เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่เวทีระดับภูมิภาคอย่างเออีซีในปี 2559 นี้ "คอมแพริซัน ดอท เอเชีย (Comparison.asia)" ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ จึงได้จัด "คิดทะลุกรอบ เพิ่มยอดขาย ขยายตลาด" เพื่อเปิดมุมมองการทำการค้าออนไลน์ให้แก่เอสเอ็มอี ติดอาวุธการเพิ่มยอดขายและขยายตลาดด้วยการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซอีโคซิสเต็ม เทคโนโลยีในการเริ่มต้นธุรกิจและขยายตลาดบนโลกออนไลน์แบบครบวงจร นำโดย 3 กูรูทางการตลาดชั้นนำอย่าง "ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย" "รวิศ หาญอุตสาหะ" และ "ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" มาถ่ายทอดประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ในการช่วยผลักดันยอดขายให้กลุ่มเอสเอ็มอี เติบโตและขยายตลาดไปช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการทำธุรกิจออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซเต็มรูปแบบมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่ต้องการความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูล และเปรียบเทียบสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้า
คนแห่ช้อปออนไลน์ ดันยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซโตสูงปีละ 20%นายยศสันต์ ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอมแพริซัน ดอท เอเชีย กล่าวว่า "จากข้อมูลของนีลเส็นพบว่า มูลค่ารวมของตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนมียอดขายปีละ 30,000 กว่าล้านบาท และมีการเติบโตปีละกว่า 20% สะท้อนให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากสนใจเข้ามาทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในยุคดิจิทัลนี้ โดยคาดหวังจะใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ในการเพิ่มยอดขายและขยายธุรกิจนั้นๆให้เติบโตยิ่งขึ้น รวมถึงการมองหาโอกาสการขยายตลาดไปต่างประเทศ
ทุกวันนี้ ในประเทศไทย มูลค่ารวมของการค้าขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของมูลค่าการค้าปลีกในประเทศเท่านั้น โดยประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่ารวมการค้าขายออนไลน์เทียบเคียงมูลค่าการค้าปลีกสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 9% และจีน 8% ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์นำเป็นอันดับ 1 ที่ 3.5% ตามด้วยฟิลิปปินส์ 3.1% มาเลเซีย 1.4% อินโดนีเซีย 0.7% โดยไทยอยู่อันดับรองสุดท้ายที่ 0.6% ซึ่งถือว่ามูลค่ารวมของการค้าขายออนไลน์ยังต่ำอยู่หากเทียบกับมูลค่าการค้าปลีกในประเทศ และอันดับสุดท้าย คือ เวียดนาม 0.5%
นักการตลาดเผย 8 ธุรกิจที่น่าทำและไม่ตกเทรนด์อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านการตลาด กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคดิจิทัลนี้ แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จต้องมี Lucky Factor หรือเฮง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องอยู่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกธุรกิจ โดยธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์และน่าสนใจในช่วงเวลานี้ได้แก่ 1. ธุรกิจอาหาร 2. ความงาม 3. สุขภาพ 4. การศึกษา 5. เทคโนโลยี 6. ธุรกิจที่เกี่ยวกับเด็ก 7. ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจซื้อ และ 8. ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย ซึ่งอีก 15 ปีข้างหน้าคนไทยที่มีอายุ 60 ปีจะมีสัดส่วนถึง 25% ขณะที่ญี่ปุ่นปัจจุบันมีคนอายุ 65 ปี 25% และจะเพิ่มเป็น 33% ในอีก 15 ปี ซึ่งผู้ประกอบการใดที่ทำธุรกิจผู้สูงวัย ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ"
"สิ่งที่ต้องมีในการทำแบรนด์ยุคนี้ คือ 1. Great Buzz สร้างกระแสบอกต่อให้เกิดขึ้นแทนที่จะมีแต่สินค้าที่ดีเพียงอย่างเดียว 2. Uniqueสร้างจุดโดดเด่น นอกเหนือจากสร้างความน่าเชื่อถือ 3. Memorableสร้างการจดจำ มากกว่าจะนำเสนอแต่สิ่งที่ดีที่สุด และ 4. Tell a Storyบอกเรื่องราวของสินค้า เพื่อให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมและอยากที่จะบอกต่อ" อาจารย์ธันยวัชร์กล่าว
ศรีจันทร์คิดนอกกรอบดันยอดขายโตก้าวกระโดดนายรวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้พลิกโฉมแบรนด์ศรีจันทร์ ให้โดนใจผู้บริโภคด้วยวิธีคิดทะลุกรอบ กล่าวว่า "เรื่องราวหรือตำนานของผงหอมศรีจันทร์ ที่ทำให้หน้านุ่มเนียน หน้าไม่มัน มีมานานกว่า 60 ปี ไม่เพียงแต่แบรนด์ที่ดูโบราณ ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งก็ดูไม่ทันสมัย ทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ภาคภูมิใจเวลาใช้สินค้า ขณะที่ร้านค้าปลีกรายย่อยเอง ก็ไม่อยากนำมาวางบนชั้นเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ง่าย ดังนั้นผลิตภัณฑ์นี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนหรือรีแบรนด์ครั้งใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแผนการตลาด ตัวผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้มีความหลากหลาย การเพิ่มช่องทางการจำหน่าย การแจกสินค้าตัวอย่าง รวมถึงการทำตลาดผ่านสื่อช่องทางต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์โฆษณา สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อออนไลน์"
"ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ศรีจันทร์ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นำโดยศรีจันทร์ ทรานส์ลูเซนต์ พาวเดอร์ แป้งฝุ่นแพ็กเกจสีม่วง ดีไซน์สวยงาม ใช้ส่วนประกอบนำเข้ามาจากญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนตัวสีเขียว สูตรทานาคา ที่ทำวิจัยร่วมกับ สวทช. นาโนเทคก็ขายดีเช่นกัน รวมถึงเบบี้ พาวเดอร์ แป้งสำหรับเด็กก็กำลังเป็นนิยมในตลาด ล่าสุดศรีจันทร์เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับผู้ชายในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้"
เผยคนไทยนิยมซื้อสินค้าแฟชั่นผ่านเฟซบุ๊ค
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com นักบุกเบิกธุรกิจ นักสร้างจุดขายที่แตกต่าง ผู้เชี่ยวชาญทั้ง E-Commerce และ E-Marketing ผู้มาพร้อมกับเครื่องมือออนไลน์ที่จะช่วยเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้และกำไรให้ เพิ่มพูน กล่าวว่า "ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันช่องทางออนไลน์มีความได้เปรียบและน่าสนใจมากกว่าธุรกิจที่มีหน้าร้าน เพราะได้เปรียบตรงต้นทุนต่ำ จำนวนสินค้าที่ขาย ขายสินค้าได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทั้งในประเทศและทั่วโลก"
นอกจากนี้ ช่วงอายุคนไทยที่เคยซื้อของผ่านโซเชียลมีเดียจะอยู่ที่อายุ 15-34 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คิดเป็นสัดส่วน 55.9% ซึ่งสินค้าที่คนไทยนิยมซื้อ เช่น สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า) อุปกรณ์ไอที เครื่องสำอาง เป็นต้น ส่วนราคาที่ซื้ออยู่ที่ 500-1,000 บาท ขณะที่ช่องทางที่นิยมใช้ในการทำการค้าออนไลน์ คือ เฟซบุ๊ค สังคมออนไลน์ยอดฮิต 3 ปีซ้อน ส่วนทวิตเตอร์และอินสตาแกรม เป็นที่นิยมในกลุ่มเพศที่ 3 ใช้กันมาก ส่วนไลน์ เป็นที่นิยมของกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์"
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียในประเทศไทยมีการเติบโตที่สูงมาก โดยเฟซบุ๊คมียอดผู้ใช้งานสูงถึง 37 ล้านคน ขณะที่อิน-สตาแกรมมีผู้เล่น 7.8 ล้านคน โดยช่วงอายุ 18-24 ปีมีสัดส่วนสูงสุดที่ 41% ทั้งนี้ ในส่วนร้านค้าในเฟซบุ๊คปัจจุบันมี 10,515 ร้านค้า และร้านค้าในอินสตาแกรมมี 11,213 ร้านค้า รวมถึงการฝากร้านบนอินสตาแกรมคนดังทั้งหมด 58,809 ครั้ง
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจการค้าผ่านออนไลน์หรืออีคอมเมิรซ์มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอนาคตจะเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจ SMEs ไทย ขยายตลาดได้กว้างขึ้น และช่วยเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่ธุรกิจของคุณในการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ผู้สนใจทำการค้าออนไลน์หรือตลาดอีคอมเมิร์ซสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.comparison.asia
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit