ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทุกโครงการ บริหารจัดการน้ำท่าที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการผันน้ำท่าที่เหลือไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ยังสามารถเก็บน้ำได้ เพื่อเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ให้ได้นานที่สุด
นายธีรภัทร กล่าวเพิ่มเติมถึงการขับเคลื่อนมาตรการบรรเทาผลกระทบภัยแล้งตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบใน 8 มาตรการแล้วนั้น ในของมาตรการการจ้างงาน โดยการจ้างแรงงานชลประทาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยจะเริ่มรายงานครั้งแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2558 สำหรับมาตรการอื่น ๆ อยู่ระหว่างส่วนราชการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ นอกจากนั้น ได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด ลงพื้นที่ชี้แจงสถานการณ์ผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 9 - 22 ตุลาคม 2558 เกษตรกรเป้าหมาย 195,311 ราย มีเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังแล้ว 23,637 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของเป้าหมาย
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2558 ในเขตชลประทานทั้งประเทศ (ณ วันที่ 9 ต.ค. 58) มีการเพาะปลูกแล้ว 14.16 ล้านไร่ จากแผน 15.78 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 89 มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 22,263 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 5.29 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่นาปีต่อเนื่องจำนวน 1.23 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกแล้ว 6.27 ล้านไร่จากแผน 7.45 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูก 1.18 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 21,644 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 4.47 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 5.54 ล้านไร่ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 69,486 ไร่ และมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 1.49 ล้านไร่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit