นายจิม ยอง คิม (Mr. Jim Yong Kim) ประธานธนาคารโลก กล่าวว่าท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และความผันผวนของระบบการเงินโลก ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องดำเนินการอย่างน้อยสามประการเพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่เป้าหมายในการลดความยากจนได้อย่างยั่งยืน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Economic Growth) ซึ่งถือเป็นทางออกของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังยืน การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านทางการศึกษาและระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะการให้โอกาสทางเศรษฐกิจกับผู้หญิงเนื่องจากเป็นกลุ่มที่เมื่อมีรายได้แล้วจะนำไปลงทุนด้านการศึกษาและสุขภาพของครอบครัว และการประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) ด้วยการร่วมมือกันในการลดภาวะโลกร้อนเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป
ขณะที่นางคริสทีน ลาการ์ด (Ms. Christine Lagarde) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวถึงสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงโครงสร้างประชากร ที่เปลี่ยนไป ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย สำหรับ IMF เองก็ต้องการ การปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านความคล่องตัวในการให้ความช่วยเหลือ (Agility) การให้คำปรึกษาแบบองค์รวม (Integration) และการตอบสนองความต้องการของสมาชิกให้มากขึ้น (Member-Focused)
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังยังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนาย Kiyoshi Kodera รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เกี่ยวกับโครงการทวาย การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ JICA อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้และการให้บริการขนส่งสินค้าทางราง รวมทั้งการสนับสนุนเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงในระยะต่อไปด้วย
ต่อมา ในวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการธนาคารโลก ครั้งที่ 92 ที่ประชุมเห็นด้วยถึงความจำเป็นที่สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks: MDBs) จะต้องเร่งดำเนินการแสวงหาแนวทางเพื่อให้มีทรัพยากรทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่เพียงพอสำหรับตอบสนองต่อความต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนโครงสร้างการถือหุ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือเพื่อปฏิรูปนโยบายการคลังเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้จากภาษีให้สูงขึ้น การนำทรัพยากรทางการเงินของภาคเอกชนเข้ามาร่วมในโครงการพัฒนาต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้คือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม (climate financing) เป็นต้น
ขณะที่นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นเจ้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (to take ownership of SDGs) ขณะเดียวกัน ธุรกิจเอกชนก็ควรนำเป้าหมายการพัฒนาเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้จะนำไปสู่ความเท่าเทียมและลดปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง (no one is left behind)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3607
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit