โครงการพัฒนา AIV Robots เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนทุนวิจัยแก่ทีมนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยอาจารย์และนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการข้อมูลหรือ DSTAR ของสจล. เพื่อผลิตรถ AIV Robots ขึ้นเป็นพิเศษ โดยหุ่นยนต์ต้นแบบนี้มีการใช้ระบบผสมผสานตัวตรวจจับแบบอาร์เอฟไอดีและตัวตรวจจับทั่วไปได้แก่ เครื่องวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์ (laser range finder), อัลตร้าโซนิค (ultra sonic), IR, ไจโร (Gyro) และเข็มทิศ (Compass) เพื่อให้เกิดการบอกตำแหน่งที่รวดเร็วและแม่นยำ การควบคุมจะเป็นระบบกระจายศูนย์ (decentralized system) ซึ่งจะทำงานได้รวดเร็วและมีระบบรวมศูนย์ (centralized system) ซึ่งใช้วางแผนการทำงานทั้งหมดของหุ่นยนต์
นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ความสำเร็จของโครงการพัฒนา AIV Robots นี้คือการนำความโดดเด่นของทั้งซีเกทและสจล. มาผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่ง ความโดดเด่นของสจล. ก็คือความพร้อมด้านบุคลากรทางด้านการวิจัยและองค์ความรู้ในระดับชั้นนำของประเทศ ผสานกับความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่หยุดยั้งของซีเกท ประเทศไทย เพราะเราเองก็ได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยแก่สถาบันการศึกษาชั้นนำภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของไทยต่อไปในอนาคต"
รองศาตราจารย์ ดร. สมยศ เกียรติวนิชวิไล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบ AIV จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และนายสัญชัย ทองจันทรา ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งร่วมกันวิจัยและพัฒนาโครงการนี้ให้ข้อมูลว่า "ทั้งสจล.และซีเกทได้ร่วมมือกันดำเนินงานวิจัยอย่างบูรณาการจนได้ผลงานต้นแบบระดับภาคสนาม ที่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย SOP39 (Seagate's Standard Operating Procedures 39) ในเบื้องต้น โครงสร้างของต้นแบบหุ่นยนต์ซึ่งทำจากโลหะและสแตนเลสนั้นสอดคล้องกับความต้องการในการใช้งานของห้องคลีนรูม class 100 ซึ่งเป็นห้องที่มีอนุภาคขนาด 0.5 ไมครอนหรือใหญ่กว่าไม่เกิน 100 อนุภาคต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์ฟุต นอกจากนี้ ชุดขับเคลื่อนและความแม่นยำในการเคลื่อนที่ได้ถูกออกแบบให้รองรับงาน ขนถ่ายอุปกรณ์และวัสดุของบริษัทฯ ซึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ครบถ้วน"
"จากผลงานวิจัยต้นแบบเบื้องต้นนี้ทำให้ทางซีเกทสามารถวางแผนกระบวนการผลิต ซึ่งหุ่นยนต์ AIV นี้จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลทางการผลิตให้กับเราได้ โดยจะร่วมกับสจล. ดำเนินงานวิจัยต้นแบบในระดับอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ซีเกทยังได้วางแผนงานวิจัยร่วมกับทางสจล. อีกหลายโครงการ อาทิเช่น ระบบอัดประจุไฟฟ้าไร้สาย เพื่อให้หุ่นยนต์ใช้การอัดประจุขณะทำงานซึ่งช่วยลดปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ (Logistics) และโครงการหุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน (Cooperative AIVs) เป็นต้น จากผลงานของโครงการที่ต้นแบบอัตโนมัติทำงานที่ตรงตามเป้าหมายจึงคาดว่าจะสามารถทดสอบระบบได้เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม ศกนี้" รองศาตราจารย์ ดร. สมยศและนายสัญชัยกล่าวเสริม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit