อาจารย์ ดร.บุญศิลป์ จิตตะประพันธ์ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร กล่าวว่า "การส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ ใช้ชื่อ "มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต" อันหมายถึง การร่วมกันมุ่งสร้าง "สุข" บนแผ่นดิน โดยใช้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือ อันนำไปสู่การคำนึงถึงคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของประชาชนท้องถิ่น (เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม) และคุณภาพประสบการณ์การท่องเที่ยวของผู้มาเยือน มหาวิทยาลัยได้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการบูรณาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับจังหวัดชุมพรและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายการท่องเที่ยวให้ นำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยงอย่างยั่งยืน"
ด้านอาจารย์อำนาจ รักษาพล ในฐานะผู้ประสานงานกิจกรรม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "กิจกรรมหลักๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการ ได้แก่ 1.)การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดชุมพร โดย เป็นคณะกรรมการและเลขานุการเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร และเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้ 2.)การฝึกจัดนำเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้รูปแบบบริษัทนำเที่ยวเชิงนิเวศ(จำลอง) ฝึกทักษะการปฏิบัติวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจส่งเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และ 3.)การดำเนินกิจกรรม กองกำลัง "เที่ยว" รับใช้สังคม โดยรวมกลุ่มคนจิตอาสารับใช้สังคม ให้กลุ่มเยาวชนเรียนรู้บริบทชุมชนบนพื้นฐานธรรมชาติ วิธีชีวิต และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และร่วมรับใช้สังคมตามความต้องการ"
ผลจาการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ "มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต : มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร" ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาครัฐ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย "กินรี" ครั้งที่ 10 ประจำปี 2558 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ จึงเป็นรางวัลการันตีที่แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่เคียงข้างชุมชน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิตอย่างแท้จริง