ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า โครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประเภทงานวิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจพัฒนาจนถึงขั้นประกอบธุรกิจได้จริง และเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเชิงนวัตกรรมซึ่งต้องสนับสนุนเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง
"สำหรับปีนี้ ถือว่าเป็นครั้งที่ 15 แล้ว โดยได้รับการตอบรับจากเยาวชนส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก โดยมีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด รวมทั้งสิ้นจำนวน 80 ผลงาน แบ่งเป็น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 47 ผลงาน และสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จำนวน 33 ผลงาน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จตามคาดหวังไว้ และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของเยาวชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีของประเทศไทย ที่ยังต้องการการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหากมีการตอบรับ และตื่นตัวจากเยาวชน การพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศจะประสบความสำเร็จ และสัมฤทธิ์ผลได้ไม่ยาก" ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ กล่าว
ด้านตัวแทนเยาวชนคนเก่งที่ผลงานเข้ารอบระดับประเทศ นางสาววิรยา พินธุรักษ์ นักศึกษาชั้น ปวส.ปีที่ 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสัมมาสิกขาศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ กับผลงาน "ปุ๋ยชีวภาพชนิดแคปซูลความเข้มข้นสูง" ซึ่งประกวดในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. กล่าวว่า ผลงานดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย Bacillus circulans. ให้ได้ปริมาณมากพอที่จะนำไปผลิตปุ๋ยชีวภาพชนิดแคปซูลเข้มข้นสูง ที่มีอัตราการใช้น้อย แค่ 2 แคปซูลต่อไร่ ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ไม่ต้องแบกปุ๋ยให้หนักและเหนื่อยแรง โดยการทดลองในครั้งนี้มีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ผลการทดลองปรากฏว่าสามารถคัดแยกเชื้อ Bacillus circulans. ได้บริสุทธิ์ และขยายได้ในปริมาณมากพอ โดยมีเชื้อไม่น้อยกว่า 4.5 x 106 เซลล์ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งมากพอในการนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพชนิดแคปซูล และมีผลต่อจำนวนผลผลิตที่สามารถให้จำนวนเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ส่วนตัวแทนในสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. นายธนพล พัวศิริ หรือ น้องชิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ตัวแทนทีมจากโรงเรียนอุโมงค์วิทยาคม จ.ลำพูน กับผลงานที่มีชื่อว่า "วงล้อออกกำลังกายและผลิตพลังงาน" กล่าวว่า วงล้อออกำลังกายและผลิตพลังงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและสร้างเครื่องออกกำลังกายแบบต้นทุนต่ำ เพื่อใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมารวมกับเครื่องมือออกกำลังกาย และเพื่อสร้างเครื่องออกกำลังกายที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพร้อมกับการออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน
"เครื่องออกกำลังกายชนิดนี้นอกจากสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้ว ยังสามารถลดน้ำหนักได้ เฉลี่ย 1 กิโลกรัม ต่อการวิ่ง 100 รอบเป็นต้น ซึ่งผลจากการทดลองทำให้สรุปได้ว่า วงล้อออกกำลังกายและผลิตงาน สามารถเผาผลาญได้จริง ลดน้ำหนักได้จริง และปรับค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้" นายธนพล กล่าว
ปิดท้ายกับอีกหนึ่งผลงาน ที่มีชื่อว่า "เครื่องออกกำลังกายผู้สูงอายุ" สาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. โดย นายธีรพล พักสวัสดิ์ นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 2 ตัวแทนทีมจากวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี กล่าวว่า ทีมคณะผู้วิจัยได้นำขั้นตอนแรงจูงใจของ Resnick (2002) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเครื่องออกกำลังกายผู้สูงอายุ เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบัน ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะออกกำลังกายลดลง ความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างจะแออัด จึงขาดอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อออกแบบเครื่องออกกำลังกายของผู้สูงอายุ เพื่อเปรียบเทียบสมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุระหว่างสมรรถภาพก่อนเริ่ม – หลังทดลอง และเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุก่อนเริ่ม – หลังทดลอง โดยจากการดำเนินการทดลองโดยเครื่องดังกล่าว สมรรถภาพทางกายของกลุ่มทดลองในด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความอ่อนตัว ที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ครั้งที่ 15 จะประกาศผลรางวัลในงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ที่จะถึงนี้ โดยรางวัลชนะเลิศระดับ ปริญญาตรีหรือ ปวส. แต่ละสาขา จะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท และโอกาสศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์
ส่วนรางวัลที่ 2 และ 3 จะได้รับ โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา 30,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ สำหรับสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกาย และกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. รางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาทและได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ส่วนรางวัลที่ 2 และ 3 จะได้รับ โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา 15,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ
เห็นผลงานจากความคิดของเด็กไทยกันแล้ว น่าชื่นใจว่าเยาวชนไทยก็มีแนวคิดและความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในโลก ซึ่งเราเชื่อว่าหากได้รับการพัฒนาผลงาน และมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ ผลงานของเด็กไทยเราอาจไปผงาดในวงการนวัตกรรมโลกได้ไม่ยาก