ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ เป็นโรคติดต่อจากการถูกสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่นๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง เป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2 – 7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ
เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนดูแลสัตว์เลี้ยงให้ถูกต้องโดยการนำสัตว์เลี้ยงอายุ 2 - 4 เดือนขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเองให้อยู่ในบริเวณที่มีรั้วปิดรอบ ไม่ปล่อยให้ออกไปคลุกคลีกับสุนัขจรจัดนอกบ้าน ไม่เลี้ยงสุนัขจรจัดบริเวณหน้าบ้าน และไม่นำสุนัขจรจัดมาเลี้ยงในบ้านเด็ดขาด เพราะหากมีเชื้อโรคหรือป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะเป็นตัวการแพร่เชื้อได้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ขณะนี้ไม่มียารักษา ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยให้ปฏิบัติตามหลัก 5 ย ได้แก่ "อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง" คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หาง ตัวและขา หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือสุนัขที่ไม่ทราบประวัติ
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ในแต่ละปีพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 55,000 ราย จาก 150 ประเทศทั่วโลก โดยในทวีปเอเชียพบผู้เสียชีวิตมากกว่า 31,000 ราย ส่วนใหญ่ถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน แล้วไม่ได้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างรวดเร็วและครบถ้วน ดังนั้นเมื่อถูกสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน เพื่อช่วยลดอัตราเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 80-90 และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เร็วที่สุดเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบตามที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค