พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเยาวชนและวัยรุ่นที่ขับขี่รถจักรยานยนต์แข่งขันกันบนถนนสาธารณะ ยังเป็นปัญหาสังคมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งในส่วนหน่วยงานที่ควบคุมดูแลเป็นเพียงดำเนินการปลายทาง คือ การจับปรับ และลงโทษ แต่หลังจากนั้นเด็กเยาวชนเหล่านี้จะรวมกลุ่มกลับมาทำพฤติกรรมเดิมอีก และมีสมาชิกมารวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น จนเป็นที่วิตกว่าสถานการณ์เหล่านี้จะรุนแรงจนยากจะควบคุมได้ และจากปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสหลงผิดไปในเรื่องอื่นๆ เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม ฯลฯ ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นหน่วยแรกของการช่วยปกป้อง ดูแลเด็กและเยาวชน ส่วนหน่วยงานต่างๆ ทางสังคมต้องมีส่วนมาเติมเต็มในสิ่งที่เด็ก และเยาวชนต้องการทั้งในเรื่องของการมีพื้นที่ให้เด็ก และเยาวชนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ การให้โอกาสต่อการดำเนินชีวิตในสังคม เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีความภาคภูมิใจในการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพตามวิถีทางตนเองเลือกในอนาคต
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมีนโยบายที่เน้นมาตรการเชิงป้องกัน และส่งเสริมความประพฤติเด็ก เยาวชน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว เพื่อให้การเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างทุนทางสังคมให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.) ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชน ที่รวมกลุ่มขับขี่รถจักรยานยนต์แข่งขันกันบนถนนสาธารณะ จึงได้จัดงาน "เยาวชน คิดดี ทำดี สู่จิตอาสา" เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่สร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงาน และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานด้านเด็กและเยาวชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น ๑๓๐ คน ประกอบด้วย เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เป็นเครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก และเยาวชน สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงความสามารถจากกลุ่มเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ เช่น Talk Show "ปลุกพลัง สร้างจิตอาสา" เป็นต้น การจัดนิทรรศการผลงานเยาวชนจิตอาสา การแสดงดนตรีจากเยาวชนสร้างสรรค์สังคม และการเสวนาวิชาการ หัวข้อ "เยาวชน คิดดีได้ ทำดีได้" จากผู้ที่เคยเป็นกลุ่มเสี่ยง และคนทำงานจิตอาสาที่มีแนวคิดการทำงานเปลี่ยนจาก เด็กกลุ่มเสี่ยง เป็นเด็กกลุ่มสร้างสรรค์
"การจัดงานครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้เห็นในคุณค่าตนเอง และการใช้ชีวิตเป็นพลเมืองที่ดี มีจิตสำนึกรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ สามารถแสดงออกอย่างเหมาะสมกับวัย เป็นที่ยอมรับต่อกลุ่มเพื่อน ครอบครัว และสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการให้โอกาสแก่เด็ก และเยาวชนได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ สามารถจุดประกายการพัฒนาตนเอง และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตัวเอง สามารถเป็นบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อ สังคม และประเทศชาติต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit