นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 7 จังหวัด รวม 19 อำเภอ ได้แก่ ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี อุบลราชธานี กำแพงเพชร ปทุมธานี และนครสวรรค์ โดยระยอง ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง และอำเภอแกลง นครนายกน้ำจากแม่น้ำนครนายกล้นตลิ่งในพื้นที่ 2 อำเภอ 2 ตำบล 10 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอบ้านนา และอำเภอองครักษ์ บ้านเรือนได้รับผลกระทบประมาณ 120 หลังคาเรือน ปราจีนบุรี น้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ 15 ตำบล 2 เทศบาล 40 หมู่บ้าน 5 ชุมชน ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอบ้านสร้าง ประชาชนได้รับผลกระทบ 469 ครัวเรือน อุบลราชธานี น้ำในแม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนวังแดง อำเภอเมืองอุบลราชธานี กำแพงเพชร น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ 19 ตำบล ได้แก่ อำเภอขาณุวรลักษณบุรี อำเภอพรานกระต่าย อำเภอคลองลาน อำเภอบึงสามัคคี อำเภอปางศิลาทอง และอำเภอเมืองกำแพงเพชรปทุมธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอลำลูกกา นครสวรรค์ น้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ อำเภอลาดยาว และอำเภอบรรพตพิสัย ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร สถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมทั้ง 7 จังหวัด ระดับน้ำเริ่มลดลง คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่ม จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 – 2 วัน ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยออกปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังพร้อมเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีฝนลดลง ขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนาแน่นและฝนตกหนักบางแห่ง ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดดังกล่าวเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภาวะฝนตกหนักและปริมาณฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงได้กำชับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัยสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนโดยเคร่งครัด ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th