Movie Guide: Interview in Press Conference “The Little Prince เจ้าชายน้อย”

09 Oct 2015
มาร์ค ออสบอร์น (Mark Osborne - Director), แมคเคนซี่ ฟอย (Mackenzie Foy - The Little Girl), คามิลล์ เซลลุกชี (Camille Cellucci – Line Producer) และ ดีมิทรี รัซซาม (Dimitri Rassam – Producer)

ถามมาร์ค ออสบอร์นว่าหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อยมีความสำคัญต่อคุณอย่างไร และวิสัยทัศน์ในการทำหนังเรื่องนี้

ออสบอร์น: ตอนแรกผมคิดว่าหนังสือเรื่องนี้มันยากมากที่จะทำออกมาเป็นหนัง หนังสือเรื่องนี้มีความสำคัญต่อผมมาก เพราะผมจำได้ว่าภรรยาผมมอบให้เป็นของขวัญตอนเรียนมหาวิทยาลัยด้วย ผมติดใจทุกอักษร ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏบนหน้ากระดาษ หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผมและใครหลายๆคนที่ได้อ่าน เมื่อผมจะทำหนังเรื่องนี้ ผมจึงตัดสินใจสร้างเรื่องราวใหม่รอบๆตัวหนังสือ แล้วรักษาตัวหนังสือต้นฉบับไว้เพื่อเป็นการเคารพต้นฉบับ โดยเป้าหมายผู้ชมของหนังเรื่องนี้มีสองกลุ่มคือ คนอ่านหนังสือมาแล้วหรือคนรักหนังสือ และคนที่ยังไม่เคยอ่านหนังสือซึ่งหนังเรื่องนี้แหละจะทำให้พวกเขาได้ริเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น

ตอนทำอนิเมชั่นเรื่องนี้ คุณใช้เทคนิคหลากหลายมาผสมผสานกัน แล้วจุดไหนที่ท้าทายมากที่สุด

ออสบอร์น: ในการทำหนังเรื่องนี้ ผมใช้เทคนิคสองส่วนมาผสมผสานก็คือคอมพิวเตอร์กราฟฟิก มาถ่ายทอดโลกแห่งความจริงที่ผมสร้างขึ้นมาใหม่รอบๆหนังสือ และสต็อปโมชั่นที่ถ่ายทอดโลกของหนังสือและสะท้อนถึงความทรงจำของวัยเด็ก โลกแห่งจินตนาการแบบที่ อองตวน เดอ แซงเตก ซูเปรี ถ่ายทอดในหนังสือ ซึ่งส่วนของสต็อปโมชั่นถือเป็นงานท้าทายมากที่สุด แล้วผลออกมาดูตื่นตะลึง ให้ความรู้สึกว่าทุกอย่างที่ปรากฏบนกระดาษหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อยมีชีวิตโลดแล่นขึ้นมา

ในการสร้างเรื่อราวใหม่รอบๆหนังสือซึ่งก็คือโลกแห่งความจริง คุณสร้างเรื่องราวมิตรภาพระหว่างเด็กหญิงและลุงนักบินออกมาอย่างไร

ออสบอร์น: เมื่อผมอ่านหนังสือ ผมตีความว่านักบินคนนั้นคือตัวนักเขียน แม้จริงๆแล้วนักเขียนเองไม่ได้อ่านหนังสือของตนเองเลยหลังจากได้ตีพิมพ์ ส่วนลุงนักบินคนนั้นอาจจะเป็นเจ้าชายน้อย และการวางตัวเด็กหญิงคนนั้น ผมวางตัวละครว่าเธอเป็นผู้ใหญ่ในร่างเด็ก 9 ขวบ แล้วกำลังเผชิญวิกฤตวัยกลางคน เธอต้องการเพื่อน แล้วลุงนักบินคนนั้นก็กลายเป็นเพื่อนรู้ใจ อีกทั้งเขาเป็นตัวแทนของพ่อ ตัวแทนของปู่ และผู้เปิดโลกจินตนาการให้เด็กหญิงรับรู้

แล้วการสร้างตัวละครคุณแม่ในโลกแห่งความจริง

ออสบอร์น: ผมอยากให้ตัวละครคุณแม่เป็นการสื่อถึงโลกที่มีวิวัฒนาการแบบไม่สมประกอบ ทุกอย่างดูสุดโต่งเกินไปไร้ความสมดุล แม้จะทำเพื่อปกป้องลูก แต่กลายเป็นการปิดกั้นเธอ

ดีมิทรี รัซซาม: ลักษณะของแม่ก็จะสะท้อนความจริงของครอบครัวในยุคปัจจุบันซึ่งเราเข้าใจว่าเธอทำเพราะความรัก ขณะเดียวกันเธอก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันในตัว

ความกดดันในการดัดแปลงหนังสือเป็นหนังอยู่ที่ตัวภาษา เนื้อหาในหนังสือหรือเปล่า

รัซซาม: ผมคิดว่าความกดดันในการทำหนังคือการที่หนังสือได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก เมื่อมีการประกาศสร้างหนัง ก็มีคำครหาว่าหนังสือเรื่องนี้ไม่จำเป็นนำมาทำเป็นหนัง

ออสบอร์น: ความท้าทายในการทำหนังเรื่องนี้คือการรักษาน้ำหนักของเรื่องราวทั้งโลกของเด็กหญิงและโลกในหนังสือให้สมดุลกัน ความคาดหวังจากคนที่อ่านหนังสือมาแล้วก็เช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจสร้างเรื่องราวใหม่ (โลกของเด็กหญิงกับลุงนักบิน) รอบๆหนังสือ ส่วนตัวหนังสือเอง เราก็ดึงความประทับใจทั้งตัวละครและข้อความมาถ่ายทอดเป็นรูปธรรม

บรรยายลักษณะของตัวละครเด็กหญิง

แมคเคนซี่ ฟอย: เมื่อฉันอ่านบทฉันค่อนข้างหลงรักตัวละครนี้ เธอเป็นเด็กที่มีคุณแม่เตรียมการให้หมดทุกอย่าง ซึ่งกลับกลายเป็นปัญหาครั้งใหญ่ จนกระทั่งนักบินข้างบ้านก็ทำให้เธอเรียนรู้ที่จะจินตนาการ

ได้ยินมาว่าภรรยาของมาร์คเป็นแฟนตัวยงของหนังสือ เมื่อมีการสร้างหนัง เธอมีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้หรือเปล่า

ออสบอร์น: ผมนำเสนอผลงานที่ร่างคร่าวๆ อย่างพวกสตอรี่บอร์ดให้เธอดู และก่อนจะคัดเลือกนักแสดง เธอ ลูกชาย (ไรลีย์) และผมก็ทดลองพากย์ เธอพากย์เป็นคุณแม่ ลูกชายพากย์เป็นเจ้าชายน้อยซึ่งภายหลังเขาก็ได้พากย์อย่างเป็นทางการ และผมพากย์เป็นนักบิน เมื่อหนังเสร็จสมบูรณ์ ผมอยากให้เธอได้ดูเพื่อเป็นการขอบคุณอย่างสูงที่เธอมอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมและเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตได้มากมายมหาศาล ที่สำคัญเธอคอยสนับสนุนผมมาตลอดทั้งชีวิต

https://www.youtube.com/watch?v=tW4Ye_2BbkM

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit