“เศรษฐกิจดิจิตอล” ช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี

21 Sep 2015
สศอ. สำรวจความพร้อมภาคอุตสาหกรรมกับเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นอุตฯ ที่มีความเข้าใจดี และเล็งเห็นความสำคัญนำระบบดิจิตอลอิโคโนมีมาใช้ เพื่อช่วยการดำเนินธุรกิจ ลดต้นทุนการผลิต ขยายช่องทางการตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังต้องสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์จากการใช้ช่องทางจากการเข้าถึงธุรกิจแบบดิจิทัลอิโคโนมี
“เศรษฐกิจดิจิตอล” ช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ ใน 16 สาขาอุตสาหกรรมเพื่อศึกษาถึงความพร้อมของผู้ประกอบการไทยกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่ร้อยละ 25.96 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจแบบดิจิทัลอิโคโนมีอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 39.42 เข้าใจในระดับปานกลาง และร้อยละ 34.62 มีความเข้าใจน้อย อีกทั้งมีความเข้าใจดีกว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยผู้ประกอบการ SMEs มีเพียง ร้อยละ 4.10 ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจแบบดิจิทัลอิโคโนมีอยู่ในระดับมาก ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.03 มีความรู้และความเข้าใจน้อย ร้อยละ 31.79 มีความเข้าใจปานกลาง และร้อยละ 3.08 ยังไม่เข้าใจ

อุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการที่มีความรู้ความเข้าใจมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ร้อยละ 42.86 รองมาได้แก่ อุตสาหกรรมไม้ ร้อยละ 35.71 กระดาษและสิ่งพิมพ์ ร้อยละ 26.67 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ ร้อยละ 25.0 อัญมณีและเครื่องประดับร้อยละ 22.73 ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยาง คิดเป็นร้อยละ 7.14 เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน รองมาคือ อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ ร้อยละ 6.25 เครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 4.76 ตามลำดับ ส่วนแหล่งข้อมูลและช่องทางในการรับรู้ข่าวสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจนั้น ร้อยละ 96.84% ติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเองร้อยละ 2.81 มาจากหน่วยงานของภาคเอกชน และร้อยละ 0.35 มาจากหน่วยงานภาครัฐ

ความเห็นถึงความจำเป็นในการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงาน ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.45 เห็นถึงความจำเป็นในการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงาน เหตุผลความจำเป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 80.42 เห็นว่ามีความจำเป็นเนื่องจากช่วยในการติดต่อสื่อสารให้มีความสะดวก รวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 18.33 เห็นความจำเป็นเพราะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานทำให้การทำงานสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และร้อยละ 1.25 เห็นว่าช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้าได้ ส่วนผู้ประกอบการที่เห็นว่าไม่จำเป็นมีเพียงร้อยละ 4.55 เนื่องจากการดำเนินงานธุรกิจของตนเองส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายที่หน้าร้านและมีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์เป็นหลัก

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.01 ได้นำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานแล้ว มีเพียงผู้ประกอบการร้อยละ 2.66 ที่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้ และร้อยละ 0.33 กำลังจะนำมาใช้นั้นอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในอนาคต รูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ส่วนมากร้อยละ 63.86 นำมาใช้ติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต รองมาร้อยละ 25.26 นำมาช่วยในการทำการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 5.96 นำมาใช้ทำธุรกรรมทางด้านการเงิน ร้อยละ 1.75 นำมาใช้ด้านการขนส่งสินค้า ร้อยละ 1.40 นำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ร้อยละ 1.05 ใช้ในด้านการผลิต และร้อยละ 0.70 ใช้ในการค้นหาข้อมูลในเชิงธุรกิจ

อย่างไรก็ตามรูปแบบการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานของผู้ประกอบการจะมีขั้นตอนการพัฒนาโดยเริ่มต้นจากการเป็น Traditional Economy หรือขายตามหน้าร้านทั่วไป ก้าวไปสู่ระดับขั้นกลางเป็น Connected Economy หรือใช้ติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การศึกษาจึงสะท้อนให้เห็นได้ว่า การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในระดับขั้นกลาง และยังมีโอกาสก้าวไปสู่การนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในระดับขั้นสูงขึ้นหรือเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอิโคโนมีมากขึ้นได้อีก

ผลจากการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 78.45 เห็นว่าไม่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพียงแค่เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันเท่านั้น ไม่ได้นำไปใช้ในการผลิต ส่วนผู้ประกอบการที่เห็นว่าหลังการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงมีร้อยละ 21.55 โดยสัดส่วนของต้นทุนที่ลดลงเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด สำหรับต้นทุนที่ลดลง ได้แก่ ร้อยละ 60.66 ระบุว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนในการจ้างพนักงานโดยการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยแทน อีกร้อยละ 39.34 ช่วยในการลดค่าใช้จ่ายในด้านการติดต่อทางโทรศัพท์เป็นการใช้อีเมลแทน และเมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมที่นำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานแล้วช่วยลดต้นทุนในการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

ผู้ประกอบการอีกร้อยละ 74.07 เห็นว่าการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานไม่ส่งผลต่อมูลค่าการขาย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีการนำดิจิตอลอีโคโนมีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารทางอีเมลเท่านั้น จึงไม่ได้มีส่วนช่วยให้มูลค่าการขายโดยรวมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการร้อยละ 25.93 เห็นว่าการนำระบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้สามารถช่วยเพิ่มยอดขายได้ โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้นมามีผลมาจากหลายประการ เช่น ลูกค้าสามารถดูรายละเอียดของสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น สะดวกกับลูกค้าในการติดต่อสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น การโฆษณาผ่านเว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้มีลูกค้าใหม่ๆ ติดต่อเข้ามาซื้อสินค้า เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมที่นำมาใช้แล้วช่วยเพิ่มยอดขายได้มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้ ยาง เครื่องนุ่งหุ่ม อโลหะ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

หากผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยสามารถเข้าใจและเข้าถึงระบบธุรกิจดิจิตอลอิโคโนมีได้เป็นอย่างดี และรู้จักใช้ประโยชน์จากการนำระบบธุรกิจอิจิตอลอิโคโนมีมาใช้เป็นช่องทางธุรกิจและช่องทางการตลาดในด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ จะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไทยซึ่งเป็นธุรกิจรากฐานสำคัญของประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต ตามนโยบายรัฐบาลที่กำลังต้องการผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มั่นคงยั่งยืนของประเทศ