นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับเกียรติจากทางสภาสถาปนิกภูมิภาคเอเชีย (Architects Regional Council Asia - ARCASIA) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย ครั้งที่ 36 และการจัดการประชุมสัมมนานานาชาติ ครั้งที่18 (The 36th ARCASIA Council Meeting & ARCASIA Forum 18) การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสถาปนิกระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพสถาปัตยกรรมของไทยให้เทียบเท่าระดับสากล โดยการประชุมดังกล่าว จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 พฤศจิกายน 2558 ณ จังหวัดอยุธยา ภายใต้หัวข้อ "Future of the Past" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมบทบาทสถาปนิกไทย รองรับการเปิดเสรีการค้าและบริการระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทยสู่ระดับสากล เพื่อสร้างเครือข่ายในการพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านวิชาชีพ เทคโนโลยีและการศึกษาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย และเป็นการสร้างโอกาสในการสร้างงานให้กับสถาปนิกทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมาประเทศไทยและท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 19 ประเทศสมาชิก ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทยเวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี จีน มาเก๊า เนปาล บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย ลาว และภูฎาน จำนวนกว่า 300 คน
"การเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชียฯในครั้งนี้ นอกจากเป็นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพสถาปัตยกรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียและระดับสากลแล้ว ยังเป็นเวทีที่สถาปนิกไทยจะได้แสดงศักยภาพ ที่พร้อมจะเปิดรับการเปิดตลาดAEC และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจในมรดกสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติอีกด้วย"
นายสมิตร โอบายะวาทย์ ประธานจัดงานการประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย ครั้งที่ 36 กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ มีความพิเศษคือ ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาสถาปนิกแห่งเอเซียเป็นครั้งแรกคือ นายสถิรัตร์ ตัณฑนันทน์ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพความสามารถสู่สายตา นานาประเทศ โดยการจัดการประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านวิชาชีพหลากหลายแง่มุม ผ่านการจัดกิจกรรมตลอดระยะเวลา 6 วัน อาทิ การสัมมนา ARCASIAProfessional Workshop, การสัมมนา ARCASIA Technical Workshop ฯลฯ ในส่วนของการประชุมสัมมนานานาชาติ อาทิ การสัมมนา ACSR Symposium ในหัวข้อ "Housing for the less Fortunate" งานสัมมนา ARCASIA Design Analysis ในหัวข้อRe-Articulating the Past" ฯลฯ
อนึ่ง การประชุมสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย หรือ ARCASIA Council Meeting จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2513 ที่ประเทศมาเลเซีย และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจัดร่วมกับการประชุมสัมมนานานาชาติ (ARCASIA Forum) และการจัดประชุมวิชาการ (ARCASIA Congress of Architect) สลับกันปีเว้นปี เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ด้านความรู้ ประสบการณ์ และหลักการคิด ในการสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรม ผ่านบุคคลผู้เชี่ยวชาญหลากหลายกลุ่มที่น่าสนใจสู่สาธารณะ โดยมีสถาปนิก นักออกแบบ นักวิชาการ นิสิต และผู้สนใจ ในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมกิจกรรม