นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นที่จดจำในฐานะศูนย์กลางธุรกิจแฟชั่นในภูมิภาคอาเซียนถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของผู้ประกอบการให้เป็นกลุ่มเครือข่ายย่านการค้าแฟชั่น เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่าน "กิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือ TFN (Thai Fashion Network) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ซึ่งใน ปี 2557 ที่ผ่านมานั้นประสบผลสัมฤทธิ์ในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพได้ 5 เครือข่าย คือ (1) ย่านการค้าผ้าไหมปักธงชัย จ.นครราชสีมา มีสมาชิกจำนวน 19 กิจการ (2) ย่านการค้าเสื้อผ้ามุสลิม มีนบุรี มีสมาชิกจำนวน 16 กิจการ (3) ย่านการค้าเทอมินัล21 มีสมาชิกจำนวน 15 กิจการ (4) ย่านการค้าตลาดนัดจตุจักร มีสมาชิกจำนวน 15 กิจการ (5) ย่านการค้าสำเพ็ง มีสมาชิกจำนวน 16 กิจการ และในงบประมาณปี 2558 กสอ. ได้ดำเนินการสานต่อการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายย่านการค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยการเพิ่มอีกหนึ่งกิจกรรม คือ กิจกรรมสร้างเครือข่ายและจัดทำฐานข้อมูลย่านแฟชั่น (Networking and Source Book for the Fashion District) พร้อมทั้งเพิ่มอีก 1 เครือข่าย คือ ย่านการค้าสยามสแควร์ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 15 กิจการ และโดยรวมมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 96 กิจการ
ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการนั้นมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินงานร่วมกัน โดยนำศักยภาพของแต่ละกิจการออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดตลอดจนเสริมสร้างให้มีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานร่วมกัน ก่อให้เกิดการมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะการผลิตและการขยายกิจการอันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการ ซึ่งถือว่าเป็นกลไกอันสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศอย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการย่านการค้าสยามสแควร์จะประสบปัญหาความไม่สงบต่างๆ ตลอดจน อุทกภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการแต่เชื่อมั่นว่าการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการจะช่วยเสริมศักยภาพการผลิตและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อความแปลกใหม่ให้กับแฟชั่นไทย พร้อมดึงความเชื่อมั่นแก่นักช้อปปิ้งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นการเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในย่านสยามสแควร์ให้กลับมาคึกคักดังเดิมได้ในสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวหลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง ประกอบกับการส่งออกสินค้าโดยรวมยังคงซบเซาจากความต้องการสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยด้วยแต่อย่างไรก็ดี กสอ. ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาการรวมกลุ่มของย่านการค้าภายใต้กิจกรรมและโครงการข้างต้นจะเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นได้และคาดว่าในปีงบประมาณ 2559จะเดินหน้าการพัฒนาศักยภาพย่านการค้าอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นประมาณ 1 – 2 ย่านการค้านายประสงค์ กล่าวสรุป
ด้าน นายโมลี มณีโชติ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการแฟชั่นย่านสยามสแควร์และผู้ประกอบการแบรนด์รองเท้า มณีศิลป์ (Maneesilp) กล่าวว่า เครือข่ายสยามสแควร์เป็นย่านการค้าน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมกิจกรรม ในปี 2558 โดยเน้นกลุ่มธุรกิจแฟชั่นที่เป็น SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการเสื้อผ้า เครื่องประดับ และเครื่องหนังแบรนด์ไทย ที่มีสไตล์โดดเด่น และมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด "SiamZeeed" คือ เมล็ดพันธ์แห่งแฟชั่น ที่ซึ่งรวบรวม ตำนาน ประสบการณ์ และความสดใหม่ ของแวดวงสินค้าแฟชั่น โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 15 ราย ได้แก่ มณีศิลป์(Maneesilp) ดีเอ็นเอ (DNA) ร้านพี่เบ๊นซ์ ลาดูซ (Ladouce) เชอวาล (Cheval) เพรเยอร์ เท็กซ์ไทล์แกลอรี่ (Prayer Textile Gallery ไทนี่ (Tiny) บานเสื่อ ชูส์ (Bansuer Shoes) อันเดรส (Undress) ฟอร์เอเวอร์ (Forever) ชูชู (Shoo Shoo) ก๊าซโซลีน (Gasoline) ฟลู (FLU) ชูเบอร์รี่ (Shuberry) อีสชู่ (ISSUE) ซึ่งเหตุที่รวมกลุ่มกันได้ เนื่องจากนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ( กสอ.) ที่ต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มของย่านการค้าแฟชั่น โดยตลอดระยะเวลา 5-6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการทำคอลเลคชั่นร่วมกัน เพื่อจัดแสดงในงาน Thailand Industry Expo 2015 อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มครั้งนี้ช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ เทคนิคการผลิต การใช้วัตถุดิบร่วมกัน ซึ่งจะสามารถนำมาพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก และทางกลุ่มได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ รวมถึงการร่วมงานแสดงสินค้าและจำหน่ายสินค้า การดำเนินธุรกิจแฟชั่น ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม – 4 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ทำไห้เกิดการได้ไปเปิดตลาดเพื่อจับคู่ธุรกิจที่เซี่ยงไฮ้ ได้รู้ว่าขั้นตอนในการที่จะนำ แบรนด์และสินค้าเข้าไปสู่ตลาดที่เซี่ยงไฮ้ต้องทำและมีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งสมาชิกกลุ่มก็กำลังดำเนินการอยู่คาดว่าภายในปีหน้า 2016 จะสามารถนำแบรนด์และสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดเซี่ยงไฮ้ได้ ทั้งนี้ก็หวังว่าจากการรวมกลุ่มในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการตื่นตัวของผู้ประกอบการให้มาเข้าร่วมกลุ่มกันมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้สยามสแควร์ กลับมาเป็นย่านการค้าที่คึกคักและเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นต่อไป
ด้าน นายบุญส่งศรีสว่างเนตรผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าศูนย์การค้าสยามสแควร์เป็นศูนย์การค้าแนวราบ (Low Rise) และเปิดโล่งขนาดใหญ่ (Open to Air) ตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง บนพื้นที่ 63 ไร่ ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ 463 คูหา มีร้านค้าและการบริการที่หลากหลายสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ครบถ้วน ซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นร้านค้าสินค้าแฟชั่น โดยในวันธรรมดามีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 70,698 คน และ 95,412 คน ในช่วงวันหยุด ทั้งนี้ สำหรับการเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่นย่านสยามสแควร์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการสยามสแควร์ เพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ในการผลักดันธุรกิจให้ขยายการเติบโตและให้เครือข่ายเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีว่าช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่จะมีการพัฒนาธุรกิจเครือข่ายและธุรกิจแฟชั่นในสยามสแควร์เพื่อกระตุ้นและเรียกความมั่นใจและความคึกคักของผู้ใช้บริการกลับคืนมายังย่านการค้าสยามสแควร์ให้กลับมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พระรามที่ 6 กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0 2202 4581, 4538 และสามารถติดตามข่าวสารโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr