กิจกรรม กทม.พบนักเขียน “ร.ศ. ๒๓๔…ลิขิตรัตนโกสินทร์”

12 Oct 2015
คนวรรณกรรมร่วมเสนอแนวคิด ปั้น'หอสมุดเมือง กรุงเทพฯ' สร้างมหานครแห่งการเรียนรู้
กิจกรรม กทม.พบนักเขียน “ร.ศ. ๒๓๔…ลิขิตรัตนโกสินทร์”

กรุงเทพมหานคร เดินหน้าเตรียมสร้าง "หอสมุดเมือง" ณ อาคารราชดำเนินย่านสี่แยกคอกวัว พร้อมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากนักเขียน กวี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชนเมือง เป็นศูนย์รวมผลงานและหนังสืออันทรงคุณค่า แหล่งเรียนรู้ของเยาวชน สาธารณชน และนักท่องเที่ยวทั้งไทยและนานาชาติ พร้อมปั้นหอเกียรติยศ หรือ Hall of Fame เชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญในวงการวรรณกรรม ตั้งเป้าสู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ด้าน "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์และกวีซีไรต์คนดัง เสนอตั้งสถาบันวรรณกรรมแห่งชาติ ณ หอสมุดเมือง

กิจกรรม กทม.พบนักเขียน ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ธีม "ร.ศ. ๒๓๔…ลิขิตรัตนโกสินทร์" เมื่อเร็วๆนี้ ณ โรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท สุขุมวิท โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานมีนักเขียน กวี นักแปล ตลอดจนผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ พร้อมสื่อมวลชนและผู้บริหาร กทม.เข้าร่วมกิจกรรม

ภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ "ร่วมลิขิต...ร่วมก่อ..หอสมุดเมือง" โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปี ๒๕๓๖ และกวีซีไรต์ คุณชมัยภร แสง กระจ่าง บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ประจำปี ๒๕๕๘ คุณบูรพา อารัมภีร นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร. ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และ คุณสุชาดา สหัสกุล กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย โดยมี คุณรัศมี มณีนิล พิธีกรคนดังจากรายการ "ห้องสมุดหลังไมค์" เป็นผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเหล่านักเขียน กวี และผู้เกี่ยวข้องที่มาร่วมงาน

ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ เปิดเผยว่าโครงการ "หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร" (Bangkok City Library) นั้น ถือเป็น ๑ ใน ๙ พันธกิจ ของกรุงเทพมหานครที่ได้รับการคัดเลือกจาก องค์การยูเนสโกให้เป็น "เมืองหนังสือโลก ประจำปี ๒๕๕๖" หรือ Bangkok World Book Capital 2013 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดและนโยบายของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่จะผลักดันให้เมืองหลวงของประเทศไทยเป็น "มหานครแห่งการเรียนรู้" โดยแท้จริง จึงมีการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ และเพิ่มจำนวนบ้านหนังสือให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

"กรุงเทพมหานครได้เดินหน้าตามแนวคิดการสร้างแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เรียกว่าเป็นที่เก็บบันทึกแห่งกาลเวลาหรือความทรงจำร่วมกันของสังคมของชนชาติไทย โดยเฉพาะประวัติความเป็นมาของอารยธรรมและความรุ่งเรืองของเมืองหลวงของประเทศในรูปแบบของ 'หอสมุดเมือง' เพื่อต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมถึงนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นสถานที่รวบรวมผลงานวรรณกรรมที่สำคัญของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งหอสมุดเมืองจะเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนและผู้ที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรมทุกท่าน ทางกรุงเทพมหานครจึงอยากให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้หอสมุดเมืองเป็นหอสมุดของทุกคนอย่างแท้จริง" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

ล่าสุดทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้อนุมัติให้ กรุงเทพมหานครเช่าอาคาร ๓ ชั้นบนถนนราชดำเนินบริเวณสี่แยกคอกวัวเพื่อจัดตั้งหอสมุดเมือง ในระยะเวลา ๓๐ ปี มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ ๓,๐๐๐ ตารางเมตร สำหรับใช้เป็น หอสมุดเมือง โดยกำลังศึกษาการใช้พื้นที่ส่วนต่างๆ อาทิ ห้องสมุดวรรณกรรมไทย วรรณกรรมอาเซียนและวรรณกรรมโลก ห้องสมุดวรรณกรรมเด็กและเยาวชนนานาชาติ ห้องสมุดประวัติศาสตร์และวิวัฒน์หนังสือไทย ศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ และหอจดหมายเหตุศูนย์ภูมิปัญญากรุงเทพฯ รวมถึงส่วนไฮไลต์ คือ หอเกียรติยศ หรือ "Hall of Fame" ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ขออนุญาตนำผลงานวรรณกรรมทรงคุณค่าของนักเขียนมารวบรวมไว้ด้วยกัน โดยหอสมุดเมืองจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และให้บริการฟรีแก่ประชาชนทุกคนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการอ่านมากขึ้น

โดยในการเสวนาครั้งนี้นักเขียนและผู้ที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรม ทั้งผู้ที่เป็นวิทยากรและผู้ที่ร่วมฟังการเสวนา ได้ร่วมแสดงทรรศนะความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการหอสมุดเมืองกันอย่างหลากหลาย อาทิ อาจารย์เนาวรัตน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทุกวันนี้คนไม่ค่อยเข้าห้องสมุดเพราะห้องสมุดส่วนใหญ่ขาดชีวิตชีวา จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ กทม.มีโครงการหอสมุดเมืองซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างและน่าสนใจ โดยส่วนตัวขอเสนอให้มีการนำภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายหรือวรรณกรรมมาฉายในหอสมุดเมืองเพื่อให้กิจกรรมการอ่านมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

กวีคนดังยังเปิดเผยด้วยว่าเมื่อเร็วๆนี้ คุณสุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๓๑ เจ้าของนามปากกา "กฤษณา อโศกสิน" ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการจัดตั้ง "สถาบันวรรณกรรมแห่งชาติ" ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องและส่งต่อให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณา จึงอยากขอให้หอสมุดเมืองเป็นที่ทำการชั่วคราวของสถาบันวรรณกรรมแห่งชาติ ซึ่งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ก็ได้ตอบรับในหลักการที่จะให้ความสนับสนุน

ขณะที่ คุณ บูรพา แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อโลกการสื่อสารเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรทำให้หอสมุดเมืองและเทคโนโลยีไปด้วยกันได้เพื่อให้เป็นหอสมุดที่มีชีวิตชีวาและสอดรับกับวิถีชีวิตของคนเมืองและเยาวชนในปัจจุบัน

คุณสุชาดา กล่าวเสริมว่า ควรนำเทคโนโลยีมาใช้กับหอสมุดเมือง เช่น มีระบบคีย์การ์ดบันทึกข้อมูลการใช้บริการ รวมถึงเสนอให้มีเรื่องราวของนักวาดภาพประกอบอยู่ในหอเกียรติยศด้วย

ด้าน รศ. ทวีศักดิ์ แสดงความเห็นว่า ควรจะมีห้องหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ของไทยและพระบรมวงศานุวงศ์มาบรรจุไว้ด้วย เนื่องจากทุกพระองค์ล้วนทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างมากดร ถนอมวงศ์ เสนอว่า ควรจะมีหนังสือแปลดีๆจากประเทศต่างๆซึ่งนอกจากจะทำให้หอสมุดเมืองเป็นหอสมุดระดับสากลแล้ว หนังสือเหล่านี้ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ให้แก่ผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัย ด้วย

ส่วน อาจารย์ ชมัยภร เน้นย้ำว่า บุคลากรประจำหอสมุดเมืองมีความสำคัญมาก จึงต้องคัดเลือกคนที่มีความเข้าใจทุกบทบาทและกิจกรรมของหอสมุดเมือง

ทั้งนี้ ทั้งวงเสวนาล้วนเห็นตรงกันว่า หลังดำเนินการแล้วเสร็จ"หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร" ควรจะต้องมีกิจกรรมน่าสนใจสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ที่จัดขึ้นเป็นประจำ และในที่สุดก็จะกลายเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งของกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่แท้จริงของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย