กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ตามแนวทางการดำเนินงาน 3 ระยะ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเร่งวางมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมทำเงิน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 2.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 3.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 4.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และ 5.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นแท่นเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมโลก
นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2558 เปิดเผยว่า จากภาพรวมแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทใหม่ ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคตทั้งนี้ หากเจาะลึกจะพบว่ารายได้ส่วนใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมเกิดจากการผลิตเพื่อส่งออก โดยสินค้าที่เป็นสินค้าหลักจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับกลางและระดับสูงในการผลิต รวมทั้งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักร เทคโนโลยี และเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า ร้อยละ 95 ของจำนวนผู้ประกอบการทั่วทั้งประเทศ ต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคต่างๆดังนั้น เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดำเนินการดังนี้
ในระยะที่ 1 เน้นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฐานการผลิตและบริการในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก จากนั้นในระยะที่ 2 จากเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและบริการในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยระยะแรกในช่วง 5 ปีจะมีการพัฒนาต่อยอดโดยเน้นการเป็นฐานการผลิตและบริการในระดับภูมิภาค ซึ่งมีตราสินค้าที่มีเครือข่ายการจัดการกระจายสินค้าในภูมิภาคอย่างทั่วถึง โดยมีการสร้างฐานงานวิจัยและพัฒนาสินค้าในอาเซียน ซึ่งมีการสร้างและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์หลักของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของสากล และในระยะที่ 3พัฒนาสู่การเป็นผู้บริหารจัดการตราสินค้า โดยมีการสร้างเครือข่ายการผลิตและบริการร่วมกับภูมิภาคต่างๆของโลก ซึ่งจะส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการของประเทศไทยให้เริ่มก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำของโลกผ่านการสร้างตราสินค้าของไทยให้เป็นที่รู้จัก และมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้ากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นางประสงค์ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ตามแผนแม่บทของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดกลยุทธ์ผลักดันการพัฒนา 5 กลุ่มอุตสาหกรรมทำเงินให้มีศักยภาพเทียบเท่าผู้นำในตลาดโลก ได้แก่
1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าส่งออกในปี 2557มากกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านของวัตถุดิบและบุคลากรค่อนข้างมาก แนวทางการพัฒนาจึงต้องมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตในอาเซียนและขยายช่องทางการตลาดให้เข้าถึงประเทศต่างๆเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสร้างและประชาสัมพันธ์ตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานการผลิตและเน้นการสร้างฐานการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการยกระดับของอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง
2.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 มียอดส่งออกถึง 1.26 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.36% โดยไทยมีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตตามเจ้าของตราสินค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน จึงต้องสร้างแรงงานและโครงสร้างสนับสนุนให้มีความพร้อม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และขยายไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และผลักดันให้เกิดการใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศมากกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ
3.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสร้างมูลค่าได้มากกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในปัจจุบันไทยเป็นผู้รับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาจึงต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นและสร้างความร่วมมือในการขยายเครือข่ายการผลิตไปยังผู้ประกอบการในภูมิภาค เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต จากนั้นต้องส่งเสริมการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่การออกแบบและการดำเนินการทางตลาดเพื่อสร้างตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
4.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท ในปี 2557 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกยางเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่เป็นการส่งออกในรูปของน้ำยางซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางแปรรูป เพื่อนำไปสู่การสร้างตราสินค้าของไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มบทบาทและความสำคัญในอุตสาหกรรมยางในระดับโลกมากขึ้น ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและกำหนดทิศทางราคายาง ตลอดจนการควบคุมกลไกการผลิตยางในอนาคตได้
5.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าส่งออกในปี 2557 กว่า 2 ล้านล้านบาท โดยแนวทางการพัฒนาในระยะสั้นนั้นต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสนับสนุนให้มีความเหมาะสมต่อการประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะด้านแรงงานและกฎระเบียบและก้าวถัดมานั้นต้องมุ่งเน้นสู่การพัฒนาแหล่งวิจัยเทคโนโลยีการออกแบบสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งขยายการตลาดไปในภูมิภาค และมุ่งสู่การสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการคัดเลือกสถานประกอบการทั่วประเทศไทย เพื่อมอบรางวัลอุตสาหกรรมประจำปี 2558 ให้กับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การผลักดันสถานประกอบการให้พัฒนาได้สอดคล้องตามแผนแม่บทข้างต้น โดยในปีนี้ "บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง" ในเครือกลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมซึ่งมอบให้กับสถานประกอบการที่มีการบริหารงานโดดเด่นมากที่สุด ขณะที่ "บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด" ผู้ผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์ทำแม่พิมพ์ ซึ่งวางเป้าหมายได้รับการยอมรับจากลูกค้าทุกค่ายรถยนต์ทั่วโลก ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยทั้งสองสถานประกอบการเหมาะแก่การเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสถานประกอบการรายอื่น ในการมุ่งมั่นพัฒนาระบบการดำเนินงานผ่านตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในภาพรวมจะสามารถช่วยยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย มุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้าน นายคนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มโรงงาน กลุ่มมิตรผลกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานที่สูงมาก ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆของโลก โดยกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ของโลกและเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอลอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากสภาพปัจจัยของประเทศไทยที่มีวัตถุดิบ พืชพลังงานที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง หรือ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชพลังงานที่สามารถปลูกได้เองบนผืนแผ่นดินและไม่มีวันหมด ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลได้ตระหนักและมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อย โดยการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการ มาพัฒนาธุรกิจและการดำเนินงานตามหลักมาตรฐานสากล ภายใต้นวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถและการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลและชีวพลังงานไทยในระดับสากล
ขณะที่ นายนำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ซีเอ็นซี ดีเท็คซ์ จำกัด มีแนวทางในการยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า โดยเริ่มด้วยสิ่งสำคัญอันดับแรกคือเสริมสร้างทัศนคติที่ดีในระดับผู้บริหารและพนักงาน เพราะในการบริหารจัดการที่ดีผู้บริหารและพนักงาน จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน โดยการนำใช้แผนธุรกิจในการบริหารงานตัวเดียวกันจึงจะนำมาสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการ สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ที่ทางบริษัทได้รับ ถือเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคน รู้สึกว่าเริ่มเป็นนักบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ ในการพัฒนาการบริหารจัดการและยกระดับที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สำหรับการจะพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ธุรกิจไทยให้มีความเข้มแข็งนั้น สิ่งสำคัญจะต้องไม่แข่งขันกับธุรกิจไทยด้วยกันต้องยกระดับแข่งขันกับชาวต่างชาติ ในเรื่อง ของ คุณภาพ ราคา เรื่องการส่งมอบที่ตรงเวลา สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงดึงดูดให้ชาวต่างชาติ ต้องการสินค้าในเมืองไทยซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี