เด็กสารสาสน์เอกตราสุดเจ๋ง โชว์ไอเดียประดิษฐ์ “โดรน” นวัตกรรมต่อยอดเพื่อช่วยเหลืออุทกภัยน้ำท่วม

30 Sep 2015
นักเรียนสารสาสน์เอกตราร่วมกันเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์โดรนและแพขวดน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วม ในงาน "สัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2558" ของโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ภายใต้คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ประจำปี 2558 "จุดประกายความคิด พัฒนาชิวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม"
เด็กสารสาสน์เอกตราสุดเจ๋ง โชว์ไอเดียประดิษฐ์ “โดรน” นวัตกรรมต่อยอดเพื่อช่วยเหลืออุทกภัยน้ำท่วม

รายงานข่าวจากโรงเรียนสารสาสน์เอกตราเปิดเผยว่า จากการจัดกิจกรรม "สัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2558" ภายใต้คอนเซ็ปต์ประจำปี 2558 "จุดประกายความคิด พัฒนาชิวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" ทำให้เด็กนักเรียนได้มีการพัฒนาศักยภาพและสามารถพัฒนาผลงานของตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยโครงงานการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ในปีนี้ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ โครงงานนวัตกรรมการช่วยเหลือและการป้องกันน้ำท่วม ของนักเรียนชั้น 8C ซึ่งได้โชว์ไอเดียประดิษฐ์โดรน และแพขวดน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งได้รับรางวัลไปทั้งหมด 3 รางวัลด้วยกัน คือรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยม และรางวัลโครงงานยอดเยี่ยม

เด็กหญิง มิน ซอ หัวหน้าโครงงานสิ่งประดิษฐ์โดรน และแพขวดน้ำ กล่าวว่า ไอเดียของโครงงานนี้เกิดขึ้นมาจากแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยได้เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมบ่อยครั้ง และทุกๆ ครั้ง ก็ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อประเทศชาติ ต่อบ้านเมือง และเศรษฐกิจ จึงเกิดเป็นโครงงานนวัตกรรมการช่วยเหลือและการป้องกันน้ำท่วมขึ้นมา หลายๆ ที่ที่เกิดภัยน้ำท่วมและเข้าถึงยากไปจนถึงถิ่นทุรกันดาร การช่วยเหลือเป็นไปได้ยากลำบาก จึงคิดว่าควรพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ หรืออุปกรณ์ที่สามารถส่งความช่วยเหลือได้ง่ายและสะดวกขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีหรืออะไรก็ตามที่สามารถส่งหรือควบคุมได้ ซึ่งได้ไอเดียจาก "โดรน" หรือ อากาศยานไร้คนขับ ซึ่งเมื่อก่อนถูกนำมาใช้ในทางการทหาร ในการทำหน้าที่สอดแนมและภารกิจโจมตีต่าง ๆ จนมาถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีของโดรนได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ และถูกนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้โดรนถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอจากมุมสูง ใช้ในการเกษตร ตรวจสภาพจราจรและภูมิอากาศ

สำหรับในปัจจุบันนั้น โดรนที่นิยมใช้กันในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น มัลติโรเตอร์ หรือ มัลติคอปเตอร์ ที่เรียกอย่างนี้เพราะเป็นโดรนแบบใบพัด แต่ละใบพัดก็มีมอเตอร์ของตัวเอง รูปร่างก็จะคล้าย ๆเฮลิคอปเตอร์แต่จะอาศัยใบพัดเยอะกว่า ที่นิยมกันก็จะเป็นแบบ 4 ใบพัด และ 6 ใบพัด ซึ่งมัลติคอปเตอร์นั้นก็มีข้อดีตรงสามารถขึ้น – ลง ในแนวตั้งได้ ซึ่งตัวมัลติโรเตอร์ตัวนี้เป็นตัวที่คนนำไปดัดแปลงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้งานตามที่ตัวเองต้องการ ซึ่งโดรนตัวนี้พวกเราก็ซื้อมาประกอบเองเช่นกัน โดยหาจากวัสดุง่าย ๆ ตามท้องตลาด ใบพัด มอเตอร์ เครื่องบังคับ จนไปถึงกล้องที่ติดกับตัวโดรน ในการประกอบโดรนมีข้อผิดพลาดอยู่หลายครั้ง เช่น มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปพันกับมอเตอร์ทำให้ใบพัดไม่ทำงาน จึงต้องถอดเปลี่ยนอุปกรณ์เรื่อย ๆ หาอุปกรณ์อื่น ๆ มาทดแทน และใช้ระยะเวลานานพอสมควรที่จะต้องฝึกบังคับบินโดรน นอกจากตัวโดรนแล้ว เรายังได้ประดิษฐ์แพขวดน้ำ สำหรับใช้เคลื่อนย้ายถุงยังชีพ ซึ่งจะติดอุปกรณ์นำทางจีพีเอสและมอเตอร์ไว้ที่แพขวดน้ำ เพื่อนำทางไปสู่พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเด็ก ๆ หวังว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดโครงการนี้และสามารถช่วยเหลือ บรรเทาปัญหาได้ ซึ่งเด็ก ๆ มองว่า หากทำได้จริงจะสามารถลดทรัพยากรมนุษย์ ที่จะต้องเข้าไปเสี่ยงภัยเวลาหรือลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อีกมากมาย

ด้านอาจารย์พิสุทธิ์ ยงค์กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา กล่าวว่า ผลการจัดงานในปีนี้ ค่อนข้างพอใจกับโครงงานของนักเรียน เพราะเด็กได้มีส่วนร่วมทุกคน และการจัดกิจกรรมเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ในการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปต่อยอดในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศไทย ซึ่งในอนาคตนักเรียนจะต้องเติบโตเป็นพลเมืองของประเทศ จึงควรจะต้องตั้งใจศึกษา ค้นหาความรู้นำไปสู่การพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการสร้างความรู้ สร้างปัญญา และสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศต่อไป และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การมีความรู้ควบคู่คุณธรรม ดังปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า "คุณธรรม นำวิชา ภูมิปัญญา พาพัฒนา"