เอออน ฮิววิท บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารงานบุคคล ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเปิดตัวโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นครั้งที่ 8 ประจำปี 2559 ( Best Employers --Thailand 2016) ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยมีคุณวิลาสินี พุทธิการันต์ ผู้บริหารจากบริษัท AIS ผู้คร่ำหวอดในแวดวงบริหารมานานกว่าทศวรรษ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การบริหารองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นสุดยอดนายจ้างดีเด่น
ศาสตราจารย์ Dipak C. Jain ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ได้แถลงถึงความร่วมมือระหว่างศศินทร์และเอออน ฮิววิทในโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นความร่วมมือที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี พร้อมทั้งบทบาทของศศินทร์ สถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลกในฐานะผู้นำองค์ความรู้ทางด้านการบริหารและการจัดการทรัพยากรมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน
ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท เอออน ฮิววิท ประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนายจ้างดีเด่นที่มีต่อแวดวงธุรกิจและการบริหารทรัพยากรบุคคลในวงกว้าง เพราะเป็นการค้นหาปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมขีดความสามารถองค์กรในการแข่งขันทางธุรกิจผ่านด้านทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงการก้าวสู่การเป็นองค์กรในดวงใจที่พนักงานอยากเข้าร่วมงานด้วยมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทเอออน ฮิววิทที่มุ่งเน้นการผลักดันศักยภาพองค์กรและบุคลากรผ่านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ดร.อดิศักดิ์ ยังได้เปิดเผยถึงข้อค้นพบที่น่าสนใจในโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นครั้งล่าสุดประจำปี2558 ภายใต้หัวข้อ"ความท้าทายจากมุมมอง CEO ยุคใหม่" ว่าแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยจากการคาดการณ์ของ IMF ยังถือว่าอยู่ในสัญญาณการฟื้นตัว ในด้านของมุมมองจาก CEO ทั่วเมืองไทยยังค่อนข้างมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตขององค์กร แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านการบริหารคนยังคงเป็นหนึ่งในความกังวลใจหลักของ CEO ในเมืองไทยและทั่วเอเซีย ซึ่งประเด็นความท้าทายอันดับหนึ่งด้านคนในมุมมองของ CEO เมืองไทย คือ การขาดแคลนทักษะของบุคลากร ตามมาด้วยการปรับตัวของเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนผู้นำที่มีความสามารถ"จะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านคนปรากฎขึ้นมาเป็นความท้าทายหลักของผู้บริหารองค์กรไทยอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือองค์กรหลายแห่งยอมรับว่ายังไม่มีการจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้อย่างดีพอ ดังนั้นองค์กรที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งคือองค์กรที่รู้ว่าอะไรคือความเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การหาหนทางรับมือกับความเสี่ยงนั้น" ดร.อดิศักดิ์ได้กล่าวไว้ จากข้อค้นพบในมุมมองของ CEO นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า องค์กรที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนายจ้างดีเด่นจะมีความพร้อมในการบริหารจัดการในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นระดับความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรประสิทธิภาพความเป็นผู้นำ ความมีชื่อเสียงของนายจ้างและวัฒนธรรมภายในที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ ผู้ได้รับยกย่องจากวิทยาลัยเบอร์คเบ็คแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษให้เป็นนักวิจัยกิตติมศักดิ์ด้านการบริหารบุคคลและภาวะผู้นำ ได่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เบื้องหลังการคัดเลือกสุดยอดองค์กรนายจ้างดีเด่นในฐานะประธานกรรมการตัดสินรางวัลนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยว่า "หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศศินทร์ตกลงร่วมมือกับเอออน ฮิววิท จัดการสำรวจหานายจ้างดีเด่นของประเทศไทยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพราะศศินทร์ให้ความสำคัญกับระเบียบวิธีวิจัยในการเก็บข้อมูล และการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จากประสบการณ์การเป็นนักวิจัยทำให้ดิฉันกล่าวได้ว่า การสำรวจของเรามีความละเอียดรอบด้านครบ 360 องศา เที่ยงตรง เชื่อถือได้ โดยรวมแล้วเป็นการจัดอันดับที่มีมาตรฐานสูงระดับโลก กรรมการแต่ละท่านมีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจากหลากหลายสาขา ทำให้การตัดสินเป็นไปอย่างเข้มข้น ยุติธรรม โปร่งใส เพราะกรรมการจะได้เห็นแต่ข้อมูลและไม่ทราบชื่อขององค์กรที่เราตัดสินอยู่ องค์กรที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์ของเราจะได้รับข้อมูลที่ละเอียดสะท้อนกลับไปให้ผู้บริหารตระหนักว่าองค์กรของเขามีจุดเด่น และจุดที่ต้องปรับปรุงอย่างไรเมื่อเทียบมาตรฐานกับองค์กรที่เป็นเลิศ การเข้าร่วมการสำรวจจึงเปรียบเสมือนการ 'เช็ค-อัพ' ครั้งใหญ่ขององค์กร"
จุฑารัตน์ วินิจชัยนันท์ ผู้จัดการโครงการนายจ้างดีเด่นประจำปี 2559 ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันฝ่าย HR เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบจาก CEO จำนวน 400 กว่าคนทั่วเอเซียต่อมุมมองด้านการสนับสนุนของ HR ที่จะมีคำเช่น กลยุทธ์หรือธุรกิจ ปรากฎขึ้นมาเป็นคำสำคัญซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทในเชิงธุรกิจของ HR ที่มีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรนายจ้างดีเด่นซึ่งประกอบไปด้วย (1) บทบาทด้านการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลยุทธ์ HRร่วมกับภาคส่วนธุรกิจอื่นๆในองค์กรหรือการเข้าไปนั่งเป็นตัวแทนของบอร์ดบริหารองค์กร (2) ความเชื่อมโยงของมุมมองแต่ละภาคส่วนในองค์กรทั้งผู้บริหาร HR และพนักงานต่อผลลัพธ์การดำเนินงานในเรื่องการบริหารงานบุคคลผ่านการสื่อสารและการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง (3) การให้ความสำคัญกับการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานผ่านการเทียบเคียงข้อมูล(Benchmark)กับองค์กรภายนอกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจ จากข้อมูลโครงการในปี 2015 พบว่าองค์กรนายจ้างดีเด่นมีผลการดำเนินงานทางธุรกิจที่เหนือกว่าอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับองค์กรทั่วไปไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้หรือผลกำไร ทำให้เรื่องของ HR ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลแต่ยังเป็นประเด็นที่มีผลกระทบกับธุรกิจอีกด้วย
คุณวิลาสินี พุทธิการันต์ ผู้บริหารจากบริษัทแอดวานซ์ คอนแทค เซ็นเตอร์ (ACC) ซึ่งได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นถึงสองปีซ้อนได้กล่าวถึงความรู้สึกทีมีต่อการเข้าร่วมโครงการว่า "มีความภาคภูมิใจว่าพนักงานของ ACC มีความรัก มีความเข้าใจต่อองค์กร เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้ทำงานเพราะเขาต้องทำ แต่เขาทำงานกับเราด้วยใจเพราะเขามีความผูกพันต่อองค์กรจึงสะท้อนออกมาเป็นรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น"
จุฑารัตน์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "องค์กรหลายแห่งกลัวที่จะเข้าร่วมโครงการลักษณะนี้เพราะคิดว่าเป็นการประกวดแข่งขันจึงรู้สึกว่าจะเข้าร่วมต่อเมื่อพร้อมแล้วเท่านั้น ซึ่งคำว่า 'พร้อม' เป็นคำที่วัดผลได้ยากมาก เพราะองค์กรทุกแห่งต่างต้องพัฒนาให้ก้าวทันต่อการแข่งขันอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ถึงแม้องค์กรคุณจะยังไม่ได้รับรางวัล แต่อย่างน้อยคุณได้ก้าวเข้าสู่หนทางการเป็นนายจ้างดีเด่นเรียบร้อยแล้ว"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit