"เราอยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคัย 12 ปี อยู่ในมหาวิทยาลัย 4 ปี เราสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้เท่ากับระยะเวลาที่เด็กร่วมในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกซึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปี ต้องคิดแล้วนะครับ ผมว่าระบบการปฏิรูปการศึกษาถ้ายังปฏิรูปลอยๆ อยู่ข้างบน เชื่อมโยงไม่ถึงโจทย์วิจัยชุมชนผมว่าอาจจะต้องสิ้นหวังอีกรอบ"
นี่คือเสียงสะท้อนจาก ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาร่วมเวทีเสวนา "พลเมืองเยาวชน สร้างได้ด้วยการเรียนรู้ท้องถิ่น" ในงาน "ปลุกพลังเยาวชนชูวิถีคนตะวันตกครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า "จากที่ได้เดินดูนิทรรศการการเรียนรู้ของเยาวชนทั้ง 20 กลุ่ม (มีเยาวชนจาก จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม และจ.เพชรบุรี) ได้เห็นว่าเด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ขนาดเด็กร่วมอยู่ในโครงการ 1 ปี ยังเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ หนึ่งจากความไร้สาระ ไร้จุดหมาย ใช้เวลาอยู่กับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว กลับมาตั้งโจทย์ทำเรื่องมีสาระ เด็กพัฒนาตนเองอย่างมากมาย สองมีวิธีคิดเป็น เช่น กลุ่มน้องที่ทำนาเกลือจากเกลือกิโลละบาทห้าสิบสตางค์ เพิ่มมูลค่าเกลือให้เป็นขีดละ 35 บาท นี่คิดเก่งมากเลย หรือ การทำให้แพะอ้วนๆ ให้เป็นแพะที่แข็งแรงสามมีความอ่อนน้อมถ่อมตน พวกเขามีความมั่นใจแบบสากลแต่แสดงออกแบบวัฒนธรรมไทย ทั้งกล้าแสดงออก กล้าพูด แต่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เราไม่ค่อยเห็นเด็กไทยสมัยนี้มีกัน เพราะส่วนใหญ่จะก้าวร้าว ฟุ้งซ่าน นี่คือความลงตัวที่ชุมชนขัดเกลา นี่คือโมเดลที่ทำให้เด็กเป็นแกนกลางได้จริง ในชุมชนมีโจทย์มากมายและสนุกสนาน เราเชื่อมโยงโรงเรียนมาสู่โจทย์ของชุมชน อันนี้เป็นก้าวสำคัญเรื่องการศึกษา...
ตอนนี้โมเดลของกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายลดเวลาเรียนให้น้อยลง ให้โรงเรียนเลิกบ่ายสองโมง ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนได้ แต่ว่าเป็นโจทย์คิดครึ่งทางยังคิดไม่สมบูรณ์ กิจกรรมที่เรียกว่าโครงงานที่ตอนนี้กระทรวงฯ กำลังเริ่มทำ ผมคิดว่าถ้านำกิจกรรมโครงงานนี้มาเชื่อมกับชุมชนก็จะมีสาระและจุดหมายมากขึ้น ถ้าทำและเชื่อมโยงระบบหลักสูตรให้มีหลักสูตรท้องถิ่นและลงมาทำงานกับชุมชน มีนักพัฒนาชุมชนคอยช่วยตั้งโจทย์ชุมชน ตั้งโจทย์เรื่องต่างๆ และชุมชนเตรียมพื้นที่ให้ดีๆ เด็กจะได้รับการพัฒนาให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21ได้นั่นเอง" อ.สมพงษ์ทิ้งท้าย
ป้าทองคำ เจือไทย นักวิจัยชุมชนแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมานานกว่าสิบปี ร่วมเสวนาสะท้อนว่า "ตอนแรกป้าก็สิ้นหวังกับเด็กเพราะว่าระบบการศึกษาไม่เอื้อให้เด็กออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน เราต้องเอาเด็กออกมานอกห้องเรียน นอกเวลา อยากจะถามว่าโครงการฯ ในลักษณะนี้ ทำไมต้องเป็นโครงการที่ทำอยู่นอกโรงเรียน แบบนี้จะนำไปอยู่ในรั้วในโรงเรียนได้ไหม จากเสียงสะท้อนของครู ผู้ปกครอง เด็กที่ต้องการทำกิจกรรมแบบโครงการฯนี้ ได้เรียกร้องมา" ป้าทองคำตั้งโจทย์ให้ทุกคนได้คิด
ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวว่า "การศึกษาแยกเด็กออกจากชุมชน โครงการฯ นี้มาช่วยอุดช่องโหว่ว เป็นบทเรียน ประสบการณ์ เรียนรู้ท้องถิ่น ทำให้เด็กรักและอยากอยู่กับท้องถิ่น เมื่อเด็กพัฒนาประสิทธิการเรียนรู้เพิ่มขึ้นการเรียนของเด็กก็ดีขึ้นด้วย เช่นเด็กไม่ค่อยชอบเล่นหนังสือ พอผ่านโครงการฯ เราก็กลับไปขยันเรียนมากขึ้น หนึ่งปีที่ผ่านมาเด็กไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซนต์ผ่านโครงการนี้ เติบโตและเข้าใจคำว่าสำนึกพลเมือง คำว่าพลเมืองเด็กเข้าใจจากการปฏิบัติ เขาเข้าใจแบบลึกซึ้งไม่ใช่แค่ท่องจำ เราก็เห็นว่าการเรียนรู้ท้องถิ่นทำให้เด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบและมีสำนึกรักท้องถิ่นมากขึ้น โดยตลอดระยะเวลาในการทำโครงการเรามีทีมพี่เลี้ยงเติมกระบวนการเรียนรู้เรื่องสำนึกความเป็นพลเมืองและการเรียนรู้ท้องถิ่นผ่านการเวิร์คช้อปทั้งหมด 5 ครั้ง 1.เยาวชนนับหนึ่ง สร้างสำนึกปลุกพลเมือง - เรียนรู้เรื่องความเป็นพลเมือง ภูมินิเวศน์ภาคตะวันตก วิเคราะห์ทุนฐานและโครงการที่อยากทำ, 2.เยาวชนนับสอง ยั่วให้คิด ยุให้ทำ - พัฒนาโครงการให้ชัดเจน ดำเนินการได้จริงในระยะเวลา ศักยภาพ และงบประมาณที่จำกัด,3.เยาวชนนับสาม หยั่งรากพลเมือง - เติมทักษะการบริหารจัดการโครงการ (Project Management) การเก็บข้อมูล ตอกย้ำสำนึกความเป็นพลเมือง, 4.เยาวชนนับสี่ Check Point พลเมือง - สรุปบทเรียนครึ่งโครงการ ตอกย้ำเรื่องสำนึกความเป็นพลเมือง, และ 5. เยาวชนนับห้า Citizen Network – นำเสนอผลการดำเนินโครงการ รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ เติมทักษะการคิดเชิงระบบ (System Thinking) และสานพลังสร้างเครือข่ายเยาวชน Active Citizen ภาคตะวันตก เราเชื่อว่าเมื่อเด็กผ่านกระบวนการนี้โดยมีพี่เลี้ยงคอยเติมเต็มตลอดเส้นทางจะทำให้น้องๆ ได้เกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่น และมีการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการในปีสองเราจะมีความเข้มข้นมากขึ้น กระบวนการจะเชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตของเด็กมากขึ้นว่าเขาอยู่ในชุมชนเขาต้องดูแลเรื่องจัดการน้ำ คุณภาพน้ำ เพิ่มเนื้อหาเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิชุมชนมากขึ้น สำหรับปี 2 จะรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 25 กลุ่ม โดย 5 กลุ่มมาจากความร่วมมือกับม.ศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ที่จะส่งนักศึกษามาร่วมเรียนรู้ชุมชนด้วย"
นายชนม์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ (นัท) อายุ 17 ปี เยาวชนแกนนำจากโครงการสำรวจท่าคาตามหาน้ำตาลมะพร้าว ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ว่า"การทำโครงการฯ มีความสุข เราได้เรียนรู้ ได้พบเจอคนเราได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้ทำ ตรงนี้เป็นโอกาสที่จะได้ทำ จากที่เราได้เรียนรู้ต่างๆ นานา ทำให้ได้คิดว่าถ้าหากหมดคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ สิ่งดีๆ เช่น น้ำตาลมะพร้าว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็อาจจะหายไป ถ้าเราไม่สืบทอด ถ้าเราไม่ทำต่อ มันอาจเป็นแค่ตำนานแล้วเราจะไปตอบลูกเราได้อย่างไรว่าน้ำตาลมะพร้าวหน้าตาเป็นอย่างไร ก็เป็นความรู้สึกผิดที่เราไม่ได้สืบทอดให้อยู่มาถึงรุ่นเขาได้ ฝากถึงผู้ใหญ่ อยากให้ช่วยสนับสนุนให้เด็กๆ อย่างพวกเราได้มีอากาสได้ลงไปเรียนรู้เองจะเกิดบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในใจเขาเอง ถึงตอนเขาจะลงไปเขาไม่ได้มีจิตสำนึกอะไรในใจ แต่พอเขาได้ลงไปทำ เรียนรู้จริงก็อาจจะเกิดจิตสำนึกเหมือนกับที่ผมก็เกิดขึ้นมาแล้วครับ"
นี่เป็นโมเดลการเรียนรู้ที่น่าสนใจ หากกระทรวงศึกษาธิการสนใจลองหยิบแนวทางนี้ไปใช้ดูก็น่าตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียว สำหรับโครงการในปี 2 จะเปิดรับสมัครในเดือนตุลาคม เยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ #www.maeklongvijai.org และที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล www.scbfoundation.com #
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit