ดร.นครินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า เทคโนโลยีที่หลายคนรู้จักและเคยสัมผัสมา นั่นก็คือ "E – Learning" (อีเลิร์นนิ่ง) ซึ่ง E เป็นตัวแทนของเทคโนโลยี ส่วน Learning นั้น หมายถึงการเรียน ดังนั้นคำว่า อีเลิร์นนิ่ง จึงหมายถึงการเรียนโดยใช้เทคโนโลยี เหตุผลสำคัญที่อีเลิร์นนิ่งถูกนำมาใช้ในสถาบันการศึกษาด้วยวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ประการแรก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการศึกษา เนื่องจากสามารถลดข้อจำกัดทางการเรียนในเรื่องวันเวลาสถานที่ เกิดความยืดหยุ่นทางการศึกษา เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ สามารถเปิดอ่านทบทวนซ้ำๆ ได้ตามต้องการ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย อันจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในลักษณะที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนมีบทบาทในการเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ประการที่สอง หากพิจารณาในเชิงเศรษฐศาสตร์ต่อมุมมองของสถาบันการศึกษาที่ใช้อีเลิร์นนิ่ง นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนแล้ว ยังลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของสถาบันการศึกษาอีกด้วย เช่น การจ้างครูอาจารย์ที่เพิ่มขึ้น การขยายตึก
"เทคโนโลยีอย่างอีเลิร์นนิ่ง จะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย หากผู้ใช้ (End User) ไม่สนใจ ไม่ใช้งาน กล่าวคือ ถ้าสถาบันการศึกษามีระบบอีเลิร์นนิ่ง แต่นักเรียนนักศึกษาไม่ได้ใช้งานหรือใช้งานอย่างเต็มที่ ประโยชน์ดังกล่าวที่ผู้เรียนเอง รวมถึงสถาบันการศึกษาที่ควรจะได้รับจากระบบก็ไม่เต็มที่ หรือเกิดประสิทธิภาพน้อย ทำให้เกิดความเสี่ยงในด้านการลงทุน" ดร.นครินทร์ กล่าว
จึงได้ศึกษาวิจัยและสร้างโมเดลเพื่อช่วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากอีเลิร์นนิ่ง ทั้งผู้บริหาร นักพัฒนาระบบ โปรแกรมเมอร์ รวมถึงครูอาจารย์ ให้เข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้นักศึกษาที่ไม่เคยใช้ หันมาใช้ระบบ และคนที่เคยใช้แล้ว ให้ใช้ต่อไป เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนระบบอีเลิร์นนิ่งในสถาบันการศึกษา
ดร.นครินทร์ กล่าวว่า การสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาใช้ระบบอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งนักลงทุน ก็คือสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย และนักวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมากจะให้ความสำคัญเพียงแค่ E ซึ่งก็คือเทคโนโลยี เพียงอย่างเดียว นักลงทุนจะมุ่งซื้อระบบที่ใหม่และทันสมัย และลงทุนในเรื่องปัจจัยพื้นฐานเพื่อการใช้งานระบบ เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ส่วนนักวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จะมุ่งพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพสูงและใช้งานง่าย ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้มีผลต่อการตัดสินใจใช้ระบบของนักศึกษาแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย การให้ความสำคัญแค่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่พอ เราควรให้ความสำคัญในเรื่อง Learning (การเรียน) หรือการสร้างแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มเติมด้วย โดยต้องเข้าใจว่าพวกเขาอยากเรียนอะไร มีความรู้พื้นฐานในรายวิชานั้นมากน้อยเพียงไร และมีวิธีการเรียนแบบใด
"จากผลการวิจัยเกี่ยวกับอีเลิร์นนิ่ง เรื่อง A model of E-Learning uptake and continuance in higher education institutions พบว่า นอกจากเรื่องราวเทคโนโลยี ทั้งในส่วนของระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานง่าย และมีความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับแรงจูงใจในการเรียนก็มีผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหาความรู้ (Content) เช่น เนื้อหาตรงกับสิ่งที่ผู้เรียนอยากเรียน ตรงกับความรู้พื้นฐานของผู้เรียนในอดีต และมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ตรงกับวิธีการเรียน เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องการจากระบบ"
"การนำระบบอีเลิร์นนิ่งมาใช้ในวงการการศึกษานั้น มีความเหมาะสมกับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 จากหนังสือ 21st Century Skills : Learning for Life in Our Times ระบุลักษณะ 8 ประการของเด็กในศตวรรษที่ 21 ซึ่งข้อแรกที่ชัดเจนและเด่นที่สุดของเด็กในยุคนี้ นั่นคือ เรื่องของความเป็นอิสระที่จะเลือกในสิ่งที่ตนสนใจและเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้น อีเลิร์นนิ่ง คือ หนึ่งในคำตอบของการเรียนรู้สำหรับเด็กในยุคนี้ แม้หลายคนจะเจอรูปแบบอีเลิร์นนิ่งเดิมๆ ที่มีความเบื่อหน่ายมาก่อน แต่ในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นการสร้างอีเลิร์นนิ่งที่ใช้สื่อผสมมัลติมีเดีย เพื่อสร้างความน่าสนใจ สร้างการจดจำและเสริมความเข้าใจได้ดี และมีลักษณะเป็นการสื่อสารแบบสองทางมากขึ้น อย่างไรก็ดีเนื้อหาในระบบก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยี" ดร.นครินทร์ สรุปทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit