยูเนี่ยนให้แก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของตน โดยหยุดการรับซื้อปลาจากเรือประมงใดๆ ที่มีการขนถ่ายกลางทะเล รับรองถึงการตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงเรือประมงที่จับปลา และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานทั้งหมด

"ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไทยยูเนี่ยนมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลกและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงจำนวนมหาศาลให้ดีขึ้นได้ มาตรการเล็กๆ น้อยของไทยยูเนี่ยนที่ทำอยู่นี้ยังไม่เพียงพอกับความเร่งด่วนของปัญหา และเป็นมาตราการที่ไม่อาจยอมรับได้" มาร์ค กล่าวเพิ่มเติม

แรงงานบังคับ และผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ที่กรีนพีซสัมภาษณ์เล่าว่า การทำร้ายร่างกายและไม่ได้รับอาหาร จะเกิดขึ้นกับใครก็ตามที่พยายามหลบหนี แรงงานบนเรือประมงปลาทูน่าถูกบังคับให้ทำงาน 20-22 ชั่วโมงต่อวัน โดยรับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลยหรือแม้แต่การไม่อนุญาตให้อาบน้ำ

กรีนพีซทำงานรณรงค์ระดับโลกเพื่อเรียกร้องไทยยูเนี่ยนดำเนินขั้นตอนที่เร่งด่วนและครอบคลุมเพื่อขจัดปัญหาการกดขี่ขูดรีดแรงงานประมง และการทำประมงแบบทำลายล้างออกไปจากห่วงโซ่อุปทาน ขณะนี้ ผู้คนทั่วโลกกว่า 250,000 คนเข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์เพื่อกระตุ้นให้ไทยยูเนี่ยนลงมือปฏิบัติอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรมหมายเหตุ

อ่านรายงาน โซ่ตรวนกลางทะเล: การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลกได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/450053/Supply-chained_TH.pdf

ดูวิดีโอสัมภาษณ์แรงงานบังคับและผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/SupplyChained/

รายงานข่าวเชิงสืบสวนที่เชื่อมโยงไทยยูเนี่ยนกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้แรงงาน และการประมงทำลายล้าง ดูที่ :http://bigstory.ap.org/article/b9e0fc7155014ba78e07f1a022d90389/ap-investigation-are-slaves-catching-fish-you-buy