มาสเตอร์โพล (Master Poll) ผลวิจัยพบ รัฐทุ่มงบ 1,400 ล้านแก้ปัญหาค้ามนุษย์แต่ยังขาดองค์กรกลางขับเคลื่อนทั้งระบบทำให้เหยื่อค้ามนุษย์ไร้ทิศทางเข้าพึ่งหน่วยงานรัฐ เสนอโครงสร้างสำนักงาน ป.ป.ม.

08 Oct 2015
ผลวิจัยพบ รัฐทุ่มงบ 1,400 ล้านแก้ปัญหาค้ามนุษย์แต่ยังขาดองค์กรกลางขับเคลื่อนทั้งระบบทำให้เหยื่อค้ามนุษย์ไร้ทิศทางเข้าพึ่งหน่วยงานรัฐ เสนอโครงสร้างสำนักงาน ป.ป.ม. มียุทธศาสตร์เป็นหนึ่งที่พึ่งประชาชน แนะส่งอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านป้องกันและปราบปรามค้ามนุษย์ประจำกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและวอชิงตัน ดีซี ปกป้องผลประโยชน์ชาติหลายแสนล้านบาทและรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนแผ่นดินไทย พร้อมแนะตั้งกองทุนต่อต้านค้ามนุษย์ที่ยั่งยืน หนุนความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีตัดวงจรค้ามนุษย์ให้สิ้น

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชนมาสเตอร์โพล(Master Poll)ร่วมกับทีมวิชาการด้านยุทธศาสตร์เปิดเผยผลวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)เสนอแนวทางต่อต้านค้ามนุษย์ต่อยอดงานวิจัยที่เคยทำมาพบว่า สาเหตุไทยถูกจัดอันดับค้ามนุษย์ตกเทียร์ 3 ซ้ำเพราะองค์การระหว่างประเทศไม่เชื่อมั่นกลไกรัฐแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของไทยว่าจะยั่งยืน โดยผลการศึกษาพบด้วยว่า รัฐจัดสรรงบประมาณเพิ่มจาก 200 กว่าล้านบาทในปีที่แล้วเป็น 1,400 ล้านบาทในปีนี้ กระจายไปกระทรวงต่างๆ ที่มีการทำตามตัวชี้วัดแต่ไม่ตอบโจทย์ตรงเหยื่อค้ามนุษย์ทั้งที่เม็ดเงินจำนวนนี้มากพอจะตั้งองค์กรถาวรได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรพิจารณาตั้งองค์กรถาวรต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ขึ้นปกป้องผลประโยชน์ชาติ 4 – 5 แสนล้านบาทและรักษามูลค่าภาพลักษณ์ของประเทศอีกมหาศาล

ดร.นพดล กล่าวว่า การตั้งองค์กรถาวรต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะแสดงถึงความพยายามของภาครัฐในการปกป้องผลประโยชน์ชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนบนแผ่นดินไทย โดยเสนอมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือ ป.ป.ม.ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้เป็นหนึ่งที่พึ่งของประชาชน สางปัญหาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางพร้อมตั้งกองทุนต่อต้านค้ามนุษย์ที่ยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อกลไกรัฐขจัดค้ามนุษย์ คณะวิจัยมั่นใจว่าประเทศไทยบอกลาเทียร์ 3 ได้แน่ตามความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก้าวสู่ผู้นำอาเซียนต่อต้านค้ามนุษย์โดยช่วยเหลือเหยื่อได้แบบเบ็ดเสร็จในที่เดียวภายใต้โครงสร้างของ ป.ป.ม. มีการแต่งตั้งอัครราชทูตที่ปรึกษาต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์ในกลุ่มประเทศ CLMMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย เวียดนาม และที่วอชิงตัน ดีซี

"นอกจากนี้สาเหตุเพิ่มเติมที่ทำไทยตกเทียร์ 3 ซ้ำคือ ช่วงเวลาทำข้อมูลรายงานใน TIP Report ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้ปลายปีที่แล้ว และข้อมูลการค้ามนุษย์ของไทยกระจายอยู่หลายหน่วยงาน โดยเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ก็ไร้ทิศทางที่เป็นเอกภาพเข้าพึ่งพาขอความช่วยเหลือแตกแยกออกไปตามหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) กระทรวงแรงงาน (รง) กระทรวงการต่างประเทศ (กต) กระทรวงยุติธรรม (ยธ) ตำรวจ ดีเอสไอ มหาดไทย (มท)สำนักข่าว และมูลนิธิ NGO ต่างๆ ที่ต่างฝ่ายต่างมีแนวทางทำงานและใช้ดุลพินิจที่เป็นอิสระตามกฎหมายและข้อพิจารณาที่หน่วยของตนถือเป็นแนวทางอยู่" ดร.นพดล กล่าวดร.นพดล กล่าวต่อว่า กฎหมายมากกว่า 25 ฉบับ ในขณะที่มีผู้จะตกเป็นเหยื่อหลายสิบล้านคนแต่มีสถิติพบเหยื่อในรายงานทางราชการเพียงหลักร้อยคน และยังไม่มีบทบัญญัติการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ในกฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต่างใช้ดุลพินิจและอ้างข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกัน เช่น พม.บอกว่าเป็นเหยื่อแต่ตำรวจบอกไม่ใช่ บางราย พม.บอกว่าไม่ใช่แต่ NGO บอกว่าใช่ ทั้งที่องค์การระหว่างประเทศระบุชัดว่า แม้แต่ผู้สมัครใจก็ถือว่าเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นมีการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่แต่หลังอบรมต่างกลับไปปฏิบัติภารกิจต้นสังกัดมีเจ้าหน้าที่เหลือทำคดีค้ามนุษย์จริงไม่ถึงครึ่ง

ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ กล่าวต่อด้วยว่า ภารกิจของรัฐแก้ปัญหาค้ามนุษย์ถูกแบ่งออกเป็น 6 ภารกิจหลักกระจายไปตามกระทรวงต่างๆ ได้แก่ งานนโยบายเป็นของ พม. งานดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมายเป็นของ ยธ. และตำรวจ งานคุ้มครองช่วยเหลือเป็นของ พม. งานป้องกันเป็นของ รง. งานต่างประเทศเป็นของกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้และงานปราบปรามทุจริตเป็นของ ปปช.และ ปปท. จะเห็นว่าการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะเช่นนี้ขาดองค์กรกลางจึงตอกย้ำว่าเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์จะเกิดความสับสนในการเข้าถึงพึ่งพาหน่วยงานรัฐที่กระจายกัน ส่งผลให้แต่ละส่วนราชการมีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์แนวเดิม ดังนั้น เพื่อต่อต้านขบวนการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืนจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์แนวใหม่เป็นภาพใหญ่และไม่ขัดแย้งกันเอง ด้วยการตั้งองค์กรถาวรตามโครงสร้างดังภาพ

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน โทร. 086 – 971-7890 www.masterpoll.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit