เอคเซนเชอร์เผยผลสำรวจล่าสุดพบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) เล็งเห็นคุณค่าของโมบายล์แอพพลิเคชั่นว่ามีประโยชน์ต่อธุรกิจ แต่มีธุรกิจส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความพร้อมในการวางแผนการใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นให้เกิดผลสูงสุด รวมทั้งทำให้มีการใช้งานต่อเนื่อง
รายงานของเอคเซนเชอร์เรื่อง "Growing the Digital Business: Spotlight on Mobile Apps" ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินใจเกือบ 2,000 คนใน 15 ประเทศ พบว่าในช่วงการออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นนั้น มีเพียงร้อยละ 52 ของผู้บริหารที่เผยว่าได้นำความคิดเห็นของผู้ใช้งานผนวกเข้าไปในช่วงทดสอบด้วย และเพียงร้อยละ 48 ที่มีการรายงานการใช้งานหรือมีระบบ อนาลิติกส์เข้ามาช่วยให้เข้าใจถึงจุดบกพร่องและความไม่พอใจของผู้ใช้ในระหว่างใช้งาน
"องค์กรธุรกิจไม่ได้ติดตามเรื่องแอพพลิเคชั่นอย่างใกล้ชิดเท่าไร ผู้ตอบแบบสอบถาม 9 ใน 10 คนบอกว่า ลูกค้ามีความต้องการอยากได้แอพพลิเคชั่นที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ครึ่งหนึ่งของผู้บริหารกลับรู้สึกว่า โมบายล์แอพพลิเคชั่นยังไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ดีนัก และมีถึงร้อยละ 45 ที่มีปัญหาระบบรายงานข้อมูลล่ม ทั้งนี้ การใช้แอพพลิเคชั่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต้องอาศัยการทดสอบอย่างเข้มข้นก่อนเปิดให้บริการ และบริหารจัดการในช่วงหลังเปิดใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ดีเยี่ยมในการใช้แอพพลิเคชั่น แต่ยังทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถจัดการกับประเด็นปัญหาด้านความปลอดภัยได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อเนื่อง" นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว
"เราพบว่ามีบริษัทมากมายหลายแห่งที่ละเลย ไม่ปรับปรุงแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเสี่ยงที่จะลงทุนไปโดยเปล่าประโยชน์" นนทวัฒน์กล่าว
การจัดการแอพพลิเคชั่นให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนของวัฏจักร จะช่วยป้องกันไม่ให้แอพพลิเคชั่นด้อยประสิทธิภาพลง ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้ไม่พอใจ มีประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือทำให้ความปลอดภัยหละหลวม
· ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (ร้อยละ 49) ระบุว่า ความปลอดภัยคือประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในการบริหารและพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น
· ประเด็นสำคัญรองลงมาจากเรื่องความปลอดภัยคือ ประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาบั๊กและระบบล่ม (ร้อยละ 37) เป็นต้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบ (ร้อยละ 55) ได้ใช้เครื่องมือแทร็คกิ้งและโปรแกรมจัดการบั๊กเพื่อแก้ปัญหา
ผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินใจต่างคาดหวังว่า แอพพลิเคชั่นขององค์กรจะมีบทบาทในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ ซึ่งการสำรวจนี้พบว่า:
· ร้อยละ 82 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่าแอพพลิเคชั่นเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
· ร้อยละ 85 เชื่อว่าแอพพลิเคชั่นจะกลายเป็นอินเตอร์เฟซสำหรับผู้ใช้ที่โดดเด่นในอนาคต
· ผู้ตอบสัดส่วนเกือบ 9 ใน 10 เชื่อว่า แอพพลิเคชั่นจะกลายเป็นพอร์ทัลสำหรับธุรกิจดิจิทัล (ร้อยละ 87)
ทั้งนี้ ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่ถึงครึ่งเปิดเผยว่า มีการใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ มีเพียงร้อยละ 46 ที่บอกว่าใช้แอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพ ร้อยละ 44 ใช้แอพพลิเคชั่นเป็นช่องทางขาย ให้บริการลูกค้า และให้ข้อมูล สำหรับแอพพลิเคชั่นอื่นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กร เช่น แอพพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ทางโมบายล์ และแอพพลิเคชั่นที่ทำงานร่วมกันกับโปรแกรมอื่นนั้น ธุรกิจมีการใช้เพียงร้อยละ 35 แม้ว่าอีกร้อยละ 38 ของผู้ตอบจะยังไม่ได้ใช้แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ในปัจจุบัน แต่ก็มีแผนจะใช้ในช่วงสองปีข้างหน้า
"แอพพลิเคชั่นมีความสำคัญมากขึ้นในการเข้าถึงข้อมูลธุรกิจ เพื่อให้การตัดสินใจทำได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเพื่อบริหารงานในภาคอุตสาหกรรม การทำงานร่วมกันของพนักงาน โปรแกรมฝึกอบรม หรือเพื่อสร้างประสบการณ์สำหรับลูกค้า ดังนั้น ประสบการณ์ของผู้ใช้และความสมรรถนะของแอพพลิเคชั่นจึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย งานวิจัยของเอคเซนเชอร์เผยให้เห็นว่า ผู้นำธุรกิจจะต้องรุกให้ทันเกมในการจัดการแอพพลิเคชั่น เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ลงทุนไปนั้นคุ้มค่าที่สุด" นนทวัฒน์กล่าวสรุป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit