นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่าเทศกาลวันลอยกระทงเป็นช่วงหนึ่งที่มีสถิติการเกิดอุบัติภัยสูง ทั้งภัยจากการจมน้ำ อันตรายจากพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย ซึ่งส่วนใหญ่ เกิดจากความประมาท ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาล วันลอยกระทง ดังนี้ ภัยจากการจมน้ำ ควรลอยกระทงในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับลอยกระทง มีที่กั้นป้องกันการพลัดตกน้ำ และอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำ ท่าน้ำและโป๊ะเรือมั่นคงแข็งแรง หากพาเด็กไปร่วมงานด้วย ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็กลอยกระทงตามลำพัง ไม่ให้เด็กลงไปในน้ำหรือยืนบนฝั่ง เพื่อเก็บเงินกระทง โดยเด็กต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงได้ทันที เพื่อป้องกันการพลัดตกและจมน้ำเสียชีวิต กรณีนั่งเรือไปลอยกระทงกลางลำน้ำ ไม่ลงไปในโป๊ะหรือเรือที่มีคนจำนวนมาก หรือบรรทุกน้ำหนักเกิน รอเรือจอดเทียบท่าแล้วขึ้นลงอย่างเป็นระเบียบ สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่โดยสารเรือ อุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้ไฟ ควรเล่นอย่างถูกวิธีในบริเวณที่ปลอดภัย โดยให้สัญญาณก่อนจุดไฟทุกครั้ง และอยู่ให้ห่างจากบริเวณที่จุดพลุ ดอกไม้ไฟในระยะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร และห้ามจุดในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะบริเวณใกล้แนวสายไฟ ชุมชน สถานีบริการน้ำมัน วัตถุไวไฟ เพราะจะทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ รวมถึงไม่โยน ใส่กลุ่มคน เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต อุบัติภัยจากโคมลอย ควรปล่อยในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ห่างจากแหล่งชุมชน ไม่อยู่ใกล้แนวสายไฟ และไม่อยู่บริเวณโดยรอบสนามบิน เพื่อป้องกันเพลิงไหม้และก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยาน โดยโคมลอยควรมีรูปแบบและขนาดที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ทำจากวัสดุธรรมชาติ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย อีกทั้งผู้จัดกิจกรรมต้องประสานท่าอากาศยานและหอบังคับการบินในพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลวัน เวลา สถานที่ปล่อยโคมลอย พร้อมปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้ปล่อยในช่วงหลังเวลาเครื่องบิน ขึ้น – ลง เพื่อป้องกันอันตรายต่ออากาศยานที่อยู่ระหว่างการบิน0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit