TTA เริ่มต้นจากกลุ่มธุรกิจขนส่ง ด้วยการให้บริการเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองในปี 2528 ก่อนจะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 10 ปีถัดมา และจากจุดเริ่มต้นในวันนั้น TTA ได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องไปในธุรกิจที่หลากหลาย จนถึงวันนี้ธุรกิจของ TTA ในประเทศไทย ครอบคลุมธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง (dry bulk shipping) ธุรกิจตัวแทนเรือ (ship agency) ธุรกิจนายหน้าเช่าเหมาเรือ (ship brokerage) ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน และธุรกิจให้บริการวิศกรรมใต้ทะเลและบริการเรือขุดเจาะแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ขณะเดียวกัน TTA ยังได้ขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ ประกอบด้วย ในประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผ่าน บริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง (สิงคโปร์) ธุรกิจพลังงานผ่านบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มผ่าน บริษัท ไซโน แกรนด์เนส ฟู้ด อินดัสตรี กรุ๊ป โดยทั้งเมอร์เมด มาริไทม์ และไซโน แกรนด์เนส ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ด้วย
นอกจากนี้ TTA ยังได้เข้าไปลงทุนธุรกิจเรือบรรทุกน้ำมัน และธุรกิจเหมืองถ่านหิน (บริษัท เมอร์ตัน กรุ๊ป ไซปรัส) ในประเทศฟิลิปปินส์ ธุรกิจสำรวจใต้ทะเลในอินโดนีเซีย และธุรกิจปุ๋ยและโลจิสติกส์ (บริษัท บาคองโค จำกัด) ในเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่การพลิกธุรกิจที่มีอยู่ให้มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่นนั้น เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในช่วงปลายปี 2554 หลังจาก "เฉลิมชัย มหากิจศิริ" เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA จากรากฐานที่มั่นคงสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
การก้าวเข้ามาบริหาร TTA ของ "เฉลิมชัย มหากิจศิริ" ตั้งแต่ปลายปี 2554 มีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นกิจการให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง หลังจากที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรม
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ TTA มีการปรับโครงสร้างที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำธุรกิจ รวมทั้งการหันกลับไปให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าผู้ถือหุ้น จนทำให้งบการเงินปี 2557 (1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม 2557) บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 22,341 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14% และมีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 37% มาอยู่ที่ 3,545 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ 979 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 933% เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 117 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่สูงขึ้นจากโทรีเซน ชิปปิ้ง เมอร์เมด มาริไทม์ และบาคองโค โดยทั้งหมดมีผลประกอบการรวมที่ดีขึ้น และส่วนใหญ่ยังสามารถสร้างกำไรสูงสุดได้ในรอบหลายปี
ขณะที่ไตรมาสที่ 2/2558 (ระหว่าง 1 เมษายนถึง 30 มิถุนายน 2558) ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 5,998.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวของปีก่อน 13% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ผ่านมาคิดเป็น 31% โดยมีกำไรขั้นต้นลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย 6% แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึง 449% มาอยู่ที่ 1,226.3 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 20%
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 135.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147% พลิกจากที่เคยขาดทุน 288.3 ล้านบาท เมื่อไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลง 47% จากผลกำไรสุทธิที่ 254.6 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
"เมื่อธุรกิจในพอร์ตการลงทุนของเราพลิกกลับมามีกำไร และสร้างผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เราจึงถือโอกาสปรับวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าหมายของเราใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคตของ TTA โดยเราพยายามแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีการเติบโตสูงและสร้างผลกำไรที่ดี เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับ TTA" เฉลิมชัยกล่าวโอกาสและศักยภาพที่ 'มากกว่า' ในเวทีอาเซียน
"เฉลิมชัย" กล่าวถึงความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ว่า ที่ผ่านมา TTA ขยายการลงทุนในหลายประเทศของอาเซียน ดังนั้น ความพร้อมของ TTA ณ จุดนี้ จึงอยู่ที่การสร้างโอกาสและศักยภาพการเติบโตที่ "มากกว่า"
"การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น TTA เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจชิปปิ้ง เพราะเราเชื่อว่า การค้าขายระหว่างประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น เราจึงหันมาโฟกัสการขยายธุรกิจชิปปิ้งบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ โดยวางตำแหน่งให้สิงคโปร์เป็น Hub สำหรับการหาลูกค้าและการตลาด และตั้งเป้าจะมองหาบุคลากรในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกภายในสิ้นปี 2558 ในขณะที่ประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็น Hub สำหรับการบริหารจัดการกองเรือโทรีเซน ชิปปิ้งทั้งหมด เรามั่นใจว่า ด้วยยุทธวิธีการสร้าง Hub ด้านการตลาดและด้านปฎิบัติการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองเรือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและรองรับความต้องการใช้บริการขนส่งทางเรือของลูกค้าในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในอาเซียน และในพื้นที่ยุทธศาสตร์การค้าแห่งอื่นๆ ได้ทั่วโลก"
"เฉลิมชัย" บอกว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ TTA ปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมามุ่งเน้นการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะ AEC มากขึ้น มาจากการที่กลุ่มประเทศ AEC มีประชากรวัยแรงงานเป็นจำนวนมาก และมีอัตราการเติบโตของชนชั้นกลางมากขึ้น รวมถึงมีแหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแหล่งพลังงาน เพราะหลายประเทศเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ และกำลังอยู่ในระยะของการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะมาพร้อมกับการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้ทัดเทียมและแข่งขันได้ ยกตัวอย่างเช่น แหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์และการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ทำให้พม่าต้องใช้พลังงานมากขึ้น จึงมีโอกาสทางธุรกิจด้านพลังงานที่เปิดกว้าง ทั้งในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ ที่เกี่ยวข้องกับการการสำรวจและผลิต ตลอดจนธุรกิจกลางน้ำ เช่น ระบบสายส่ง การวางท่อ รวมถึงก่อสร้างและโลจิสติกและธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวกับโรงกลั่นและการขายปลีกน้ำมัน เช่นเดียวกับประเทศลาว ที่นับเป็นความท้าทายใหม่ของ TTA ในการเข้าไปลงทุน
นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตสูงมาก มีประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศเกิดใหม่หลายๆ แห่ง เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี หรือมาเลเซีย ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้มีระดับรายได้สูงขึ้นและมีอัตราการเติบโตของชนชั้นกลางมากขึ้น
"เอเชียและ AEC เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพมาก และ TTA ก็เชื่อมั่นว่า ด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่เราคุ้นเคยกับภูมิภาคนี้ จะทำให้เรามีโอกาสที่ "มากกว่า" อย่างไรก็ตาม การขยายการลงทุนของ TTA จะเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดย TTA จะรอโครงการที่เหมาะสม"
"เฉลิมชัย" ปิดท้ายด้วยว่า ธุรกิจที่อยู่ใน "โฟกัส" ของ TTA นั้น ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น คมนาคม โทรคมนาคม ธุรกิจพลังงานทางเลือก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อฐานะทางการเงินพร้อม ธุรกิจเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนพร้อม เฉกเช่นเดียวกับหมากบนกระดานพร้อม และผู้เล่นพร้อม ดังนั้น โอกาสที่ "มากกว่า" ของ TTA ในขณะนี้ จึงเหลือเพียงรอโครงการที่เหมาะสม เพื่อที่จะ "รุก" เท่านั้น