“ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 3 สู่ปี 4 ต่อยอดซอฟต์แวร์เด็กไทยงานใช้ได้จริง-ทำงานเป็น

18 Sep 2015
ปิดท้ายความสำเร็จ โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 3 โชว์ 15 ผลงานเยาวชนไอทีไอเดียสุดเจ๋ง "ต่อยอด" พัฒนาผลงานสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เปลี่ยนวิธีคิด "คนไอที" คิดงานบนฐานความต้องการผู้ใช้งาน สององค์กร "เนคเทค" และ "มูลนิธิสยามกัมมาจล ผนึกกำลังจัดกระบวนการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้มีทักษะทำงานเป็น และหนุนให้สู่ผู้ประกอบการธุรกิจ..

เมื่อวันพุธที่ 16 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 3 ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของเยาวชนไอที 15 กลุ่ม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดผลงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเยาวชน ที่ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (Thailand IT Contest Festival) สู่การใช้ประโยชน์จริง สร้างโอกาสพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และสนับสนุนให้เข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ โดยการจัดนิทรรศการครั้งนี้ จัดภายในงาน "ประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2558" ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ โดยมีผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการและผลงานเยาวชนไอที มีทั้งเยาวชน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก

นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ย้ำถึงความสำคัญของโครงการว่า "โครงการนี้ได้เข้าไปสนับสนุนงานต้นแบบแรกของเด็ก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้มองเห็นภาพชัดแล้วมาลงทุนได้ จากเดิมงานเป็นเชิงวิชาการเพราะฉะนั้นเขามุ่งเน้นความรู้ทางไอที เป็นการแข่งขันฝีมือด้านไอทีว่าใครเก่งกว่ากัน แต่ถ้าเขามาต่อที่โครงการฯ นี้ โจทย์ไม่ใช่ไอเดียไอทีที่เจ๋งแล้ว แต่โจทย์คือมีความเป็นไปได้ไหม มีโอกาสทางการตลาด การผลิตได้ไหม เมื่อเป็นแบบนี้เรื่องการแข่งขันไม่มีแล้ว เราไม่ได้แข่งกับใคร แข่งกับตัวเองว่าผลงานเป็นอย่างไร สองไม่ใช่เป็นเรื่องปัจจัยความรู้ไอทีอย่างเดียว เป็นความรู้หลายๆ อย่าง บทบาทของมูลนิธิฯและเนคเทคจึงเข้าไปหนุนงานเด็กให้นำงานไปสู่ผู้ใช้ได้จริง การเข้าไปเติมตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนไม่มองเพราะลงทุนไปอาจจะไม่เห็นประโยชน์ แต่เนื่องจากเราเป็นองค์กรที่ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์เราก็มาเติมตรงนี้โดยมีกระบวนการพัฒนาทักษะและเสริมความรู้พัฒนาด้านต่างๆ อาทิ การวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการโครงการ ทักษะการนำเสนออย่างมืออาชีพ และการออกแบบผลงานคำนึงถึงผู้ใช้ และมีกลุ่มคนที่เรียกว่ากรรมการและพี่เลี้ยงที่จะมาช่วยให้ความเห็นน้องตลอดเส้นทาง บรรยากาศเปลี่ยนจากการแข่งขันเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ การเรียนรู้ เด็กได้สกิลใหม่ๆ พร้อมที่จะทำงานในชีวิตจริง ได้ผลงานเข้าสู่ตลาด หลังเยาวชนผ่านโครงการฯ จะทำให้มีความเข้าใจในการทำงานเป็นทีม เข้าใจความคิดต่างเข้าใจ ความต้องการของผู้ใช้ และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ นั่นคือทักษะการทำงานเป็นที่สถานประกอบการหรือตลาดแรงงานต้องการนั่นเอง จึงหวังว่าน้องๆ ที่ผ่านโครงการจะนำทักษะตรงนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและการทำงานต่อไปค่ะ...

ในปีนี้มีผลงานน้องๆ หลายชิ้นที่ที่เด็กไอทีกลุ่มนี้ได้พัฒนาฝีมือมาได้ไกล และบางชิ้นงานสังคมไทยได้ประโยชน์ เช่น อาทิ เกมส์ได้ไปขายใน Play Store แว่นตาหรือเกมส์เพื่อผู้บกพร่องทางการมองเห็น ที่สร้างนวัตกรรมใหม่และทำให้ชีวิตของคนกลุ่มนี้มีความสุขขึ้น อาชีพ เช่น อุปกรณ์เพาะเห็ดสำหรับครัวเรือน ที่พอน้องๆ ได้เผยแพร่ผลงานออกไปปรากฏว่ามีกลุ่มแม่บ้านสนใจโทรมาจองเป็นจำนวนมาก เป็นต้น เพราะจุดเด่นของโครงการนี้โปรดักส์ของเด็กพัฒนาดีขึ้นทุกปี จึงอยากจะสนับสนุนให้งานเด็กให้ไปถึงปลายทางอย่างที่สุด โครงการในปีที่ 4 ทางมูลนิธิฯ จึงได้เชิญธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มตัว เป็นการดึงศักยภาพธนาคารมาช่วยทำให้ผลงานเด็กไปสู่ผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเครือข่ายลูกค้าธนาคารน่าจะมีบทบาทเข้ามาหนุนงานเด็กมากขึ้น"

เยาวชนร่วมสะท้อนการเรียนรู้หลังเข้าร่วมโครงการ...อาทิ...นายณัฐภัทร เลาหระวี หรือ จั้ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพฯ หนึ่งในเจ้าของผลงาน Visionear อุปกรณ์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น สะท้อนว่า "ก่อนเข้าโครงการผมคิดว่าทำโปรเจคเพื่อตอบ Need ตัวเองเท่านั้น ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างการทำเพื่อตอบ Need ตัวเองและผู้อื่น การตอบ Need ตัวเอง เหมือนเราทำไปปุ๊บพอถึงจุดหนึ่งไม่มีคนที่มาใช้ของเราจริงๆ แล้วก็ทำไป แล้วได้อะไร โอเคแข่งเสร็จจบ โอเคชนะ ได้เงินกลับบ้านแยกย้ายกันเปลี่ยนโปรเจค แต่พอเรารู้ว่าโปรเจคเรามี Need คนอื่นรอเราอยู่เราต้องทำให้สำเร็จจริงๆ ให้ไปตอบ Need เขาให้ได้ เราให้ความหวังเขาแล้ว เราน่าจะทำให้ฝันเขาเป็นจริง มันก็เป็นแรงผลักดันให้เราทำงานให้สำเร็จและรู้สึกภาคภูมิใจครับ"

น.ส.ภูมินทร์ ประกอบแสง หรือน้องนุ้ย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน หนึ่งในเจ้าของผลงาน Easy Mushroom อุปกรณ์เพาะเห็ดสำหรับครัวเรือน ปลูกเอง ทานเอง สะท้อนความเห็นหลังเข้าร่วมโครงการว่า "ทำให้มีความมั่นใจและเห็นช่องทางการทำงานเมื่อก่อนคิดว่าจบไปก็ทำงานที่ตามบริษัท พอเข้าโครงการได้ความรู้ทำให้เปลี่ยนความคิดว่าอยากจะเป็นนายตัวเองบ้าง อยากจะทำชิ้นงานขาย ที่แปลกๆ ง่ายๆ ตอบสนองการใช้งานของคนใกล้ๆ ชุมชนเรา ให้ได้ช่วยเหลือสังคมนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ ประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการหนูได้เรื่องการวางแผนการทำงาน มีแนวคิดใหม่ๆ ที่เราคิดที่จะทำเครื่องนี้แต่พี่เขาให้คิดว่าทำเครื่องนี้แล้วตอบสนองคนอื่นไหม ต่อชุมชน สังคม หรือมีประโยชน์อย่างไรนอกเหนือจากเราไหม ถ้าเรานำเครื่องที่เราใช้ออกสู่ท้องตลาดได้ไหม พี่เขาสอนวิธีการที่จะนำสู่ท้องตลาด ได้เพิ่มแนวคิดในการออกแบบ การเขียนโปรแกรม ระบบใหม่ๆ ได้ครอสเรียนมากกว่าที่เราเรียนมา คือหนูเรียนอิเลคทรอนิคส์มา ได้ครอสเพิ่มเกี่ยวกับธุรกิจ การทำสินค้าออกสู่ท้องตลาด ได้รู้จักเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ได้รู้จักสังคม ได้ด้านความคิดสามารถบูรณาการสิ่งที่เราเรียนมาได้เยอะมากค่ะ"

สำหรับเยาวชนไอที 15 โครงการ ได้แก่ประเภท Electronic (เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวงจรไฟฟ้า) ได้แก่ผลงาน Visionear , D-Clean ประเภท Service Ubinurss (ระบบสนับสนุนการพยาบาลทุกแห่งหน) ได้แก่ผลงาน WIF BOX ประเภท Agriculture (เกษตรกรรม) ได้แก่ผลงาน Perfect KINOKO , เครื่องรดน้ำเห็ดอัตโนมัติ , ONAB ,Oil Natural Absorbent , i-BA ,Easy Mushroom ประเภท Game (เกมส์) ได้แก่ผลงาน Insanity Bearcraft ,Tempo Fight , ผจญภัยในโลกแห่งเสียง , King of Transport ,Sprint ประเภท Media education (สื่อและแหล่งการเรียนรู้) ได้แก่ผลงานจับดาวใส่กระด้ง , ศราเปาร้อยล้านและ Rainbow Plant

ผลงานเยาวชนไอทีปีที่ 3 นี้ได้เห็นพัฒนางานแบบก้าวกระโดด มองเห็นอนาคตในการต่อยอดเป็นนักธุรกิจหรือนักผลิตนวัตกรรมเพื่อสังคมรุ่นใหม่ นี่แหละแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ผู้ใหญ่ตั้งความหวังเอาไว้ .

ติดตามความเคลื่อนไหวโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 4 ได้ที่www.scbfoundation.com