นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ( GUNKUL) เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจของบริษัทในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่ายังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการในอุตสาหกรรมระบบไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งบริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความเติบโตด้านรายได้ปีนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยบริษัทมีงานในมือ(Backlog) ณ ปัจจุบันไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งต้องส่งมอบสินค้าและบริการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2558 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ของบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 173.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.49% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 103.82 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน มีกำไรสุทธิเท่ากับ 221.53 ล้านบาท ลดลง 86.91 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 308.44 ล้านบาท เนื่องจากรายได้รวมลดลง เพราะผลกระทบจากกรณีลูกค้าได้รับอนุมัติใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า (PPA)ล่าช้า และภาครัฐมีการเลื่อนการประกาศการตอบรับการซื้อไฟฟ้าประเภทต่างๆ ออกไปจากเดิม
โดยรายได้รวมงวด 6 เดือนเท่ากับ 1,193.70 ล้านบาท ลดลง 29.39% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 1,690.48 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างลดลง เพราะรัฐบาลเลื่อนการประกาศการตอบรับการซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 80.4% จากการจำหน่ายอุปกรณ์งานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์ม ระบบสายส่งให้กับภาครัฐวิสาหกิจที่เป็นสินค้าประเภทกลุ่ม Hardware รวมถึงรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30.93 เนื่องจากบริษัทได้รับสัญญาว่าจ้างให้ดูแลและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้จากบริษัทร่วมและลูกค้าภายนอกเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทที่ควบคุมร่วมกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.31 เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จนสามารถจำหน่ายไฟฟ้า เชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วครบทุกโครงการ ซึ่งยังส่งผลให้บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยที่บริษัทได้ถือสัดส่วนเท่ากับ 26.16 เมกะวัตต์ (โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวได้รับ Adder 8 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากวันเริ่มขายไฟเชิงพาณิชย์) ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 107.35 เนื่องจากบริษัทได้จัดหาแหล่งเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในบริษัทย่อย (บริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด) สำหรับดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 60 เมกะวัตต์
"พลังงานทดแทนยังคงเป็นพระเอกที่ทำให้ GUNKUL เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากรายได้จะไม่ผันผวนเหมือนงานรับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งยังมีมาร์จิ้นที่ดีกว่า ซึ่งเมื่อผนึกเข้ากับธุรกิจอื่นๆ ที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างแน่นอน"นายสมบูรณ์กล่าวในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit