AREA แถลง ฉบับที่ 309/2558: วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558 การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินชายหาดบนเกาะภูเก็ต

12 Oct 2015
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

[email protected]; www.facebook.com/dr.sopon4

ราคาที่ดินริมหาดต่าง ๆ ในภูเก็ตยังพุ่งแรงเมื่อเทียบกับราคาที่ดินบริเวณอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพราะภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับนานาชาติ

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้นำเสนอผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินริมหาดต่าง ๆ ในภูเก็ต ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานภาคใต้ที่มีนายสัญญา นาคบุตร เป็นผู้จัดการ ได้ทำการสำรวจราคาที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือนตุลาคม 2558 นี้

การสำรวจของศูนย์ฯ ที่รับผิดชอบโดยนายสัญญานั้น สำรวจรวมกันทั้งหมดประมาณเกือบ 20 หาด/อ่าวโดยรอบเกาะภูเก็ต แต่ในที่นี้นำเสนอเพียงบางส่วนเพื่อให้กระชับกับพื้นที่ที่จำกัด ทั้งนี้การสำรวจนี้ดำเนินการครั้งแรกในเดือนเมษายน 2548 หลังสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 โดยศูนย์ฯ ได้ทำการประเมินย้อนหลังไปถึงราคาที่ดินในเดือนกรกฎาคม 2547 เพื่อเปรียบเทียบถึงผลกระทบของสึนามิต่อราคาที่ดิน

ราคาที่ดินริมหาดสำคัญในภูเก็ต พ.ศ.2547-2558

หาด

กรกฎาคม

เมษายน

ตุลาคม

การเปลี่ยนแปลง

2547

2548

2558

2557-8

2548-58

ไม้ขาว

5

5

15

7%

12%

บางเทา

7.5

7.5

22

10%

11%

กมลา

10

12

27

8%

8%

ป่าตอง

40

40

180

9%

16%

กะตะ

10

12

40

8%

13%

อ่าวมะพร้าว

2

2.2

10

11%

16%

สะปำ

3

3.3

10

11%

12%

อ่าวมะขาม

6

6.5

15

7%

9%

ฉลอง

5

5.5

20

11%

14%

โดยรวม

8.6

9.1

31.1

9%

13%

แสดงให้เห็นว่าสึนามิไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาที่ดิน ยกเว้นราคาของทรัพย์สินที่มีสิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิในครั้งนั้น ส่วนที่ดินฝั่งตะวันออกที่มีราคาถูกกว่า เพราะทะเลไม่สวยเท่าฝั่งตะวันตก (มหาสมุทรอินเดีย) ปรากฏว่าราคากลับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทั้งนี้เพราะตลาดก็ยังเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยคงไม่เกิดสึนามิทางทะเลกระบี่หรือฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต

การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินนับแต่นั้นมาก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดช่วงราว 11 ปีที่ผ่านมานี้ ตัวอย่างเช่น หาดป่าตอง ที่ศูนย์ฯ ประเมินไว้ที่ 40 ล้านบาทต่อไร่ในเดือนกรกฎาคมปี 2547 ปรากฏว่าในเดือนเมษายน 2548ราคาเท่าเดิม แต่ในปี 2550 กลับเพิ่มเป็นไร่ละ 60 70 และ 80 ล้านบาท ในปี 2550 2551 และ 2552 พอถึงปี 2554-2555 ก็เพิ่มเป็น 110 และ 120 ล้านบาท และราคาพุ่งเป็น 165 ล้านบาทในปี 2557 และ 180 ล้านบาทในปี 2558 นี้ หรือตกตารางวาละ 450,000 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าราคาที่แถวสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิตที่ ณ สิ้นปี 2558 อาจมีราคาสูงถึง 1.9 ล้านบาทต่อตารางวา

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินริมหาด/อ่าวในเกาะภูเก็ต เพิ่มขึ้น 9% ในขณะที่ราคาเฉลี่ยในช่วงปี2548-2558 เพิ่มขึ้นถึง 13% ต่อปี การนี้แสดงว่าในปีที่แล้ว แม้ภูเก็ตจะคึกคัก แต่ก็ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของชาติโดยรวมเช่นกัน อัตราการเติบโตจึงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการเติบโตของราคาที่ดินต่อปีในภูเก็ต ยังสูงกว่าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีอัตราเพิ่มเพียงราว 3% ในปี2558 นี้ ลดลงกว่าปีก่อนที่โต 3.3%

โดยสรุปแล้วภูเก็ตยังมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ยกเว้นจะสะดุดขาตนเอง เช่น ที่เห็นในกรณีจลาจลที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานซืนนี้ เป็นต้นผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน