ทั้งนี้ กิจกรรมประกาศผลการประกวด "KMITL INNOVATIVE AWARDS 2015" จัดขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานกิจกรรมชั้น 3 ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อคนไทยในหลากหลายแง่มุมของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การศึกษา การคมนาคม หรือการเกษตร ฯลฯ แต่นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลงานสร้างสรรค์ของชาวต่างชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในประเทศไทยโดยฝีมือของคนไทย การปลูกฝังเยาวชนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ สจล.จึงได้จัดโครงการ KMITL INNOVATIVE AWARDS ครั้งที่ 4 ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด "เจ้าแห่งนวัตกรรม: THE MASTER OF INNOVATION" อันจะเป็นเวทีแสดงพลังทางความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ความรู้ความคิดและจินตนาการของเยาวชนไทยในการประดิษฐ์ผลงานนวัตกรรม เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ สู่เป้าหมายการยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศชั้นแนวหน้าของประชาคมโลก อีกทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ประชาชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับ "KMITL INNOVATIVE AWARDS 2015" นั้นเปิดโอกาสให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศเข้าร่วมประกวด โดยในปีนี้มีนักเรียนส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 60 ทีม และคัดเลือกเหลือเพียง 9 ทีมจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ การคัดเลือกใช้เกณฑ์การตัดสินจากแนวคิดผลงานอันสะท้อนวัตถุประสงค์ "เจ้าแห่งนวัตกรรม" ตลอดจนประโยชน์สังคมและประเทศชาติ ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ ซึ่งจากการตัดสินของผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันที่ได้พิจารณาผลงานนวัตกรรมจากหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยละเอียดนั้น มีความเห็นตรงกันว่า ทีม The One โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา กับผลงาน "Bacterial Cellulosic Ethanol ที่ย่อยด้วย Cellulosic Bacteria จากมูลวัว" ตอบโจทย์ของการเข้าแข่งขันในโครงการมากที่สุด ได้รับรางวัลชนะเลิศได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 30,000 บาท ทีม Amazing Cactus โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย กับผลงาน "การศึกษาการเจริญเติบโตของต้นอ่อนกระบองเพชรในตู้เพาะอัตโนมัติแบบระบบปิด" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินสด 20,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทีม Science NW. โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา กับผลงาน "เครื่องปลูกมันสำปะหลังเอนกประสงค์" ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากอธิการบดี พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท
นางสาวกาญจนา คมกล้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวแทนจากทีม The One กล่าวว่า ผลงาน "Bacterial Cellulosic Ethanol ที่ย่อยด้วย Cellulosic Bacteria จากมูลวัว" เป็นการนำเอนไซม์เซลลูเลสจากแบคทีเรียในมูลวัว มาย่อยเซลลูโลส หรือเส้นใยจากแบคทีเรียในวุ้นมะพร้าว ให้ได้น้ำตาลออกมาในปริมาณมาก จากนั้นนำน้ำตาลที่ได้ไปใช้เป็นอาหารของยีสต์ เพื่อให้เกิดการผลิตเอทานอลออกมาในปริมาณมากถึง 3 เท่า และใช้เวลาน้อยกว่าการผลิตเอทานอลโดยวิธีปกติทั่วไปถึง 22 วัน ทั้งนี้ เอทานอลหรือแอลกอฮอล์ที่รับประทานได้นั้นสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมากมาย เช่น อุตสาหกรรมสี เครื่องสำอาง น้ำหอม เครื่องดื่ม เชื้อเพลิง เป็นต้น ตลอดจนใช้ในทางการแพทย์
นายภัคภณ จันทร์มหา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี ตัวแทนจากทีม Amazing Cactus กล่าวว่า ผลงาน "การศึกษาการเจริญเติบโตของต้นอ่อนกระบองเพชรในตู้เพาะอัตโนมัติแบบระบบปิด" เป็นการศึกษาการควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้แก่ แสง อุณหภูมิ และความชื้น ให้มีความเหมาะสมต่อการรอดชีวิต และเจริญเติบโตของต้นกระบองเพชร ซึ่งเป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศของเมืองไทยมาก โดยจากผลการศึกษาพบว่า เมล็ดกระบองเพชรที่ควบคุมในระบบปิดนี้มีอัตราการงอกของเมล็ดสูงถึง 90% และมีการเจริญเติบโตที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี ในขณะที่การเพาะตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติจะมีอัตราการงอกและอยู่รอดเพียง 15% เท่านั้น โดยการศึกษานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจไม้ประดับที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
นางสาวกัญญาณัฐ นันทรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา จังหวัดชัยภูมิ ตัวแทนจากทีม Science NW. กล่าวว่า ผลงาน "เครื่องปลูกมันสำปะหลังเอนกประสงค์" เป็นการออกแบบสิ่งประดิษฐ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการปลูกมันสำปะหลังโดยช่วยแก้ปัญหาการตัดท่อนมันไม่ได้ขนาด การวางท่อนมันไม่ได้ระยะ การเสียบท่อนมันไม่ครบตา ส่งผลให้การปลูกมันสำปะหลังนั้นทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนมีขั้นตอนการใช้งานง่าย ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ ให้ปวดหลังอย่างที่เคย อีกทั้งยังสามารถปรับความสูงเหมาะสมกับผู้ใช้งานได้ เก็บรักษาง่าย ช่วยลดค่าใช้จ่าย และประหยัดแรงงานได้เป็นอย่างดี โดยมีการนำไปให้เกษตรกรได้ทดลองใช้จริง และมีผลลัพธ์การใช้งานเป็นที่น่าพึงพอใจ
ทั้งนี้ กิจกรรมประกาศผลการประกวด "KMITL INNOVATIVE AWARDS 2015" จัดขึ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานกิจกรรมชั้น 3 ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit