วิทยาลัยดุสิตธานี หนึ่งในสถาบันการศึกษาทางด้านอุตสาหกรรมบริการชั้นนำของเอเชีย ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นและตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เปิดตัวศูนย์วิจัย "ดีทีซี โพลล์ (DTC POLL)" โดยทำหน้าที่สำรวจประชามติ วิเคราะห์ และประเมินผลสถานการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการศึกษา ฯลฯ ดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัย
ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารริมทาง (Street Foods)
โดย ดีทีซี โพลล์ (ศูนย์วิจัย วิทยาลัยดุสิตธานี)
ดีทีซี โพลล์ เผยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารริมทาง (Street Foods) ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1104 คน ในระหว่างวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2558 โดยสอบถามจากประชาชน เพศหญิง จำนวน 661 คน คิดเป็นร้อยละ 59.87 และเพศชาย จำนวน 443 คน คิดเป็นร้อยละ 40.13 ส่วนมาก มีอายุระหว่าง 20-25 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 26-30 ปี และ 31-35 ปี (ร้อยละ 35.88 ร้อยละ 21.16 และร้อยละ 15.80 ตามลำดับ) มีรายได้ต่อเดือน ตั้งแต่ 15,000 – 25,000 บาท (ร้อยละ 42.62) สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 58.20) ทำงานในบริษัทเอกชน (ร้อยละ 42.32) และมีประสบการณ์การทำงานน้อยกว่า 5 ปี (ร้อยละ 50.98)
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับประสบการณ์การรับประทานอาหารริมทาง พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 95.56 เคยรับประทานอาหารริมทาง โดยส่วนมากรับประทานในร้านอาหารตามสั่ง (ร้อยละ 55.99) รับประทานสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 39.30) รับประทานในช่วงเวลา 11.00 – 13.00 น. (ร้อยละ 68.80) ใช้เวลาในการรับประทานอาหารครั้งละประมาณ 30 – 60 นาที (ร้อยละ 54.51) และจ่ายเงินค่าอาหาร คนละประมาณ 50 – 100 บาท (ร้อยละ 54.56) สำหรับเหตุผลที่เลือกรับประทานอาหารริมทาง เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว (ร้อยละ 27.01) ราคาถูก (ร้อยละ 20.76) และรสชาติอร่อย (ร้อยละ 20.61) รายการอาหาร จานเดียวที่เป็นยอดนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ก๋วยเตี๋ยวน้ำ-ก๋วยเตี๋ยวแห้ง 2) ข้าวผัด 3) ข้าวมันไก่ 4) ก๋วยเตี๋ยวเรือ และ 5) ข้าวไข่เจียว
สำหรับคำถามที่ว่า ท่านเคยมีอาการท้องเสีย เนื่องจากการรับประทานอาหารริมทางบ้างหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนมากเคยมีอาการท้องเสียบ้างประมาณ 1-2 ครั้ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรับประทาน อาหารริมทาง (ร้อยละ 56.34) รองลงมาร้อยละ 40.23 ตอบว่า ไม่เคยมีอาการท้องเสียจากการรับประทานอาหารริมทางเลย สิ่งที่ประชาชนมีความเห็นว่า การขายอาหารริมทางในกรุงเทพฯ ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ความสะอาดของอาหารและวัตถุดิบ 2) ความสะอาดของเครื่องครัว จาน ชาม และช้อน 3) ความสะอาดของสถานที่ขายอาหาร 4) ความสะอาดของโต๊ะ เก้าอี้ ที่นั่งรับประทานอาหาร และ 5) สถานที่ หรือภาชนะที่ใช้ทิ้งขยะและเศษอาหาร
ในกรณีที่พบว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไม่คำนึงถึงมาตรฐานด้านอาหาร และ/หรือ สถานที่ ประชาชนส่วนมากมีความเห็นว่า ควรบอกให้เจ้าของร้านหรือผู้ประกอบการทราบอย่างตรงไปตรงมา (ร้อยละ 58.33) รองลงมา คือ ควรแจ้งหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และไม่ควรซื้อหรือรับประทานอาหารที่ร้านนั้นอีกต่อไป (ร้อยละ 16.67 และ 15.47 ตามลำดับ)
สิ่งที่ประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องการจะบอกหน่วยงาน กรุงเทพมหานคร และรัฐบาลเกี่ยวกับการควบคุมดูแลร้านอาหารริมทาง ได้แก่ ควรควบคุมดูแลด้านความสะอาดของอาหารและสถานที่ ควรจัดพื้นที่ขายอาหารริมทางให้เป็นสัดส่วน เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสะดวกในการเดินทาง และควรมีการควบคุมราคาขายอาหารให้เหมาะสม (ร้อยละ 43.05 ร้อยละ 37.00 และร้อยละ 11.43 ตามลำดับ)สำหรับรายการอาหารใหม่ๆ ที่ควรแนะนำให้ชาวต่างประเทศได้ทดลองรับประทานกันมากขึ้นนั้น ประชาชนในกรุงเทพฯ คิดว่าควรแนะนำให้ชาวต่างประเทศได้ทดลองรับประทานก๋วยเตี๋ยวชนิดต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวเรือ เป็นต้น ผัดกระเพราเนื้อ-ไก่-หมู แกงเขียวหวาน และน้ำพริกชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริกปลาทู ผักลวก เป็นต้น
หมายเหตุ อาหารริมทาง หมายถึง อาหารที่ขายอยู่ริมถนน ทางเดิน ทางเท้า หรือในตึกแถว อาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจตั้งขายอยู่ในรถเข็น แผงลอย เพิง หรือในอาคารตึกแถว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit