สาเหตุที่ไก่เนื้อของไทยในอดีตมีราคาแพงมากเพราะเป็นการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อย แบบปล่อยเลี้ยงหลังบ้านโดยให้กินอาหารจากเศษเหลือในครัวเรือน เรียกว่าเลี้ยงกันตามมีตามเกิด ทำให้มีอัตราการตายสูงไม่ต่ำกว่า 10% เช่น เลี้ยงไก่ 20 ตัว ตายไป 2 ตัว ยังเหลืออีกตั้ง 18 ตัว แต่ละบ้านจึงไม่สนใจในประเด็นความสูญเสีย เพราะจุดประสงค์ในการเลี้ยงเพียงเพื่อใช้รับประทานในครัวเรือนหรือขายในชุมชนเท่านั้น ที่สำคัญไก่บ้านต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานกว่า 5 เดือน จึงจะจับขายได้ จึงกลายเป็นข้อจำกัดของการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองหรือไก่บ้านในอดีต คนที่ไม่เลี้ยงจึงจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเนื้อไก่ในราคาสูง
จากข้อจำกัดดังกล่าว กลายเป็นโจทย์สำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาการเลี้ยงไก่ในประเทศไทย โดยการเลี้ยงไก่เนื้อในเชิงอุตสาหกรรมเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ.2513 จากการร่วมทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับ อาร์เบอร์ เอเคอร์ส อิงค์ (Arbor Acres Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์ไก่รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา ก่อตั้งเป็น บริษัท อาร์เบอร์เอเคอร์ส ประเทศไทย จำกัด นำไก่เนื้อสายพันธุ์อาร์เบอร์เอเคอร์สเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย พร้อมนำระบบการจัดการที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการเลี้ยงไก่ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ตลอดจนวิชาการด้านการป้องกันโรค และความรู้เรื่องการตลาดที่มีประสิทธิภาพ
การเลี้ยงไก่เนื้อจึงได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับมาตลอดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีการค้นคว้าและปรับปรุงสายพันธุ์ไก่เนื้อ เพื่อให้ได้ไก่ที่มีลักษณะเด่น เช่น มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว มีอัตราการแลกเนื้อสูง กล่าวคือ ไก่กินอาหารปริมาณน้อยแต่สามารถเปลี่ยนอาหารที่กินเป็นเนื้อได้มากขึ้น สุขภาพแข็งแรง และมีความต้านทานโรคที่ดี มีอัตราการเลี้ยงรอดสูง แม้ระบบการเลี้ยงจะมีการพัฒนาปัจจัยต่างๆตามลำดับ การเลี้ยงแบบชาวบ้านก็ยังคงดำเนินควบคู่กันไป เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเนื้อเหนียวนุ่มของไก่บ้าน
ขณะเดียวกัน ยังมีการวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารไก่ให้มีสารอาหารและโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมกับพันธุ์ไก่ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นนั้นควบคู่ไปด้วย ทำให้ไก่สามารถเติบโตตามศักยภาพของพันธุกรรม ที่สำคัญไม่ต้องใช้สารเร่งการเจริญเติบโต คนไทยจึงมีเนื้อไก่ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยทางอาหารในระดับมาตรฐานสากลไว้บริโภค
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้ออีกช่วงหนึ่งคือ การนำเทคโนโลยีโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือ โรงเรือนอีแวป (EVAP : Evaporative Cooling System) เข้ามาใช้ โดยเฉพาะเมื่อปีพ.ศ.2547 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการระบาดของไข้หวัดนกในไทยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียกับอุตสาหกรรมและประเทศมา ส่งผลผู้เลี้ยงไก่เนื้อ-ไก่ไข่ทุกระดับ หันมาลงทุนปรับปรุงโรงเรือนให้เป็นระบบปิด เพื่อลดเสี่ยงจากโรคระบาดและป้องกันสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค เช่น นก หนู และแมลงต่างๆ ทั้งยังสามารถป้องกันโรคระบาดต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่ปลอดไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
จากปัจจัยทั้งหมดข้างต้นส่งผลให้ผู้ผลิตไก่เนื้อไทย ทั้งรายย่อยและรายใหญ่เติบไปด้วยกัน เพราะเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยต่างๆ ถูกถ่ายทอดต่อไปยังรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและเพิ่มปริมาณการผลิตให้ตรงต่อความต้องการบริโภค ส่งผลให้ราคาเนื้อไก่ที่เคยเป็นอาหารของเศรษฐีเป็นอาหารที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ และยังสามารถส่งออกไปทั่วโลกด้วยการผลิตแบบมาตรฐานเดียว (single standard) ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้
การพัฒนาในอุตสาหกรรมไก่เนื้อ ยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่รายย่อย บางรายเติบโตขึ้นสู่รายกลาง และพัฒนาจนกลายเป็นเกษตรกรรายใหญ่เลี้ยงไก่ถึงล้านตัวก็มีอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากการสำรวจตัวเลขของผู้เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการค้าทั้งหมดกว่า 34,500 ครัวเรือน แบ่งออกเป็น กลุ่มที่เลี้ยงไก่เนื้อน้อยกว่า 10,000 ตัวอยู่ 90% กลุ่มที่เลี้ยง 10,000 -100,000 ตัว มี 9% และกลุ่มที่เลี้ยงไก่มากกว่า 100,000 ตัว มีอยู่ 1% ทั้งนี้เป็นทั้งฟาร์มผู้เลี้ยงอิสระ และฟาร์มที่อยู่ในรูปแบบคอนแทรคฟาร์ม ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ก็มีไม่ต่ำกว่า 25 บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อจึงช่วยสร้างอาชีพและความมั่นคงในชีวิตแก่เกษตรกรไทยและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน และทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรยังคงมุ่งมั่นร่วมมือกันพัฒนาการเลี้ยงไก่ให้เข้าสู่มาตรฐาน เพื่อผลิตไก่คุณภาพสำหรับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากระทั่งทุกวันนี้... หาใช่การทำลายรายย่อยดังเช่นที่ NGO รายหนึ่งกล่าวไว้อย่างบิดเบือน!!
พลังของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ "ไก่เนื้อ" กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับที่ 9 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยแต่ละปีจะมีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มากกว่า 6 แสนตัน นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาพัฒนาชาติไทยถึงปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท นี่คือความภาคภูมิใจของคนไทยและเกษตรกรไทย ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหารเพื่อผู้บริโภคทั่วโลก ดังยุทธ ศาสตร์ "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ที่ประเทศไทยต้องการจะเป็น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit