นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังพิธีมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2558 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน มอบรางวัลแก่กองทุนที่มีผลการประเมิน
จากผลการดำเนินงานประจำปีดีเด่น ในวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2558 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า กรมบัญชีกลางได้จัดพิธีมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2558 เพื่อสนับสนุนให้ทุนหมุนเวียนมุ่งพัฒนาด้านการบริหารและการปฏิบัติงาน มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์การประเมินผลที่กำหนดไว้ และเป็นเป้าหมายให้ทุกทุนหมุนเวียนมีมาตรฐาน รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศต่อไป
ทั้งนี้ เงินนอกงบประมาณ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐ ที่ช่วยกำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารและพัฒนาประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมในเชิงนโยบายรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุนหมุนเวียนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้จัดให้มีระบบประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีบัญชี 2547 โดยปัจจุบันมีทุนหมุนเวียนที่มอบหมายให้กรมบัญชีกลางกำกับดูแล 114 ทุน มูลค่าสินทรัพย์ ณ ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 3.033 ล้านล้านบาท
"กองทุนที่ได้รับรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นในครั้งนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐที่มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนา ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนศิลปะวัฒนธรรม ที่ครอบคลุมประชากรในทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปอย่างยั่งยืน โดยต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการตัดสินรางวัล ทุนหมุนเวียนดีเด่น ที่ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่งมีเกณฑ์วัด ทั้งด้านประสิทธิภาพการบริหารงาน ด้านการปรับปรุงและพัฒนา และวัดผลการดำเนินงานที่บรรลุเป้าหมายตามภารกิจ โดยการจัดงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้ว" นายมนัส กล่าว
สำหรับทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 16 รางวัล โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทรางวัล ดังนี้
1. รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น จำนวน 5 ทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข เงินทุนหมุนเวียนการแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานโดยรวมดีเด่น สามารถดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่กำหนดไว้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุเป้าหมายตามภารกิจ
2. รางวัลการพัฒนาดีเด่น ประเภทดีเด่น จำนวน 3 ทุน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา ประเภทชมเชย 2 ทุน ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนโรงงานในอารักษ์ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช รางวัลนี้จะประเมินทุนหมุนเวียนที่มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการดำเนินงาน ตามเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนดีเด่น จำนวน 6 ทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน กองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา รางวัลนี้มอบให้กับทุนหมุนเวียนที่มีการจัดการบริหารพัฒนา และปรับปรุงองค์กรที่ครอบคลุมตามกรอบการประเมินด้านการบริหารพัฒนา ใน 6 หัวข้อ คือ 1) บทบาทคณะกรรมการทุนหมุนเวียน 2) การบริหารความเสี่ยง 3) การควบคุมภายใน 4) การตรวจสอบภายใน 5) การบริหารจัดการสารสนเทศ และ 6) การบริหารทรัพยากรบุคคล
สำหรับรางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศ ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องชมเชยให้กับทุนหมุนเวียนที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีผลการดำเนินงานในระดับดีเด่นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสร้างความยั่งยืนขององค์กร ทั้งนี้ รางวัลนี้ ไม่มีทุนหมุนเวียนใดผ่านเกณฑ์การพิจารณา