"ประเด็นเซ็กส์ในสื่อโฆษณาไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่ เนื่องจากมีการผลิตสื่อโดยใช้ภาพลักษณ์ทางเพศหรือสรีระของผู้หญิงมานำเสนออย่างต่อเนื่องจนทำให้สังคมเกิดความเคยชิน เพราะปัจจุบันสื่อต่างๆก้าวกระโดดรวดเร็วมาก โดยเฉพาะโทรทัศน์ระบบเคเบิ้ล ดิจิตอล รวมถึงระบบผ่านมือถือ ซึ่งมีผลกระทบต่อเยาวชนและประชาชนในวงกว้าง ดังนั้น การมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมเสวนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และที่สำคัญการตีความในด้านเนื้อหาต่างๆ โดยตระหนักถึงคุณค่า คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมนั้นจะทำให้สังคมเกิดภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างมาก" ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานคณะกรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสื่อความหมายของคนรับสารมีความเข้าใจต่างกันขึ้นอยู่กับบริบท ประสบการณ์ และวัย ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะทำให้การตีความหมายแต่งต่างกัน ยกตัวอย่าง เด็กคนนึงดูแล้วน่าเกลียด เด็กคนนึง อยากดูต่อ เด็กคนนึงดูต่อยังเกิดความรู้สึก เป็นต้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตีความหมายของแต่ละบุคคล ทั้งนี้สื่อโฆษณาในปัจจุบันนั้นมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเป็นสื่อวิทยุและโทรทัศน์จะมีสำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำกับดูแล และมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นตัวกลาง แต่ปัจจุบันสื่อที่น่าเป็นห่วงคือสื่อออนไลน์เนื่องจากภาพที่ปรากฎไม่ใช่แค่ภาพโป๊แบบมีศิลปะแต่เป็นภาพโป๊ลักษณะแบบอนาจารซึ่งเป็นอันตรายสำหรับเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตามกระทรวงวัฒนธรรมควรเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป