ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน(Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) ร่วมกับ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการค้นคว้าวิจัยเอกสาร สัมภาษณ์เจาะลึกบุคคลกุญแจสำคัญ และผลงานวิจัยก่อนหน้านี้ดำเนินโครงการในวันที่ 1 - 28 กันยายน พ.ศ. 2558 พบว่า
ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติบางส่วนที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์วิ่งหาองค์กรต่างๆ และหน่วยงานราชการแบบไร้ทิศทางชัดเจนในการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น เช่น ขอความช่วยเหลือไปที่กระทรวงแรงงานบ้าง กระทรวงพัฒนาสังคมฯ บ้าง ตำรวจบ้าง กระทรวงต่างประเทศบ้าง มหาดไทยบ้าง สำนักข่าวต่างๆ บ้าง และมูลนิธิฯ ต่างๆ บ้าง จะเห็นได้ว่าเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ขาดองค์กรหลักและไร้ทิศทางในการเข้าขอความช่วยเหลือและบางครั้งเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์หลุดรอดการตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปอยู่ในวังวนของขบวนการค้ามนุษย์ ผู้ประกอบการยังถูกเรียกเก็บรายเดือน
ยิ่งไปกว่านั้น ผลวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่า กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์มีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้แก่ พม. ปปง. ดีเอสไอ ยธ. ตร. รง. กต. และ มท. เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่มีหน่วยงานรัฐแต่ละส่วนราชการที่เป็นอิสระจากกันถือเอาไว้แยกอีกต่างหาก เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่มี ตร. มท. พม. เกี่ยวข้อง และมี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา และ พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน เป็นต้น รวมกฎหมายต่างๆ แล้วกว่า 25 ฉบับ แต่ขาดองค์ประกอบรวมในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ทั้งๆ ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถือกฎหมายกันไว้หลายสิบหน่วยงาน เสมือนกับว่าประเทศไทยมีเครื่องมือเยอะมากแต่การสกัดขบวนการค้ามนุษย์ทำไปโดยไม่เท่าขีดความสามารถที่มีอยู่
รัฐบาลที่ผ่านๆ มาใช้คำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มักเรียกว่า "บูรณาการ" ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยคำสั่งต่างๆ มีรายชื่อคณะกรรมการจำนวนมากขาดพลังในการขับเคลื่อน และคำสั่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ยั่งยืนเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลใดให้ความสำคัญน้อยหน่วยงานรัฐก็มักจะส่งตัวแทนระดับล่างๆ เข้าร่วมปฏิบัติการ นอกจากนี้ มีการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่แต่หลังการอบรมแล้วเจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลับไปปฏิบัติภารกิจหลักของหน่วยตนเองมากกว่าเรื่องค้ามนุษย์ ส่งผลให้ขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
ระบบและกลไกแก้ปัญหาค้ามนุษย์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ถือว่าอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ไม่ดี เพราะยุทธศาสตร์ที่ดีต้องชัดเจนเป็นหนึ่งเดียวกัน เข้าใจง่าย สอดคล้องกัน มีความต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับตั้งแต่สูงสุดจนถึงผู้ปฏิบัติและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องรู้ว่า เหตุปัจจัยคืออะไรและช่วยกันแก้ให้ตรงเหตุปัจจัยนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นใครเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ที่เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จะไปขอความช่วยเหลือจากใครตั้งแต่ต้นทางของปัญหาจนถึงปลายทางของปัญหา
โดยสรุป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปกป้องรักษาผลประโยชน์ชาติร่วม 4 – 5 แสนล้านบาทเอาไว้และหลุดพ้นจากเทียร์ 3 สู่ความเป็นผู้นำของอาเซียนในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์จึงเสนอรัฐบาลพิจารณา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ป.ป.ม. ขึ้นเป็นองค์กรถาวรทำงานเชิงยุทธศาสตร์เพื่อค้นหาข้อมูลสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่แท้จริงมากำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายสาธารณะแปลงสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เป็นที่พึ่งได้ของเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ลดปัญหาผู้ประกอบการถูกรีดไถรายเดือนและน่าจะช่วยลดความเคลือบแคลงสงสัยของต่างชาติ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและภาพลักษณ์ประเทศไทยที่จะสามารถต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit