เครือข่ายคนพิการ ผนึกกำลัง เครือข่ายผู้สูงอายุ นัดถกใหญ่ “ทิศทางการขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนเพื่อทุกคน” 17 ก.ย. 2558 นี้ ระบุ มีรถไฟฟ้าเกิดใหม่หลายสาย หวั่นมีการเลือก

17 Sep 2015
ปฏิบัติจนซ้ำรอยขนส่งระบบรางในปัจจุบัน ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี แต่คนพิการก็ยังใช้รถไฟฟ้าไม่ได้

นายธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 17กันยายน 2558 ตั้งแต่เวลา 13.00 - 16.00 น. ทางเครือข่ายฯ ร่วมกับ สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย จะมีการจัดสัมมนาโต๊ะกลม เรื่อง "ทิศทางการขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนเพื่อทุกคน" ณ สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยซอยรามคำแหง 50 โดยจะเป็นการประชุมครั้งใหญ่ของกลุ่มคนพิการและเครือข่ายผู้สูงอายุ ว่าด้วยเรื่องระบบขนส่งมวลชน ซึ่งแม้กฎหมายและนโยบายรัฐบาลจะกล่าวชัดเจนถึงความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ในภาคปฏิบัติยังมีอุปสรรคอยู่อีกมาก

"สิ่งที่ปรากฏในกฎหมายกับสิ่งที่ปฏิบัติจริงไม่สอดคล้องกัน ทำให้คนพิการและผู้สูงอายุไม่สามารถใช้ ประโยชน์ได้จริง ทำให้เราต้องมาระดมสมองกัน เพื่อ 1.ทราบรวมขนส่งมวลชนระบบรางในกทม.และปริมณฑลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนการเข้าถึง ของคนพิการและผู้สูงอายุ 2. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการการส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ระบบขนส่งมวลชนได้อย่างเท่าเทียม สะดวกและปลอดภัย" ประธานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ กล่าว

นายธีรยุทธ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะการเข้าถึงบริการสาธารณะของคนพิการ เป็นเหมือนหลักประกันให้คนธรรมดาทั่วไปว่า หากคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนทุกชนิดได้อย่างปลอดภัย คนปกติธรรมดาก็จะได้รับความสะดวกสบายด้วย

"ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะคนพิการยังไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้ ขณะที่คนปกติธรรมดาทั่วไปก็มีข่าวอุบัติเหตุตกรถเมล์จนเสียชีวิตหลายครั้ง นี่คือความจริงที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ และเป็นที่มาของการรณรงค์ให้รัฐบาลจัดซื้อรถเมล์ชานต่ำที่ทุกคนสามารถขึ้นได้มาอย่างต่อเนื่อง" นายธีรยุทธ กล่าว

ประธานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ กล่าวต่อว่า ในเรื่องขนส่งระบบรางก็เช่นกัน จนถึงวันนี้แม้ประเทศไทยมาเกือบ 20 ปี แต่คนพิการก็ไม่สามารถใช้รถไฟฟ้าได้ เพราะมีลิฟต์ไม่ครบทุกสถานี ทำให้ขึ้นไปแล้วแต่ไม่สามารถลงได้ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ศาลปกครอง มีคำสั่งให้ผู้บริหาร BTS และ กทม.สร้างลิฟต์ทุกสถานี โดยใช้เวลา 1 ปี นับจากที่ศาลมีคำสั่ง ซึ่งเหลือเวลาประมาณ4 เดือนเท่านั้น แต่ปรากฎว่าก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าของการก่อสร้าง จนไม่แน่ใจว่าเราจะได้มีโอกาสใช้รถไฟฟ้าบ้างหรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่มีลิฟต์ไม่กี่สถานี

"นี่คือปัญหาที่คนพิการและผู้สูงอายุ ต้องเผชิญอยู่ตลอด ที่แย่ไปมากกว่านั้น ตอนนี้กำลังมีการสร้างรถไฟฟ้าจำนวนมากรอบกรุงเทพฯ โดย ซึ่งบางสายจะเปิดบริการในเร็วๆนี้ แต่จากที่เราได้สำรวจก็พบว่าเจอปัญหาเดิม คือไม่มีลิฟต์ โดยอ้างว่าก่อนการสร้างได้สำรวจแล้วพบว่าพื้นที่ต่างๆไม่มีคนพิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เพราะเหตุที่เขาไม่เห็นคนพิการ เพราะคนพิการไม่สามารถออกไปไหนได้ เพราะจะมีรายจ่ายสูงมาก เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้"

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระบุว่า การแก้ปัญหาจะมีการใช้ Platform Lift หรือ ลิฟต์ยกวีลแชร์คนพิการขนานไปกับบันไดเลื่อน ซึ่งเราไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นลิฟต์ที่มีอันตราย สร้างมาแล้วก็คงไม่มีใครกล้าใช้ อีกทั้งต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ตลอดเวลาด้วย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะควรจะสร้างลิฟต์แบบปกติมากกว่า ทั้งหมดนี้ต้องมีการประชุมระดมสมองกันว่าเราจะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะระบบขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่เพื่อคนพิการเท่านั้น แต่รวมถึงคนแก่ คนป่วย เด็ก ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกคน